คลังเร่ขายหุ้นหมื่นล้านหอบเงินเพิ่มทุน TG
กระทรวงการคลังเตรียมพิจารณาการขายหุ้นในพอร์ต เพื่อนำเงินไปใช้เพิ่มทุนในบมจ. การบินไทย เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ โดยภาครัฐ ซึ่งหมายถึง กระทรวงการคลังและหน่วยงานในกระทรวงการคลังจะต้องมีหุ้นในบริษัทการบินไทยไม่น้อยกว่า 40%
ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ หรือ สคร. ปานทิพย์ ศรีพิมล ระบุ กระทรวงการคลังเตรียมพิจารณาการขายหุ้นในพอร์ต เพื่อนำเงินไปใช้เพิ่มทุนในบมจ. การบินไทย เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นใหญ่ โดยภาครัฐ ซึ่งหมายถึง กระทรวงการคลังและหน่วยงานในกระทรวงการคลังจะต้องมีหุ้นในบริษัทการบินไทยไม่น้อยกว่า 40% จากปัจจุบันถือหุ้นรวมกันอยู่ที่ 47%
“ยังบอกไม่ได้ว่าจะขายหุ้นตัวไหน ต้องขึ้นอยู่กับระดับนโยบายที่จะพิจารณา แต่โดยหลักการแล้ว เรามีบัญชีซื้อขายหุ้นในพอร์ต เราก็จะใช้เงินตรงนั้น เพราะเราจะไม่ใช้งบประมาณมาเพิ่มทุน คาดว่าจะใช้เงินเพิ่มทุนไม่น้อยกว่า 1 หมื่นล้านบาท”
ที่ผ่านมา ศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบข้อเสนอขอแก้ไขแผนฟื้นฟูกิจการของกทรบินไทย หลังจากนี้ บริษัทก็จะต้องเดินหน้าไปตามแผนที่มีการแก้ไข ทั้งในเรื่องของการปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้เป็นทุน และ การเพิ่มทุน โดยกระทรวงการคลังพร้อมที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งในแผนกำหนดว่า ภาครัฐจะต้องถือหุ้นในบริษัทไม่น้อยกว่า 40%
ผู้อำนวยการ สคร.ยังระบุว่า ผลการดำเนินงานของการบินไทยมีทิศทางที่ดีขึ้น เพราะขณะนี้ ธุรกิจสามารถเปิดให้บริการได้ ขณะเดียวกัน ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทก็ได้ปรับลดค่าใช้จ่ายต่างๆ โดยเฉพาะการลดจำนวนพนักงานลงไปครึ่งหนึ่ง ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่ายที่ลดลง ฉะนั้น ผลการดำเนินงานโดยรวมก็น่าจะดีขึ้น
ประเมินว่า เมื่อการบินไทยปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูแล้ว เมื่อทุนกลายมาเป็นบวก สามารถชำระหนี้ได้ บริษัทจะสามารถกลับเข้าไปลิสต์ในตลาดหลักทรัพย์ฯได้เหมือนเดิม โดยคาดว่า การเข้าไปลิสต์ในตลาดจะเร็วกว่าแผน หรือช่วงปลายปี 2567
“การเพิ่มทุน ต้องดูไทม์มิ่ง แต่สิ่งหนึ่ง คือ ถ้าเขาปรับโครงสร้างหนี้ แปลงหนี้เป็นทุน และ เพิ่มทุน ทุนเขาจะกลับมาเป็นบวก เขาก็จะกลับไปลิสต์ในตลาดได้ ถ้าทิศทางดี ผลประกอบการดี มีเงินใช้หนี้ ก็น่าจะเร็วกว่าแผนเดิม คิดว่า ปลาย 67 ก็จะเข้าลิสต์ในตลาดได้”
++ เล็งขายหุ้นกิจการนอกตลาดฯ ++
สคร.ยังคงมีนโยบายจะขายหุ้นในกิจการนอกตลาดหลักทรัพย์ฯที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่ได้รับมาจากการยึดทรัพย์ในอดีต ขณะนี้ มีอยู่กว่า 20 บริษัท ซึ่งจะต้องประเมินมูลค่าทรัพย์สินเพื่อตีราคาใหม่ หลังจากสถานการณ์ต่างๆได้เปลี่ยนไป โดยสคร.ก็มีคณะกรรมการที่พิจารณาในเรื่องนี้อยู่
“หุ้นนอกตลาด มีราว 20 ตัว ก็ต้องทำดิวดิลิเจนท์ใหม่ เพื่อขายออก ถ้าเป็นหุ้นในตลาดมีราคาอ้างอิง แต่นอกตลาดไม่มีตัวอ้างอิง ต้องมีคนกลางมาประเมิน ส่วนจะขายตัวไหน ก็อยู่ที่คนสนใจซื้อ บางตัวก็ไม่มีคนสนใจ อย่างบางอันได้จากยึดทรัพย์ เช่น อมตะ เขาก็อยู่ระหว่างการเจรจาซื้อคืน แต่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายจะขายกี่ตัว อยู่ที่คนซื้อคนขายและอยู่ที่ราคา”