ส่องธุรกิจ‘ทวิตเตอร์’ใต้อำนาจบริหารเบ็ดเสร็จสไตล์‘อีลอน มัสก์’

ส่องธุรกิจ‘ทวิตเตอร์’ใต้อำนาจบริหารเบ็ดเสร็จสไตล์‘อีลอน มัสก์’

ส่องธุรกิจ‘ทวิตเตอร์’ใต้อำนาจบริหาร‘อีลอน มัสก์’หลังบรรลุข้อตกลงซื้อกิจการทวิตเตอร์ มัสก์ก็ถอดผู้บริหารระดับสูงออกทันทีอย่างน้อย3 คนพร้อมกระชับอำนาจบริหารบริษัทไว้ในมือตนเอง

“อีลอน มัสก์” มหาเศรษฐีฝีปากกล้า ผู้ชอบออกความเห็นในประเด็นร้อนแรง จนเป็นข่าวไปทั่วโลก ได้ยุบบอรด์บริหารของ ทวิตเตอร์ พร้อมทั้งกระชับอำนาจบริหารบริษัทไว้ในมือตนเองอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 27 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยเนื้อหาที่ระบุในเอกสารของทวิตเตอร์ที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์สหรัฐ (กลต.)ระบุว่า  คณะกรรมการบริหารชุดเดิมทั้งหมดไม่ได้มีบทบาทเป็นผู้อำนวยการทวิตเตอร์อีกต่อไปตามเงื่อนไขข้อตกลงการควบรวมกิจการ

การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ ทำให้ อีลอน มัสก์ กลายมาเป็น “ผู้อำนวยการเพียงหนึ่งเดียวของทวิตเตอร์” แม้ว่าความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจะไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ แต่ก็ตอกย้ำให้เห็นว่ามัสก์รีบเร่งกระชับอำนาจในทวิตเตอร์ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่ทรงอิทธิพลที่สุดของโลกแห่งหนึ่งอย่างรวดเร็ว

หลังจากบรรลุข้อตกลง ซื้อกิจการทวิตเตอร์ มูลค่า 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา อีลอน มัสก์ ก็ถอดผู้บริหารระดับสูงทวิตเตอร์ออกทันทีอย่างน้อย 3 คน โดยให้เหตุผลว่าจงใจทำให้เขาและ ผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์ เข้าใจผิดเกี่ยวกับจำนวนบัญชีปลอมที่มีอยู่บนแพลตฟอร์มของทวิตเตอร์

ผู้บริหารทวิตเตอร์ ที่ อีลอน มัสก์ ปลดออก 3 คน ประกอบด้วย

  1. ปารัก อะกราวาล ซีอีโอทวิตเตอร์
  2. เน็ด ซีกัล ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ)
  3. วิจายา แกดเด ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายกฎหมายและนโยบาย

ด้านสำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า อีลอน มัสก์ ที่ได้ชื่อว่าเป็น บุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก จากการจัดอันดับของ Bloomberg Billionaires Index มีสิทธิอันชอบธรรมในการควบคุมกิจการของทวิตเตอร์อย่างเต็มที่ หลังจากที่เผชิญกับอุปสรรคต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงข้อกฎหมายและการโต้แย้งสาธารณะเป็นเวลานานถึง 6 เดือน

ข่าวระบุว่า อีลอน มัสก์ จะจ่ายเงินให้กับบรรดาผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์ในราคาหุ้นละ 54.20 ดอลลาร์ และขณะนี้ ทวิตเตอร์จะดำเนินงานในฐานะบริษัทเอกชน

นอกจากนี้ มัสก์ยังวางแผนทบทวนนโยบายการตรวจสอบเนื้อหา และการห้ามใช้งานถาวรสำหรับผู้ใช้งานที่เคยละเมิดนโยบายทวิตเตอร์มาก่อน ซึ่งรวมถึงโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ แม้มัสก์จะระบุเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาว่ายังไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องที่สำคัญก็ตาม

เอกสารที่ อีลอน มัสก์ ลงนามไว้กับกลต. ระบุชัดเจนว่า อีลอน มัสก์ เป็นซีอีโอของทวิตเตอร์ ถือเป็นการปิดฉากกระแสข่าวลือหรือคาดการณ์เกี่ยวกับตำแหน่งของ อีลอน มัสก์ และบริษัทใหม่ล่าสุดของเขา แต่ถึงแม้ว่ามัสก์จะเป็นซีอีโอ แต่เชื่อได้ว่า มัสก์น่าจะทำงานในตำแหน่งนี้แค่ชั่วคราวเท่านั้น ก่อนที่จะส่งไม้ต่อให้กับผู้บริหารมืออาชีพก้าวขึ้นมาทำหน้าที่นี้แทน

หลังจาก อีลอน มัสก์ ได้เข้ามาทำหน้าที่ในฐานะเจ้าของทวิตเตอร์คนใหม่ งานแรกที่เขาลงมือทำนอกจากไล่ผู้บริหารทวิตเตอร์ชุดเก่าออกจนหมดแล้ว ยังมีข่าวว่า เขาได้ส่งพนักงานของเทสลาเข้ามาพูดคุยกับหัวหน้าฝ่ายต่างๆ ของทวิตเตอร์ และมัสก์ต้องการรื้อโปรเจกต์ Vine ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันวิดีโอโซเชียลขนาดสั้น ที่มีมาก่อนติ๊กต่อกให้กลับมาคึกคักอีกครั้งหนึ่ง

