เที่ยวไทย VS เที่ยวญี่ปุ่น | กันต์ เอี่ยมอินทรา
หน้าหนาวที่กำลังจะมาถึงกับการผ่อนคลายปลดล็อกเรื่องการเดินทางระหว่างประเทศ น่าจะทำให้เกิดสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจอย่างมากโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
หากทั่วโลกสามารถจัดการกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ เชื่อได้ว่าปีหน้าเศรษฐกิจน่าจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด และไทยเองก็จะได้รับอานิสงส์จากมาตรการผ่อนคลายการเดินทางท่องเที่ยวในรูปแบบของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้น และเม็ดเงินจำนวนมหาศาลที่นักท่องเที่ยวจะมากินมาใช้ในประเทศ
เราเคยประสบปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักจากวิกฤติต้มยำกุ้งและพระเอกนางเอกที่ช่วยให้เราไม่ลำบากยากเข็ญในยุคนั้นคือ การส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งล้วนได้รับอานิสงส์จากค่าเงินบาทที่อ่อนมากจนทำให้สินค้าไทยถูกลงเมื่อถึงมือของผู้ซื้อต่างชาติ ขณะที่การมาท่องเที่ยวเมืองไทยก็ถูกลงเช่นกัน
ปัจจุบัน ปัญหาค่าเงินอ่อนนี้ได้หมุนเวียนกลับมาเป็นปัญหาของเราอีกครั้ง พร้อมกับค่าเงินดอลลาร์ที่แข็งตัวอย่างไม่เคยเป็นมาก่อนจึงทำให้เงินบาทนั้นอ่อนสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 16 ปีเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แต่ถึงกระนั้น เราก็ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ค่าเงินอ่อนลงอย่างมาก
ค่าเงินปอนด์ของอังกฤษก็อ่อนค่าลงอย่างหนัก จนเกือบแตะระดับต่ำสุดในรอบ 40 ปี ส่วนหนึ่งก็วิเคราะห์กันว่าเป็นเพราะนโยบายเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก ขณะที่ค่าเงินยูโรก็อ่อนค่าลงหนักที่สุดในรอบ 20 ปี อันเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจและการสู้รบในยูเครน
ญี่ปุ่นเองก็ประสบปัญหาเดียวกันคือ ค่าเงินเยนอ่อนลงที่สุดในรอบ 30 ปี เช่นเดียวกับเพื่อนบ้านไทยอย่างมาเลเซียและลาว ทั้งหมดทั้งมวลนี้คือปัญหาที่ทุกประเทศเผชิญร่วมกัน อันเนื่องมาจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจหลังการการระบาดของโควิด ภาวะข้าวยากหมากแพงอันเนื่องมาจากการสู้รบในยูเครนและจากปัญหาการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจที่ผิดพลาดและการเมืองภายในประเทศ
จากที่เราสามารถเรียนรู้จากอดีตได้ พบว่า พระเอกในการกอบกู้โกยเงินดึงสภาพคล่องเข้าประเทศในยามยากเช่นนี้ ก็คงหนีไม่พ้นการท่องเที่ยวและการส่งออกเหมือนเช่นในอดีต หลังจากวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 นั้น เราโปรโมตการท่องเที่ยว Amazing Thailand อย่างมากจนทำให้ประเทศไทยกลายเป็น “Dream destination” จุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกฝันอยากจะมาเยือนสักครั้งในชีวิต
ตัวเลขรายได้ของไทยจากการท่องเที่ยวนั้นเคยสูงมากถึง 3 ล้านล้านบาทในช่วงก่อนปีโควิด ซึ่งคิดเป็น 10% ของ GDP ของประเทศเราทั้งหมด โดย 2 ล้านล้านบาทนั้นมาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศล้วน ๆ
ไทยเคยเป็นจุดหมายปลายทางที่มีนักท่องเที่ยวมากที่สุดในโลกที่ 40 ล้านคนต่อปี และนักท่องเที่ยวเหล่านั้นก็ใช้จ่ายเฉลี่ย 4-5 หมื่นบาทต่อหัวเลยทีเดียว เช่นเดียวกับญี่ปุ่นเองที่ก็เคยประสบความสำเร็จจากการใช้การท่องเที่ยวเป็นแม่เหล็กดูดเงินเข้าประเทศและก็สมควรให้เครดิตแก่อดีตนายกฯชินโซ อาเบะ ผู้ล่วงลับ
ญี่ปุ่นรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปีจนแตะระดับสูงสุดที่ 32 ล้านคนต่อปี (จากเดิมที่ไม่ถึง 10 ล้านคน) และเม็ดเงินจำนวนเกือบ 5 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีก่อนโควิด คิดเป็น 7% ของ GDP
การผ่อนผันมาตรการต่าง ๆ อาทิ การเข้าเมือง ตลอดจนการสนับสนุนสายการบินราคาประหยัด ล้วนเป็นเครื่องไม้เครื่องมือปลีกย่อยที่ญี่ปุ่นใช้และไทยสมควรศึกษาเรียนรู้ เอกชนและประชาชนก็ต่างมีส่วนร่วมกับการทำให้ญี่ปุ่นนั้นน่าท่องเที่ยว ไม่ว่าจะเป็นความสุจริตของคน ความปลอดภัยของเมือง ตลอดจนระบบขนส่งที่สะดวกและคุ้มค่าเงิน ไม่ใช่เอารัดเอาเปรียบ มือใครยาวสาวได้สาวเอาแบบไทย