ราคาน้ำมันพุ่งหลังโอเปกพลัสลดกำลังการผลิต จับตากระทบเงินเฟ้อไทย
โอเปกพลัสลดกำลังการผลิตน้ำมันครั้งใหญ่สุด ดันราคาน้ำมันพุ่ง คาดไตรมาส4 แตะ100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำเงินเฟ้อทั่วโลกทรงตัวระดับสูง ส่วนเงินเฟ้อไทยแผ่วลงในเดือน ส.ค. ด้านสนค.ประเมินนราคาน้ำมันไม่เกิน 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำเงินเฟ้อเพิ่ม 0.2 %
กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และชาติพันธมิตร หรือโอเปกพลัส ปรับลดกำลังการผลิต 2 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ย.ซึ่งการปรับลดกำลังการผลิตดังกล่าว เป็นการปรับลดกำลังการผลิตครั้งใหญ่ที่สุดของโอเปกพลัสนับตั้งแต่ปี 2563 และเป็นการปรับลดกำลังการผลิตติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับขึ้นทันที ขานรับโอเปกพลัสลดการผลิตครั้งใหญ่ ซึ่งการปรับลดกำลังการผลิตครั้งทำให้สหรัฐแสดงความไม่พอใจ
โดยนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ แสดงความผิดหวังต่อการตัดสินใจอย่าง ‘สายตาสั้น’ ของโอเปกพลัส ซึ่งได้ปรับลดโควตาการผลิต ขณะที่เศรษฐกิจโลกกำลังได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียส่งกำลังทหารบุกโจมตียูเครน”พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้กระทรวงพลังงานสหรัฐทำการระบายน้ำมันจากคลังสำรองทางยุทธศาสตร์ (SPR) อีก 10 ล้านบาร์เรลในเดือนพ.ย.เพื่อสกัดการพุ่งขึ้นของราคาน้ำมัน
ทั้งนี้การลดกำลังการผลิตน้ำมันของกลุ่มโอเปกพลัส เพิ่มความวิตกกังวลเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อที่จะเป็นแรงกดดันเศรษฐกิจและเงินเฟ้อของประเทศที่พัฒนาแล้วให้ทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป
ขณะที่ไทยที่ปัจจุบันเงินเฟ้อเริ่มแผ่วลงจากราคาน้ำมันที่ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้านี้ ล่าสุดเงินเฟ้อเดือนก.ย. ขยายตัว 6.41% ชะลอตัวลงจากเดือนส.ค. 2565 ที่สูงขึ้น 7.86 % ตามการชะลอตัวของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน เคหสถาน และเครื่องประกอบอาหาร ประกอบกับฐานดัชนีราคาฯ ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อ
ทั้งนี้ราคาน้ำมันมีสัดส่วนในตะกร้าการคำนวณอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งหากราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นมาก็จะส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาพลังงานเป็นต้นทุนขอราคาสินค้าและบริการโดยสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า กรณีที่โอเปกปรับลดกำลังการผลิตลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน จะส่งผลให้ราคาน้ำมันมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ไม่น่าเกิน 110 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอาจมีผลให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์เดิมประมาณ 0.2 %
ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งปี 2565 ของ สนค. ใช้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบในช่วงที่เหลือระหว่าง 90 -110 ต่อบาร์เรล ซึ่งน่าจะครอบคลุมผลกระทบจากกรณีดังกล่าวแล้ว ดังนั้น คาดว่าอัตราเงินเฟ้อ ปี 2565 จะยังคงอยู่ระหว่าง 5.5-6.5% มีค่ากลาง 6% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ
คงต้องจับตามองสถานการณ์ราคาน้ำมัน ซึ่งหลายฝ่ายคาดการณ์ว่า ราคาน้ำมันในไตรมาส 4 จะอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เลย อาทิ "เจพีมอร์แกน" คาดราคาน้ำมันอาจพุ่งแตะ 100 ดอลลาร์ ส่วนมอร์แกน สแตนลีย์ ยังเพิ่มการคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) ในไตรมาสแรกปี 2566 เป็น 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จาก 95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยราคาปัจจุบัน น้ำมันดิบ WTI เฉลี่ยราคา 79.62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเบรนท์ เฉลี่ยราคา 87.22 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบ ดูไบ เฉลี่ย 85.92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้มีการประเมินว่า หากราคาน้ำมันแตะ 100 ดอลลาร์ จะส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อของไทยที่อาจปรับสูงขึ้นอีกครั้งประกอบกับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่กระทบผลผลิตทางการเกษตรทำให้ได้รับความเสียหายส่งผลให้ปริมาณผลผลิตในตลาดลดลง ทำให้ผักสดขาดแคลนและมีราคาเพิ่มขึ้น ซึ่งสนค.คาดว่าน่าจะเห็นภาพชัดในเดือนต.ค.นี้