ความท้าทาย "เศรษฐกิจไทย"

ความท้าทาย "เศรษฐกิจไทย"

ธนาคารโลก คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.1% ส่วนปี 2566 ขยายตัวได้ 4.3% และปี 2567 ขยายตัวได้ 3.9% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมองว่าจะกลับไปสู่ระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยเดิมที่ 2%

ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจที่ส่งผลกระทบไปทั่วโลกกลายเป็น “ความเสี่ยง” ครั้งสำคัญที่ภาคธุรกิจหนีไม่พ้น หากต้องหาแนวทางตั้งรับ หาโซลูชั่นใหม่ กรอบแนวคิดใหม่ ดันองค์กรธุรกิจให้เดินหน้าต่อได้ พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดงานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 ในหัวข้อ เศรษฐกิจไทย...ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจโลก มีนักธุรกิจชั้นนำ นักเศรษฐศาสตร์​ผู้เชี่ยวชาญ ร่วมนำเสนอทางออก ส่วนใหญ่ นักเศรษฐศาสตร์มองความท้าทายเศรษฐกิจโลกและไทยมีสูงขึ้น และแสดงความเป็นห่วงว่าวิกฤติครั้งนี้ จะเริ่มลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจอย่างจริงจัง หลังเริ่มเห็นสัญญาณผ่านตัวเลขการส่งออกที่เริ่มชะลอตัว

ปี 2023 ถือเป็นปีที่ท้าทายของเศรษฐกิจโลก เพราะมีความเสี่ยงสูงที่เศรษฐกิจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) และมีโอกาสสูงที่ผลกระทบจะเริ่มลามเข้าสู่ภาคเศรษฐกิจในไทยอย่างเห็นได้ชัดมากขึ้น ทั้งการส่งออก การจ้างงาน ที่วันนี้เริ่มเห็นการบริโภคไม่ขยับ เหลือเพียงอุตสาหกรรมเดียวที่เป็นความหวัง คือ “ท่องเที่ยว” ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยยังเดินต่อไปได้ในปีหน้า

 

โดยเฉพาะหากจีนกลับมาเปิดประเทศ ภาครัฐต้องอัดงบประมาณสนับสนุนเต็มที่ ขณะที่ เรื่องที่ยังเป็นความน่ากังวล คือ ความเสี่ยงวิกฤติประเทศเกิดใหม่หลายประเทศ และปัญหาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย กับประเทศเพื่อนบ้าน

ธนาคารโลก คาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ 3.1% ส่วนปี 2566 ขยายตัวได้ 4.3% และปี 2567 ขยายตัวได้ 3.9% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมองว่าจะกลับไปสู่ระดับใกล้เคียงค่าเฉลี่ยเดิมที่ 2% ส่วนภาคการท่องเที่ยวคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ในช่วงปี 2568 เป็นต้นไป หลังจากที่ไทยเริ่มกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มที่ และคลายกฎเกณฑ์ต่างๆ ลง รวมถึงการเดินหน้าโปรโมทการท่องเที่ยวอย่างเต็มที่ ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มทยอยกลับมา

 

นี่เป็นโจทย์สำคัญที่ภาคการเงิน การคลังประเทศ จะต้องคุมและดูแลนโยบายการเงินให้ดี ดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และควรต้องหาโซลูชั่นในการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจด้วย หากจะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ก็ต้องดูว่าทำอย่างไรไม่ให้กระทบกระเทือนกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หรืออาจจำเป็นต้องปรับในอัตราที่ค่อยเป็นค่อยไปหรือไม่ ให้สอดคล้องกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยภาพรวม

แม้ธนาคารโลก จะประเมินไว้ว่า เศรษฐกิจต่อไปจะมีการฟื้นตัวแน่นอน แต่อนาคตยังมีความเสี่ยงที่จะมีมรสุมมาอีกมากขึ้น เนื่องจากปัญหาเรื่องจากภาวะโลกร้อนที่มากขึ้น แน่นอนว่า จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน ต่อกลยุทธ์ ต่อยุทธศาสตร์ขององค์กร ใครเตรียมตัวรับมือได้ก่อน ย่อมได้เปรียบ เรามั่นใจว่า ประเทศไทยมีจุดแข็งหลายเรื่องที่สามารถหยิบขึ้นมาสร้างความได้เปรียบในเวทีแข่งขันระดับโลกได้