เบื้องหลังจบศึกประธานบอร์ด ปตท. บทเรียนรัฐวิสาหกิจ "ล้านล้านบาท"

เบื้องหลังจบศึกประธานบอร์ด ปตท. บทเรียนรัฐวิสาหกิจ "ล้านล้านบาท"

เปิดเบื้องหลังศึกภายใน “ปตท.” หลังปล่อยหนังสือ “ทศพร” ประธานบอร์ดลาออกในทุกตำแหน่ง ก่อนพลิกเกมสู้แชร์ข้อมูลภายในองค์กร “ประยุทธ์” รีบเคลียร์ช่วงเช้า เพื่อยุติปัญหา ดัน “ทศพร” นั่งหัวโต๊ะเปิดการประชุมบอร์ด ปตท. วันที่ 27 ต.ค. 2565 เป็นไปตามปกติ เสมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น 

บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT มีกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ถึง 51.11%  นอกจากนี้ ยังเป็นบริษัทที่ช่วงครึ่งปีแรกปี 2565 ที่ผ่านมา ปตท. และบริษัทในกลุ่มทั้งใน และต่างประเทศ มีรายได้ 1,685,419 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิจำนวน 64,419 ล้านบาท ดังนั้นการปรับเปลี่ยนตัวผู้บริหารจึงเป็นที่จับตามอง

ด้วยกระแสความขัดแย้งภายในอย่างหนักของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ถาโถมกลายเป็นเกมการเมืองยิ่งไปใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากการจัดสรรตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทในกลุ่ม ปตท. ส่งผลให้มีการเผยแพร่ภาพถ่ายหนังสือยื่นลาออกจากตำแหน่งประธานคณะกรรมการอิสระ และประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานคณะกรรมการอิสระและประธานกรรมการ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เพื่อขอลาออกจากตำแหน่งในบอร์ด ปตท.ทั้งหมดโดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค.ที่ผ่านมา
ต่อมาเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2565 นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ทำหนังสือชี้แจงผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ระบุว่า ตามที่ปรากฏข่าวในสื่อบางแห่งเกี่ยวกับการลาออกของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ว่า ปตท. ยังไม่ได้รับหนังสือลาออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ และกรรมการอิสระ ของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ตามที่ปรากฏในข่าวแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เมื่อกระแสการลาออกของประธานบอร์ด ปตท. เริ่มมีการปล่อยข้อมูลต่างๆ ออกมา และมีการรายงานข่าวแจ้งว่าเดิม ปตท.จะมีการประชุมบอร์ด เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2565 แต่ต้องมีการเลื่อนการประชุมออกไปก่อน ซึ่งการลาออกของศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร นั้น จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ต้องได้รับการพิจารณาจากคณะกรรมการบอร์ดบริหารด้วย 

ต่อมาได้มีคำสั่งจากฝ่ายการเมืองเพื่อให้กรรมการ ปตท.ลงมติในการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. วันที่ 27 ต.ค.2565 เพื่อถอด ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการ ปตท. โดยให้เหลือเพียงการเป็นกรรมการอิสระเพียงตำแหน่งเดียว เพราะการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งกรรมการ ปตท. จะต้องอาศัยเสียงของที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้นเท่านั้น ถ้ากรรมการผู้นั้นไม่ลาออกในขณะที่ตำแหน่งประธานกรรมการจะเป็นการลงมติของที่ประชุมคณะกรรมการ ดังนั้น ที่ประชุมคณะกรรมการสามารถมีมติเปลี่ยนแปลงตำแหน่งประธานกรรมการได้ 

ซึ่งตามรายงานข่าว ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ไม่ยอมลาออก และยังส่งสัญญาณต่อต้านความเคลื่อนไหวดังกล่าว โดยจะเปิดเผยข้อมูลผ่านแอปพลิเคชัน Line ในการสั่งการบางอย่างที่ฝ่ายการเมืองเข้ามาล้วงลูกอันเป็นที่มาของความขัดแย้ง และความพยายามในการเปลี่ยนตัว ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ในครั้งนี้ 

ทั้งนี้ ก่อนการประชุมบอร์ด ปตท. ปรากฏว่าในช่วงเช้า วันที่ 27 ต.ค. 2565) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อปรับความเข้าใจเกี่ยวกับข่าวการลาออกของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร โดยเฉพาะรอยร้าวในการแต่งตั้งผู้บริหารบริษัทในเครือ ปตท. เพื่อให้สามารถจบลงด้วยดี โดยได้ข้อยุติปัญหาความขัดแย้งการแต่งตั้งผู้บริหารในเครือขณะเดียวกันก็ไม่ต้องมีการเปลี่ยนตัวประธานกรรมการ ปตท.

สำหรับการทำความเข้าใจเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บริหารของบริษัทลูก ปตท. โดยในส่วนบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ได้มีการยอมให้ นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต เป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารของไทยออยล์ โดยนายกรัฐมนตรี ขอให้ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกัน และอย่าได้มีความขัดแย้งกันอีกต่อไป

ส่วนบริษัทลูกของ ปตท. อีกบริษัทที่ ปตท.ถือหุ้น 75% ต้องเข้าสู่กระบวนการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหาร( CEO) ตามขั้นตอนรัฐวิสาหกิจ คือ บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์(OR) ซึ่งก่อนหน้านี้ ได้มีการประชุมผู้บริหารทั้งเครือ ปตท.หลายนัดหลายวาระ และเหลือตัวเลือกที่ดีที่สุด 2 คน คือ นายดิษทัต ปันยารชุน และนายสุชาติ ระมาศ ซึ่งปัจจุบันได้มีการวางตำแหน่งให้นายสุชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้วคือ ตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ในขณะที่ นายดิษทัต ได้ยื่นลาออกจากบอร์ดโออาร์ มีผลตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา เพื่อเข้าสู่กระบวนการสมัครคัดเลือก CEO ตั้งแต่วันที่ 5-25 ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา

นายอรรถพล กล่าวภายหลังประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 27 ต.ค. 2565 ว่า ปตท. มีการจัดประชุมคณะกรรมการ ปตท. ซึ่ง ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ยังคงทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมเพื่อพิจารณาวาระการดำเนินการต่างๆ ตามปกติ โดยยืนยันว่า ปตท. ไม่ได้รับหนังสือลาออกจากคุณทศพร ตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด

ทั้งนี้ คณะกรรมการ ปตท. ยังคงทำหน้าที่ในการกำกับดูแล ปตท. มุ่งบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย รวมทั้งสนับสนุนส่งเสริมให้สามารถบริหารผลการดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปี 2565 จนถึงปัจจุบัน ปตท. มีผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ และยังดูแลสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เกิดความยั่งยืนต่อไป

ผู้สื่อข่าว “กรุงเทพธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังคณะกรรมการ (บอร์ด) ปตท. ภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม และได้รับการยืนยันไปในทิศทางเดียวกันว่า การประชุมบอร์ด ปตท. วันที่ 27 ต.ค. 2565 เป็นการประชุมตามวาระปกติโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ทำหน้าที่เป็นประธานบอร์ดและไม่มีการพูดถึงประเด็นของความขัดแย้งและการลาออกของ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร แต่อย่างใด แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีการพยายามเปิดประชุมเพื่อลงมติอนุมัติการลาออกก็ตาม 

“กรรมการหลายท่านถือว่าให้เกียรติการทำงานร่วมกัน คงไม่มีใครอยากไปรื้อฟื้นถึงปัญหาหรือกระแสข่าวที่เกิดขึ้น เพราะกรรมการทุกท่านถือว่าอยู่ในระดับผู้ใหญ่ทั้งหมด”

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์