"ปตท." ชูแผน 3P สู่เป้า Net Zero ปี 2050 สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ
ปตท. ประกาศเป้า Net Zero ปี 2050 สร้างสังคมคาร์บอนต่ำเพื่อคนไทยอย่างยั่งยืน ตอกย้ำความตั้งใจ ชูกลยุทธ์ 3P ขับเคลื่อนธุรกิจกลุ่ม ปตท. มองราคาพลังงานปีหน้าระดับ 85-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล พร้อมหนุมประเทศดูแลคนไทยผ่านพ้นวิกฤตพลังงาน
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า แนวโน้มราคาน้ำมันดิบปี 2566 จะอยู่ในกรอบ 85-90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากสิ้นปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยปตท.ให้ความร่วมมือกับกระทรวงพลังงานพร้อมติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ยังได้ปรับแผนการใช้งบประมาณในทุก ๆ ไตรมาส เนื่องจากปัจจุบันในแง่ของซัพพลาย กลุ่มโอเปกพลัส ได้ประกาศจะปรับลดกำลังการผลิตลงลงในเดือน พ.ย.-ธ.ค. 2565 ที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทำให้ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับสูง แต่ในขณะเดียวกันจากภาวะเศรษฐกิจถดถอย ก็ทำให้ความต้องการใช้ลดลงด้วย ซึ่งที่ผ่านมา ปตท. ได้ร่วมมือกับกระทรวงพลังงานดูแลค่าครองชีพประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางเพื่อช่วยลดผลกระทบให้เบาบางลง
อย่างไรก็ตาม จากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญในการลดอุณหภูมิ ซึ่งจากผลสำรวจปี 2019 พบว่าประเทศไทยจัดอยู่ในอันดับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันดับ 9 ส่งผลกระทบต่อ GDP ประเทศลดลง 10% คิดเป็นเม็ดเงินสูญเสียกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์ และจากตัวเลขการปล่อยก๊าซคาร์บอนทั่วโลกปีละ 3.6 หมื่นล้านตัน ส่วนไทยปล่อยที่ 247 ล้านตัน
ทั้งนี้ กลุ่มปตท.ถือเป็นบริษัทพลังงานขนาดใหญ่มีการปล่อยคาร์บอนปีละ 45 ล้านตัน หรือ 18% โดยเฉพาะปตท.เองมีการปล่อยคาร์บอนประมาณปีละ11.6 ล้านตัน ดังนั้น กลุ่ม ปตท. ได้ตั้งเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะยาว มุ่งลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 15% ภายในปี 2030 บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 เร็วกว่าเป้าหมายของประเทศ
“ปตท. มีกลยุทธ์ตัวชี้วัดและแผนปฏิบัติการรองรับ พร้อมผนึกความร่วมมือจุดแข็งธุรกิจ กลุ่ม ปตท. โดยจัดตั้งคณะทำงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (PTT Group Net Zero Task Force หรือ G-NET) เพื่อกำหนดกลยุทธ์เชิงรุก มุ่งบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สอดคล้องกับบริบทของการดำเนินธุรกิจกลุ่ม ปตท.”