รวมถึงการเข้าไปสำรวจแนวทางถึงความเป็นไปได้ที่จะชาร์จราคาของ Twitter Blue ให้แพงขึ้นจากเดิม 4.99 ดอลลาร์ เป็น 19.99 ดอลลาร์ แลกกับการได้ฟีเจอร์ต่างๆ มากกว่าผู้ใช้งานทั่วไป

รายชื่อผู้เข้าร่วมถือหุ้นทวิตเตอร์ 

ขณะที่ รายชื่อผู้ถือหุ้นทวิตเตอร์ นอกเหนือจากตัว อีลอน มัสก์แล้ว เอกสารของ กลต. ระบุชัดเจนว่ามี

  • สถาบันการเงิน ที่เป็นแหล่งเงินทุนสำหรับการเทกโอเวอร์ครั้งนี้
  • แจ็ค ดอร์ซีย์ อดีตซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้งทวิตเตอร์
  • บริษัทคิงดอม โฮลดิง ของเจ้าชายอัลวาลิด บิน ทาลัล แห่งซาอุดีอาระเบีย

ซึ่งทั้งหมดนี้จะเข้าร่วมถือหุ้นในบริษัทใหม่ของทวิตเตอร์ที่มีชื่อว่า “เอ็กซ์ โฮลดิงส์ วัน”

 

นอกจากนี้ หลังจากมัสก์ บรรลุข้อตกลงเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ได้ไม่ถึง24ชม. มักส์ก็ตัดสินใจเปลี่ยนหน้าโฮมเพจของทวิตเตอร์เสียใหม่เมื่อวันศุกร์(28 ต.ค.) ที่ผ่านมา โดยแหล่งข่าววงในในกลุ่มพนักงานของทวิตเตอร์ กล่าวกับเว็บไซต์เดอะ เวิร์จว่า มัสก์ ต้องการให้ผู้ใช้ที่ล็อกเอาท์ออกไปแล้วและเข้าในเว็บไซต์ Twitter.com จะเข้ามายังหน้า Explore โดยตรง ซึ่งจะแสดงหมวดของเทรนด์ของทวีตและข่าวที่กำลังเกิดขึ้น จากเดิมที่โฮมเพจของ Twitter จะขึ้นเป็หน้าแบบฟอร์มให้ลงทะเบียนและสร้างบัญชีผู้ใช้เพื่อเข้าดูทวีตต่าง ๆ

แม้ว่ามัสก์จะไม่เปิดเหตุผลในการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ แต่พนักงานของทวิตเตอร์ กล่าวว่า เป็นการส่งสาส์นที่ชัดเจนว่า จะไม่มี Sacred Cows หรือ วัวศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเป็นคำเปรียบเปรยถึงบุคคลที่ผู้อื่นไม่สามารถแตะต้องได้อีกต่อไป 

ทวิตเตอร์ในอดีตนั้น ทีมงานจะใช้เวลาในการพิจาณราการตัดสินใจในกรณีต่าง ๆ นานหลายสัปดาห์ แต่ทวิตเตอร์โฉมใหม่ ทุกอย่างจะเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว

การเปลี่ยนหน้าโฮมเพจ เป็นหนึ่งในตัวอย่างวิธีการของมัสก์ที่เริ่มเปลี่ยนทวิตเตอร์อย่างรวดเร็วในทุก ๆ ด้าน จากผู้บริหารหลักของบริษัทไปจนถึงพนักงานทุกระดับ รวมถึงพิจารณาจะใช้สตาร์ลิงก์ ซึ่งเป็นบริการดาวเทียมอินเตอร์เน็ตที่สเปซเอ็กซ์พัฒนาขึ้น มาใช้ในการทำให้ผู้คนทั่วโลกสามารถเข้าถึงทวิตเตอร์ได้ แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่ามัสก์อาจเตรียมเลิกจ้างพนักงานหลายคนในเร็ววันนี้ โดยตอนนี้พนักงานจะต้องทำงานที่ได้รับมอบหมายจากมัสก์ให้แล้วเสร็จแม้ว่าจะต้องอยู่ทำงานจนดึกหรือทำงานในช่วงวันหยุดสัปดาห์ก็ตาม โดยผู้จัดการจะคอยดูว่าพนักงานคนใดบ้างที่จะถูกเลิกจ้าง ซึ่งสร้างความตึงเครียดให้แก่พนักงานเป็นอย่างมาก

สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า นับตั้งแต่มัสก์เสนอซื้อกิจการทวิตเตอร์ในเดือนเม.ย. ราคาหุ้นเทสลา ก็สูญเสียมูลค่าตลาดไป 1 ใน 3 เทียบกับการปรับตัวลดลง 12% ของดัชนีเอสแอนด์พี 500 ในช่วงเวลาเดียวกัน