'ทีดีอาร์ไอ' แนะ 3 ข้อเสนอ รฟม.ประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 3
“ทีดีอาร์ไอ” แนะ รฟม.หากประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มครั้งที่ 3 ชูข้อเสนอปรับรูปแบบประมูล - แหล่งเงินทุน – เงื่อนไขสัญญา พร้อมจี้เปิดเผยข้อมูลร่างสัญญาก่อนดันเข้า ครม.ลงนาม
ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัย ด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เปิดเผยบางช่วงในเวทีสาธารณะค้นหาความจริง "กรณี 6.8 หมื่นล้าน ในการประมูล รถไฟสายสีส้ม" ผลประโยชน์..หรือค่าโง่!! ที่รัฐฯ ต้องมีคำตอบ จัดขึ้นโดยองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT โดยระบุว่า เหตุจากการยกเลิกประกวดราคาและเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ภาพรวมตอนนี้โครงการล่าช้ามาอย่างน้อย 2 ปี
โดยจากแผนเดิมที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กำหนดจะเปิดให้บริการส่วนตะวันออกภายในปี 2569 และส่วนตะวันตกภายในปี 2571 ซึ่งต้องตั้งคำถามว่าหาก รฟม.ลงนามร่วมลงทุนกับบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลนั้น ทาง BEM จะสามารถเร่งรัดงานก่อสร้าง ติดตั้งระบบและสามารถเปิดให้บริการได้ตามแผนหรือไม่
อย่างไรก็ดี TDRI มองว่า ต้นตอของปัญหาในโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มนี้ ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการจัดรูปแบบ PPP ที่ทำให้มีเอกชนเข้ามาแข่งขันน้อยรายเกินไป โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มผูกสัญญาก่อสร้างกับสัญญาเดินรถเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดปัญหา คือ เอกชนเข้าประมูลต้องสามารถทำได้ทั้งการก่อสร้างและการเดินทาง ซึ่งงานทั้งสองส่วนนี้ก็มีขนาดใหญ่พอๆ กัน นอกจากนี้งานก่อสร้างก็มีความซับซ้อน จากปัจจัยเหล่านี้ทำให้เงื่อนไขของผู้เข้าร่วมประมูลค่อนข้างสูง บริษัทที่จะทำได้ตามเงื่อนไขมีน้อยรายมาก
ทั้งนี้ TDRI ยังมองว่าการประมูลและการจัดทำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าแบบเดิม จะทำให้ปัญหาของโครงข่ายรถไฟฟ้าจะยังคงเกิดปัญหาต่อไปในอนาคต
ข้อเสนอแนะ 3 เรื่อง เพื่อให้ภาครัฐ หรือ รฟม.นำไปประกอบการพิจารณาหากจะมีการประมูลโครงการเกิดขึ้นในครั้งที่ 3
ข้อเสนแนะที่ 1 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการประมูล ไม่ผูกมัดสัญญาก่อสร้างและการเดินรถ เพื่อให้เกิดการแข่งขันเพิ่มขึ้น
ข้อเสนแนะที่ 2 ปรับเปลี่ยนรูปแบบการหาแหล่งเงินทุน เพราะปัจจุบันผู้ที่กู้เงินได้ดอกเบี้ยต่ำที่สุดคือภาครัฐ หากรัฐเข้าไปช่วยสนับสนุนการหาแหล่งเงินทุน ก็จะทำให้ต้นทุนถูกลง และค่าโดยสารถูกลงด้วย
ข้อเสนอแนะที่ 3 ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาเพื่อสอดรับต่อการกำหนดค่าโดยสารร่วม เพื่อให้กำหนดอัตราค่าโดยสารร่วมในอนาคตได้ ควรปรับเปลี่ยนสัญญารถไฟฟ้าในแต่ละสายทางให้เป็นรูปแบบเดียวกันและมีความชัดเจนมากขึ้น
“การประมูลครั้งนี้เกิดคำถามในสังคมหลายเรื่อง แต่ความโชคดีคือเมื่อมีการฟ้องร้องเข้าสู่กระบวนการศาล ทุกส่วนก็สามารถอ้างสงวนสิทธิ์การให้ข้อมูล การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะได้ เพราะกำลังอยู่ในขั้นตอนศาล”
ดร.สุเมธ กล่าวด้วยว่า ส่วนตัวมองว่า กระบวนการร่างสัญญาขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการแล้ว รฟม.ควรจะเปิดเผยข้อมูลทั้งหมด ก่อนที่จะมีการลงนาม แต่ท้ายที่สุดหากมีการเสนอเรื่องนี้ไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็ต้องติดตามว่า ครม.จะรับไว้พิจารณาหรือไม่ เพราะเรื่องนี้หากนำมาพิจารณา ข้อมูลที่สาธารณชนได้รับก็น้อยมาก หาก ครม.จะพิจารณา ก็ควรสั่งการให้ รฟม.เปิดเผยข้อมูลก่อน