เอกชน“อีอีซี”ปรับตัวรับค่าแรง ลุยลดต้นทุน-เพิ่มมูลค่าสินค้า
หอการค้าตะวันออก รับปรับค่าแรงกระทบต้นทุน เผย เอกชนเร่งปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดต้นทุนการผลิต ขอรัฐออกมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลน เสริมสภาพคล่องภาคเอกชน
การปรับค่าแรงขั้นต่ำที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565 ทำให้ค่าแรงใน จ.ชลบุรี และระยอง อยู่ในกลุ่มสูงที่สุดของประเทศ ซึ่งที่ผ่านมานับตั้งแต่มีการประกาศนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ค่าแรงขั้นต่ำใน จ.ชลบุรี และระยอง ขยับตัวสูงขึ้นมาอยู่กลุ่มสูงสุดตั้งแต่ปี 2560
ทั้งนี้ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำได้ส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการในกลุ่มเอสเอ็มอี รวมถึงภาคการท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับผลกระทบมาก เพราะในพื้นที่อีอีซีเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญและจำเป็นที่ผู้ประกอบการจะต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับผลจากต้นทุนที่ปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ภาคการผลิตบางส่วนมีการใช้เครื่องจักร หุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติมาใช้ในโรงงาน
สำหรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำใหม่ใน จ.ชลบุรี และระยอง อยู่ที่วันละ 354 บาท สูงที่สุดในประเทศร่วมกับค่าแรงขั้นต่ำใน จ.ภูเก็ต ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่วันละ 345 บาท สูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศ
ธีรินทร์ ธัญญวัฒนกุล ประธานหอการค้าจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า ในส่วนภาคธุรกิจและผู้ประกอบการก็ไม่ต้องการให้มีการขึ้นค่าแรง เพราะทำให้ต้นทุนการประกอบธุรกิจพุ่งสูงขึ้น แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ที่กดดัน ทั้งเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ ทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องขึ้นค่าแรง ซึ่งเราเข้าใจถึงสถานการณ์ที่ต้องปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ เพราะดัชนีชี้วัดหลายตัวก็พุ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของค่าครองชีพหรือราคาสินค้า
สำหรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับขึ้นสูงใน จ.ชลบุรี ก็ไม่เหนือความคาดหมายเท่าไร ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติที่ จ.ชลบุรี จะเป็นจังหวัดที่ปรับขึ้นค่าแรงในอัตราสูงเนื่องจากเป็นพื้นที่เขตเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตาม จำนวนค่าแรงขั้นต่ำที่มีการปรับขึ้นมาก็น่าจะอยู่ในเกณฑ์ที่ผู้ประกอบการหรือธุรกิจในพื้นที่พอรับได้ เพราะไม่ได้ปรับขึ้นแบบกระโดดไปมากจนเกินไป รวมทั้งจากการประเมินเบื้องต้นพบว่าการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในจังหวัด น่าจะกระทบกับภาคธุรกิจประมาณ 3-5% แล้วธุรกิจแต่ละประเภท ซึ่งประกอบการก็เตรียมพร้อมพอสมควรหลังทราบว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรง
ทั้งนี้ การปรับตัวของภาคธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจอยู่ได้หลังต้นทุนที่เป็นค่าแรงปรับเพิ่มขึ้น ก็คงจะต้องหาวิธีการลดต้นทุนด้านอื่นๆ เช่น การนำเครื่องจักรมาทดแทนแรงงานคน ลดคอร์สในด้านอื่น เป็นต้น เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ แต่ในเรื่องของการลดคนงานไม่น่าจะเกิดขึ้น แต่อาจจะลดเวลาการทำงานลงหรือผู้ประกอบการบางรายที่ต้องการขยายธุรกิจเพื่อรองรับเศรษฐกิจฟื้นก็อาจลงทุนโดยการซื้อเครื่องจักรมาทดแทนเพื่อตอบโจทย์ในส่วนนี้
