'ศักดิ์สยาม' ชี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวหมดสัมปทาน 30 ปี คุมราคา 20 บาทตลอดสาย
“ศักดิ์สยาม” สั่งระบบขนส่งทางรางเร่งศึกษา EV Train หนุนใช้แบตเตอรี่ ชี้รถไฟฟ้าสายสีเขียวหมดสัมปทาน 30 ปี ลดต้นทุนค่าก่อสร้างและติดตั้งระบบ มีความเป็นไปได้สูงดันราคา 20 บาทตลอดสาย
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล “สถานีดีพร้อม” ประจำปี 2565 โดยระบุว่า ปัจจุบันระบบขนส่งทางรางยังมีต้นทุนสูงหากเทียบกับระบบขนส่งทางบก ซึ่งกระทรวงฯ มีนโยบายให้ทุกระบบขนส่งพัฒนาพลังงานทางเลือก หรือพลังงานไฟฟ้า (EV) เนื่องจากจะสามารถลดต้นทุนพลังงานเชื้อเพลิงไปได้จำนวนมาก และประโยชน์จากการลดต้นทุนพลังงานยังจะทำให้ต้นทุนค่าโดยสารของประชาชนถูกลง
อย่างไรก็ดี ในส่วนของระบบขนส่งทางราง ปัจจุบันมีบางส่วนใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว แต่ก็พบว่าเป็นพลังงานที่ต้องมีการติดตั้งระบบที่ราคาค่อนข้างสูง ดังนั้นตนจึงฝากให้ทุกภาคส่วนเริ่มดำเนินการศึกษาพลังงานทางเลือก ใช้ไฟฟ้าจากระบบอื่น เช่น แบตเตอรี่ ซึ่งมีต้นทุนที่ถูกกว่าการติดตั้งระบบรถไฟฟ้าในปัจจุบัน โดยหากสามารถดำเนินการได้จริง เชื่อว่าอนาคตค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทมีความเป็นไปได้
“ตอนนี้รถไฟฟ้ามีต้นทุนสูงจากการติดตั้งระบบ มีค่าก่อสร้างต่างๆ แต่หากรถไฟฟ้าที่ครบสัมปทาน 30 ปีไปแล้ว ค่าติดตั้งระบบและค่าก่อสร้างก็จะถูกหักลบออกไป และจะทำให้สามารถควบคุมราคาค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทได้ เหมือนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่จะหมดสัมปทาน เชื่อว่าหากคำนวณต้นทุนดีๆ ตัวเลข 20 บาทก็เป็นไปได้ แต่จะทำได้เมื่อไหร่นั้นต้องรอให้ร่าง พรบ.กรมการขนส่งทางรางประกาศใช้ก่อน เพราะกรมการขนส่งทางรางมีสถานะเป็นผู้กำกับระบบขนส่งทางรางทั้งหมด สามารถกำหนดค่ามาตรฐานต่างๆ รวมถึงต้นทุนค่าโดยสารได้ด้วย”
นายศักดิ์สยาม ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบันทราบว่ามีทางเอกชนกำลังพัฒนารถไฟระบบ EV Train ที่ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นรถจักรไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการ ทดลองวิ่งในรางรถไฟจริงในเดือน พ.ย.นี้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งผลการศึกษาฝีมือคนไทยที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบขนส่งทางราง ลดต้นทุนพลังงานในอนาคต โดยสิ่งเหล่านี้กระทรวงฯ จะนำมาพิจารณาอยู่ในแผนจัดหาหัวรถจักรของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.)
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวว่า ขร. ได้จัดกิจกรรมการประกวด “สถานีดีพร้อม” ภายใต้แนวคิด “กรมรางสร้างสุข ด้วยคุณภาพดีพร้อม DRT creates happiness of stations” นำร่องประเมินคุณภาพสถานีขนส่งทางรางทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพสถานีให้มีความพร้อมในการให้บริการที่ดี และมีความสะดวกในการเดินทางเชื่อมต่อ
โดยจากผลการจัดกิจกรรมการประกวด “สถานีดีพร้อม” มีสถานีรถไฟเข้าร่วมกิจกรรมทั้งสิ้น 43 สถานี แบ่งเป็น กลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง จำนวน 28 สถานี และกลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศ จำนวน 15 สถานี ซึ่งการพิจารณาตัดสินรางวัลในครั้งนี้ได้ใช้เกณฑ์การประเมิน 8 ด้าน ประกอบด้วย
1) ด้านโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) เช่น การให้บริการที่จอดรถ ทางเข้า - ออก ในการรองรับการใช้บริการ การจำหน่ายบัตรโดยสาร
2) ด้านการเชื่อมต่อ (Connectivity) เช่น การเชื่อมต่อการเดินทางรูปแบบอื่น
3) ด้านข้อมูลการเดินทางและประชาสัมพันธ์ (Information) เช่น ป้ายบอกทิศทางในสถานี
การติดประกาศ/การให้ข้อมูลในการเดินทาง
4) ด้านความปลอดภัย (Safety and Security) เช่น มาตรการป้องกัน COVID – 19 การติดตั้งกล้องวงจรปิด ไฟส่องสว่าง หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ทางออกฉุกเฉิน
5) ด้านความพร้อมของสิ่งอำนวยความสะดวก (Comfort) เช่น ห้องน้ำ ร้านค้า/อาหาร/เครื่องดื่ม ความสามารถในการรองรับผู้มาใช้บริการ
6) ด้านการออกแบบตามหลัก Universal Design เช่น สิ่งอำนวยความสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และผู้พิการ
7) ด้านการให้บริการ (Customer Care) เช่น กิริยามารยาทและความสุภาพของเจ้าหน้าที่
8) ด้านสุนทรียภาพ (Aesthetic) เช่น สุนทรียภาพ อัตลักษณ์ หรือการจัดการสิ่งแวดล้อมของสถานี
สรุปผลการตัดสินสถานีที่ได้รับรางวัล ดังนี้
กลุ่มสถานีรถไฟทั่วประเทศ
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สถานีเชียงใหม่
- รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ สถานีชุมทางหาดใหญ่
- รางวัลชมเชย ได้แก่ สถานีนครราชสีมา สถานีบุรีรัมย์ และสถานีศรีสะเกษ
กลุ่มสถานีรถไฟฟ้าในเมืองและชานเมือง
- รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ สถานีเพชรบุรี (BL21)
- รางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ สถานีหมอชิต (N8)
- รางวัลชมเชย ได้แก่ สถานีสุขุมวิท (BL22) สถานีลาดพร้าว (BL15) และสถานีแยก คปอ. (N23)