สำหรับกลยุทธ์เพื่อให้บรรลุเป้าหมายประกอบด้วย 3P ได้แก่ 1. Pursuit of Lower Emissions การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด ผ่านโครงการสำคัญ เช่น การดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS) ในพื้นที่บริเวณทะเลอ่าวไทย และพื้นที่บนฝั่งในภาคตะวันออกภายใต้ความร่วมมือ PTT Group CCS Hub Model ที่ระดมเทคโนโลยีของ กลุ่ม ปตท. เพื่อบริหารการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกร่วมกัน
การนำคาร์บอนไดออกไซด์ไปใช้ประโยชน์สูงสุด (Carbon Capture and Utilization : CCU) ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อลดการปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างทดลอง 3-4 โครงการ คาดว่าต้นปี 2566 จะเห็นผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน การปรับปรุงกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ การส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิต รวมถึงการผลักดันการใช้พลังงานจากไฮโดรเจน คาดจะเห็นโครงการทดลอง หรือโครงการนำร่องได้ในช่วงเดือนพ.ย. 2565 เป็นต้น โดยวิธีการเหล่านี้จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 30% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด
2. Portfolio Transformation การเพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด อาทิ โรงไฟฟ้าในกลุ่มปตท.ที่ปัจจุบันมีกำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ ตั้งเป้าปี 2026 เพิ่มเป็น 7,000 เมกะวัตต์ และปี 2030 เป็น 12,000 เมกะวัตต์ และการเติบใตในธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน ซึ่งสอดคล้องตามการปรับเปลี่ยนวิสัยทัศน์ โดยกำหนดสัดส่วนเป้าหมายระยะยาว 10 ปี ที่ 32% ของงบประมาณการลงทุน การรุกปรับสัดส่วนการลงทุนจะเป็นกลไกสำคัญลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 50% และ
3. Partnership with Nature and Society การเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ โดยประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ซึ่งจะสามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้ อย่างน้อย 20% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมของ ปตท. ซึ่งแต่ปี 2537 ปตท. ฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั่วประเทศไปแล้วกว่า 1.1 ล้านไร่ ปัจจุบันพื้นที่ป่าเหล่านี้ยังคงมีสภาพป่าสมบูรณ์กว่า 80% สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 2.14 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี หรือเปรียบเทียบการชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากรถยนต์ส่วนบุคคลเฉลี่ยปีละ 4.6 แสนคัน และปลดปล่อยออกซิเจนได้กว่า 1.55 ล้านตันออกซิเจนต่อปี
นอกจากนี้ ยังสร้างประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของชุมชนได้มากถึง 280 ล้านบาทต่อปี แม้การดำเนินการภาคป่าไม้จะมีต้นทุนที่สูงแต่ถือเป็นอีกวิธีสำคัญ โดยกลุ่ม ปตท. มุ่งปลูกป่าเพิ่มเติมรวม 2 ล้านไร่ ภายในปี 2030 แบ่งเป็นการดำเนินการโดย ปตท. 1 ล้านไร่ และความร่วมมือบริษัทในกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ ร่วมกับการใช้เทคโนโลยีสำรวจการเติบโตและวิเคราะห์ข้อมูลการดูดซับก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตพื้นที่ป่าเหล่านี้จะมีศักยภาพช่วยดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้รวมกว่า 4.15 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี
“ส่วนความคืบหน้าในการก่อสร้างโรงงานแพลตฟอร์มการผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV) และส่วนประกอบต่างๆ นั้น ภายในปีนี้ จะเริ่มลงเสาเข็มแล้ว ถือเป็นไปตามแผนโดยจะเริ่มผลิตได้ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ด้วยกำลังการผลิตเฟสแรก 50,000 คันต่อปี และทยอยปรับเพิ่มขึ้นเป็น 150,000-200,000 คันต่อปีในปี 2573”
อย่างไรก็ตาม ปตท. ให้ความสำคัญต่อการสร้างความร่วมมือกับภาคีต่างๆ เพื่อมุ่งสู่ Net Zero ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญระดับประเทศและระดับโลก โดยปัจจุบัน ปตท. ได้รับภารกิจเป็นประธานเครือข่ายคาร์บอนนิวทรัลประเทศไทย (Thailand Carbon Neutral Network : TCNN) เครือข่ายองค์กรชั้นนำระดับประเทศจากภาครัฐ เอกชน และชุมชนท้องถิ่น รวม 275 องค์กร มีเป้าหมายมุ่งเป็น “เครือข่ายแกนนำของประเทศไทยสู่การบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero” ผลักดันการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ ในการลดก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเร่งจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายเสนอต่อภาครัฐ มุ่งยกระดับมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ และผลักดันเป้าหมาย Net Zero ของประเทศจากทุกภาคส่วนร่วมกัน
“ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญเร่งด่วนของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และศักยภาพการเป็นกำลังสำคัญเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ จึงมุ่งผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้เร็วกว่าเป้าหมายที่ประเทศกำหนด และแม้ว่าการบรรลุเป้าหมาย Net Zero จะมีความท้าทาย แม้ว่าในกลุ่มปตท.บางบริษัทจะมีแผนเป้า Net Zero ปี 2060 แต่เมื่อปตท.ทำได้ก่อนเป้าหมายประเทศไทย ก็จะช่วยประเทศได้มากยิ่งบขึ้น”