“ธุรกิจที่น่าจะได้รับผลกระทบจากปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะเป็นธุรกิจเอสเอ็มอีที่ใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ทั้งภาคบริการและท่องเที่ยว ซึ่งเอสเอ็มอีเหล่านี้เงินทุนที่ประกอบธุรกิจมีไม่มากที่จะซื้อเครื่องจักรหรือนำระบบเอไอมาใช้ในธุรกิจของตนเอง ซึ่งคงต้องปรับตัวและบริหารจัดการธุรกิจให้อยู่รอดให้ได้”
รวมทั้งในปัจจุบัน เศรษฐกิจในภาพรวมของ จ.ชลบุรี ถือว่าดีขึ้นแต่ยังไม่มาก เพราะภาคการท่องเที่ยวยังไม่ได้กลับมาเหมือนก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 โดยนักท่องเที่ยวจีน รัสเซีย ก็ยังไม่กลับมาเต็มที่ และจะคึกคักในวันหยุด ซึ่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะคนละครึ่งเฟส 5 ก็ช่วยได้มากในการให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น จึงอยากให้รัฐบาลทำอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เศรษฐกิจในพื้นกลับมาคึกคัก เพื่อช่วยผู้ประกอบการในการหารายได้เพิ่มหลังมีการปรับค่าแรงขั้นต่ำ
นอกจากนี้ รัฐบาลควรมีมาตรการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟต์โลนเพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการการสนับสนุนจากภาครัฐ หน่วยงานอื่นๆ ให้เงินมาลงทุนในการพัฒนาธุรกิจ เปิดช่องให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ เข้าถึงเทคโนโลยี สร้างนวัตกรรม เพื่อเสริมความเข้มแข็งให้กับภาคธุรกิจ
พิธพร สมะลาภา ประธานหอการค้าจังหวัดระยอง กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำกระทบกับธุรกิจเอสเอ็มอี ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจบริการค่อนข้างมากส่วนภาคอื่นๆ ก็ได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นลดหลั่นกันไป เพราะขณะนี้เศรษฐกิจในพื้นที่ก็ยังไม่ฟื้น ภาระหนี้สินก็ยังมีจากผลกระทบของการแพร่ระบาดของโควิด-19 มากว่า 2 ปี ยิ่งมาเจอกับน้ำท่วมในพื้นที่อีกก็เป็นการซ้ำเติมแม้ว่าการท่องเที่ยวจะเริ่มกลับมาจากนักท่องเที่ยวคนไทยแต่ก็ไม่มากนัก
อีกทั้งประเมินพบว่า กำลังซื้อก็ยังไม่มาเช่นกัน คาดว่าเศรษฐกิจในพื้นที่จะกลับมาดีขึ้นน่าจะอยู่ในช่วงปลายปี แต่เม็ดเงินจะไม่กลับมาเท่าเดิมเหมือนเช่นก่อนโควิด-19 ซึ่งอาจช่วยผู้ประกอบการด้านบริการและท่องเที่ยวได้ระดับหนึ่ง
“ทุกครั้งที่มีการขึ้นค่าแรง ค่าใช้จ่าย สินค้าก็ขึ้นราคาไปรอการปรับค่าแรงขั้นต่ำแล้ว ซึ่งไม่มีการปรับลงอยู่แล้ว"
สำหรับการขึ้นค่าแรงกระทบอยู่แล้วแต่ไม่มาก โดยใน จ.ระยอง ที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีจีดีพี 85% ของทั้งจังหวัดก็กระทบไม่มาก บางอุตสาหกรรมค่าแรงก็เกินค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว อีกทั้งภาคอุตสาหกรรมก็มีการปรับตัวไปแล้วโดยปัจจุบันก็เริ่มมีการนำหุ่นยนต์ ระบบเอไอมาใช้ แรงงานคนก็น้อยลง ซึ่งไม่น่าห่วงแต่ธุรกิจด้านการท่องเที่ยวธุรกิจบริการ ภาคเกษตร ที่ใช้แรงงานมากก็จะกระทบมากหน่อย
ทั้งนี้ ส่วนตัวมองว่าการปรับขึ้นค่าแรงอาจไม่ได้ผลดีเท่าที่คิด เพราะมีข่าวว่าจะปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ราคาสินค้าก็ปรับขึ้นก่อนทันทีแต่ในสถานการณ์แบบนี้จะไม่ปรับขึ้นค่าแรงก็ไม่ได้ ปรับขึ้นแล้วก็มีผลกระทบกลายเป็นวังวน
สำหรับสิ่งที่ต้องทำคือการปรับตัว หรือปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจ มี 2 แนวทาง คือ
1.การเพิ่มรายได้ เช่นการเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยภาครัฐจำเป็นต้องเข้ามาสนับสนุนภาคเอกชนในการปรับตัว
2.การลดต้นทุนการผลิตหรือลดค่าใช้จ่ายเพื่อให้ธุรกิจอยู่รอด ทั้งเรื่องการใช้เทคโนโลยี แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีข้อจำกัดหลายประการโดยเฉพาะเงินลงทุน