สกพอ.เล็งตั้งนิคมฯดึงเกาหลี ลงทุนสมาร์ทซิตี้ อีวี ดิจิทัล
การลงทุนของเกาหลีใต้ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้น หลังการมาเยือนของคณะนักธุรกิจในวาระครบรอบ 10 ปี ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เกาหลี-ไทย ช่วงต้นเดือน ต.ค. ที่ผ่านมา
นอกจากนั้น การที่เกาหลีใต้ปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศภายใต้การนำของ ประธานาธิบดีมุน แจอิน ในปี 2562 ซึ่งได้ประกาศใช้นโยบายหรือยุทธศาสตร์สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และอินเดียภายใต้ชื่อ นโยบายมุ่งใต้ใหม่ (New Southern Policy) เพื่อกระชับความสัมพันธ์และขยายความร่วมมือกับภูมิภาคอาเซียนทั้งในเชิงการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศ
โดยภาพรวมการลงทุนของเกาหลีในพื้นที่อีอีซี ตั้งแต่ปี 2561-2565 มีสถิติขอรับการส่งเสริมรวม 63 โครงการ มูลค่า14,367.90 ล้านบาท ในอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมี อิเล็กทรอนิกส์ ชีวภาพ ยานยนต์ ดิจิทัล และอื่นๆ
ขณะที่ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา ระหว่างปี 2555 - 2565 (ม.ค.- ก.ย.) เกาหลีใต้เข้ามาลงทุนในไทยต่อเนื่อง โครงการที่เกาหลีใต้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนรวม 365 โครงการ มูลค่ารวม 65,123 ล้านบาท อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เหล็กและผลิตภัณฑ์โลหะ และ เคมีภัณฑ์และกระดาษ
รายงานจากสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ระบุว่า สกพอ. ได้หารือกับ สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนแห่งสาธารณรัฐเกาหลี (KOTRA) และเห็นพ้องที่จะต่ออายุบันทึกความร่วมมือ (MOU) ที่ใกล้จะหมดวาระ โดยจะเน้นความร่วมมือในสาขาที่เกาหลีใต้มีความเชี่ยวชาญและมีความสนใจที่ชัดเจนขึ้น อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า อุตสาหกรรมด้านสุขภาพ เทคโนโลยีชีวภาพ ดิจิทัล โลจิสติกส์ รวมทั้งสมาร์ทซิตี้
โดยจะจัดประชุมออนไลน์ระหว่างฝ่าย สกพอ. กับผู้เชี่ยวชาญด้านสมาร์ทซิตี้ของเกาหลีใต้ ในโอกาสต่อไป เบื้องต้น บริษัทKorea Land and Housing Corporation (LH) รัฐวิสาหกิจเกาหลีใต้ผู้เชี่ยวชาญในด้านการจัดการนิคมอุตสาหกรรม สมาร์ทปาร์ค และที่พักอาศัย ได้ร่วมมือกับนิคมอมตะ ซิตี้ เพื่อนำร่องบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ในพื้นที่ราว 1,000 ไร่
หลังจากนั้นจะศึกษาพื้นที่เพื่อจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับนักลงทุนจากเกาหลีตลอดทั้งซัพพลายเชน ในกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ อาทิ ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ชีวการแพทย์ และดิจิทัล รวมถึงการลงทุนด้านพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์รูฟท็อป เพื่อสนับสนุนเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน
นายมุน ซึงฮยอน เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเกาหลีประจำประเทศไทย กล่าวว่า ไทยมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคอาเซียน เป็นประเทศอุตสาหกรรมซึ่งเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของเศรษฐกิจลุ่มแม่น้ำโขง ปัจจุบันความสัมพันธ์ในด้านเศรษฐกิจระหว่างไทยและเกาหลี ยังมีศักยภาพในการขยายความร่วมมือกันอีกมาก ทั้งด้านการค้าและการลงทุน สะท้อนจากมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2564 ที่เพิ่มขึ้นถึง 15,500 ล้านดอลลาร์ สูงสุดเป็นประวัติการณ์
นายคิม เทโฮ รองประธานบริหารฝ่ายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการค้า สำนักงานส่งเสริมการค้าและการลงทุนของรัฐบาลเกาหลีใต้ (KOTRA) กล่าวว่า เกาหลีและไทย ได้พัฒนาความสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องในฐานะความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ นับเป็นปีที่ 10 โดยเกาหลีเป็นประเทศที่ลงทุนโดยตรงในไทย (FDI) อยู่ในลำดับที่ 8 มีบริษัทเกาหลีที่ลงทุนในประเทศไทยกว่า 400 บริษัท ในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เหล็ก ยานยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ ขณะที่ไทยเป็นประเทศที่เกาหลีลงทุนมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาคอาเซียน รองจากเวียดนามและอินโดนีเซีย
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า คณะนักธุรกิจเกาหลีใต้ถือเป็นคณะแรกที่เดินทางมาเยือนไทยตั้งแต่การผ่อนคลายมาตรการโควิด แสดงถึงการให้ความสำคัญและมองเห็นศักยภาพของไทยในการเป็นแหล่งรองรับการลงทุนสำหรับเกาหลีในอนาคต ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือกันในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มอุตยานยนต์ ดิจิทัล สมาร์ทอิเล็กทรอนิกส์ เทคโนโลยีชีวภาพ และเครื่องจักร