‘บึงกาฬ’ สนามบินแห่งที่ 30 คมนาคมทุ่ม 3 พันล้าน เชื่อม ‘ลาวใต้’
กรมท่าอากาศยานเตรียมทุ่มงบกว่า 3 พันล้านบาท เดินหน้าปั้นพื้นที่ “บึงกาฬ” 4.4 พันไร่ ขึ้นแท่นสนามบินน้องใหม่แห่งที่ 30 ตั้งเป้าตอกเสาเข็มปี 2569 เปิดให้บริการปี 2572 หวังรับผู้โดยสาร 1.49 แสนคน
กระทรวงคมนาคมโดยกรมท่าอากาศยาน (ทย.) กางแผนลงทุนในปี 2566 โดยจะผลักดันโครงการท่าอากาศยานภูมิภาคที่อยู่ภายใต้การดูแลแห่งที่ 30 ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ตลอดจนศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) รวมจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานมุกดาหาร และท่าอากาศยานบึงกาฬ
โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 21 ต.ค.ที่ผ่านมา ทย.ได้ทำการเปิดประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 งานจ้างดำเนินการออกแบบผังแม่บททางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน และองค์ประกอบอื่นๆ ตลอดจนศึกษารายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) โครงการก่อสร้างท่าอากาศยานบึงกาฬ พร้อมทั้งตั้งเป้านำเสนอผลการศึกษาโครงการสนามบินบึงกาฬให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติภายในปี 2566 เพื่อเริ่มตอกเสาเข็มตามแผนในปี 2569 ก่อนจะเปิดให้บริการในปี 2572
สำหรับจังหวัดบึงกาฬถือเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้กับท่าอากาศยานใน 3 แห่ง ประกอบด้วย ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานนครพนม และท่าอากาศยานสกลนคร แต่โดยรวมต้องใช้เวลาเดินทางเพื่อไปใช้บริการท่าอากาศยานไม่น้อยกว่า 3 ชั่วโมง จึงเป็นอีกหนึ่งเหตุผลที่ ทย.เริ่มศึกษาความเหมาะสมในการพัฒนาท่าอากาศยานบึงกาฬ ให้ตอบโจทย์ต่อความต้องการเดินทางของประชาชน อีกทั้งเพื่อสนับสนุนการค้าชายแดน เนื่องจากจังหวัดบึงกาฬอยู่ติดกับแขวงบอลิคำไซ สปป.ลาว หรือพื้นที่ลาวใต้
รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม ระบุว่า ท่าอากาศยานบึงกาฬถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่กระทรวงฯ ให้ความสำคัญ เพราะเป็นโครงการลงทุนที่จะส่งเสริมพื้นที่เศรษฐกิจ สนับสนุนการค้าชายแดน ส่งเสริมระเบียงเศรษฐกิจแนวตะวันออก – ตะวันตก (East – West Economic Corridor) แม้ว่าโดยรอบจังหวัดบึงกาฬจะมีท่าอากาศยานในจังหวัดใกล้เคียงอยู่แล้ว แต่ภาพรวมก็มีระยะห่างเกิน 200 กิโลเมตร จึงเข้าข่ายในการขออนุญาตก่อสร้างท่าอากาศยานแห่งใหม่
สำหรับ ท่าอากาศยานบึงกาฬ จากผลการศึกษาเบื้องต้นจะใช้งบประมาณก่อสร้างประมาณ 3,152 ล้านบาท ประกอบด้วย
- อาคารที่พักผู้โดยสารพื้นที่ประมาณ 20,000 ตารางเมตร
- ทางวิ่ง (รันเวย์) ขนาด 45 เมตร
- ความยาวทางวิ่ง 2,990 เมตร
- รองรับเครื่องบินขนาดใหญ่ อาทิ แอร์บัส A320 จำนวน 180 ที่นั่ง และเครื่องบินแอร์บัส 777-200 จำนวน 305 ที่นั่ง
- ลานจอดอากาศยาน
- อาคารประกอบต่างๆ
โดยที่ตั้งของโครงการอยู่ในตำบลวิศิษฐ์ และตำบลโป่งเปือย อำเภอเมืองบึงกาฬ จังหวัดบึงกาฬ ประมาณ 4,400 ไร่ ตั้งอยู่ระหว่างทางหลวงชนบทหมายเลข บก.3013 และทางหลวงเชื่อมโยง จังหวัดอุดรธานี-บึงกาฬ (ในอนาคต) มีระยะทางห่างจากตัวเมืองบึงกาฬ และสะพานมิตรภาพไทย - ลาว แห่งที่ 5 (อยู่ระหว่างก่อสร้าง) ห่างจากที่ตั้งท่าอากาศยานบึงกาฬ ประมาณ 12 กิโลเมตร
ทั้งนี้ ทย.ยังคาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารและปริมาณเที่ยวบิน โดยประเมินว่าในปี 2572 หรือปีแรกของการเปิดให้บริการ จะมีจำนวนผู้โดยสาร 149,172 คนต่อปี และมีจำนวนเที่ยวบิน 1,244 เที่ยวบินต่อปี หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยในปี 2602 คาดการณ์ปริมาณผู้โดยสารสูงสุด 494,254 คนต่อปี และมีจำนวนเที่ยวบิน 4,120 เที่ยวบิน