เปิดผลสำรวจการลงทุนจีนในไทย พบ 6 อุปสรรคสำคัญลงทุนในไทย

เปิดผลสำรวจการลงทุนจีนในไทย พบ  6 อุปสรรคสำคัญลงทุนในไทย

หอการค้าไทยจับมือทูตจีน จัดสัมมนาเ“Thailand-China Investment Forum” กระชับความเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างไทยและจีน “นายกฯ”ย้ำไทยพร้อมรับนักลงทุนต่างประเทศ เปิดผลสำรวจนักลงทุนจีน พบ 6 ปัญหาสำคัญต้องเร่งแก้ไขเพิ่มโอกาสลงทุนไทยเพิ่ม

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังร่วมกับ นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย จัดงาน “Thailand-China Investment Forum”  ซึ่งจัดขึ้น ณ โรงแรมแชงกรี-ล่า กรุงเทพฯ โดยมีผู้เข้าร่วมงาน ประกอบด้วย ภาครัฐ ภาคเอกชน และนักธุรกิจจากไทยและจีน กว่า 500 คน และมีผู้เข้าร่วมรับฟังผ่านการถ่ายทอดการประชุมออนไลน์ไปยังประเทศจีน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ และนักธุรกิจจีนที่สนใจลงทุนในประเทศไทย อีกประมาณ 500 คน ทั้งนี้ ได้รับเกียรติจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวเปิดงาน

ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับจีนที่มีความแน่นแฟ้นมีพลวัตทุกระดับ จีนถือเป็นคู่ค้าและคู่มิตรที่สำคัญของไทย และในปี 2565 นี้ ถือเป็นปีครบรอบหนึ่งทศวรรษของความเป็น “หุ้นส่วนความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์อย่างรอบด้าน” ระหว่างกัน ซึ่งไทยได้สนับสนุนบทบาทเชิงสร้างสรรค์ของรัฐบาลจีน ตามแผนริเริ่มการพัฒนาโลก (Global Development Initiative: GDI) สอดคล้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทย และพร้อมส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อดึงดูดนักลงทุนจากต่างประเทศ โดยยกระดับโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศเชื่อมโยงกับภูมิภาคและโลก รวมถึงการพัฒนา EEC เชื่อมโยงกับข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative: BRI) ทั้งนี้ การเป็นเจ้าภาพการประชุมเอเปคของไทยในปีนี้ ยังได้รับการสนับสนุนจากจีนเป็นอย่างดี และเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จะเดินทางเข้าร่วมการประชุมกลางเดือนนี้ด้วยตนเอง แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์และความเป็นหุ้นส่วนที่แนบแน่นของทั้งสองประเทศอย่างแท้จริง

สำหรับไฮไลท์ที่สำคัญของงานนี้คือ การนำเสนอผลการศึกษาของคณะทำงาน Taskforce ไทย-จีน ที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย ได้ทำการศึกษาปัญหา อุปสรรค ความท้าทาย และโอกาสในการส่งเสริมการค้า การลงทุนร่วมกันของทั้งสองประเทศ โดยผลการสรุปที่สำคัญ พบว่า

อุปสรรคการลงทุนของจีนในไทยคือ

1. ปัญหาด้านแรงงาน ที่มีผลมาจากการขาดแคลนแรงงานขาดทักษะด้านภาษา ขาดความรู้ทางเทคนิคหรือความรู้เฉพาะทาง และค่าจ้างแรงงานในประเทศไทยสูง

2. ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ ที่ถือว่าไม่ครอบคลุมและยังไม่เชื่อมโยงกันทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ รวมถึงการดำเนินการล่าช้า

3. กฎระเบียบไม่เอื้อต่อนักลงทุนจีน นักลงทุนจีนจำนวนไม่น้อยมีความไม่เข้าใจและกังวลใจต่อกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ของไทย ด้วยกฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ เหล่านั้นอาจจะล้าสมัย สร้างความยุ่งยาก ไม่มีความชัดเจน

4. ปัญหานโยบายด้านการลงทุนของไทยยังเป็นภาพกว้าง นักลงทุนจีนส่วนใหญ่จึงไม่ทราบว่ามีหน่วยงานที่คอยช่วยเหลือและให้ข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในไทยได้ และไม่เน้นตอบโจทย์กลุ่มนักลงทุนจีน

5. ปัญหาการซื้อที่ดินของนักลงทุนจีน ยังมีข้อจำกัดบางประการและไม่มีความชัดเจน เช่น จำนวนเงินลงทุน จำนวนที่ดิน วัตถุประสงค์การใช้ที่ดิน ลักษณะการลงทุน และ

6. ปัญหาอุตสาหกรรมบางประเภทมีอุปสงค์ในไทยต่ำ ตลาดมีขนาดไม่ใหญ่หรือน่าดึงดูด ความต้องการการบริโภคน้อย การผูกขาดในตลาดของผู้ผลิตหน้าเก่า อุตสาหกรรมจำนวนมากจนสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ทั้งหมดแล้ว เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ

แนวทางการสนับสนุนให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน

ทั้งนี้ จากการศึกษาคณะทำงานฯ ของ 2 ประเทศ ได้นำเสนอแนวทางที่เกี่ยวข้องเพื่อสนับสนุนให้เกิดการค้าการลงทุนระหว่างไทย-จีน ให้มากขึ้น ประกอบด้วย

1. การปรับปรุงกลไกความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนไทย-จีน จัดตั้งและปรับปรุงกลไกการเจรจาในระดับทางการ จัดตั้งแพลตฟอร์มเพื่อแบ่งปันข้อมูลทางการค้าและการลงทุนทั้งภาษาจีนและภาษาไทย จัดตั้งเครือข่ายวิสาหกิจไทย-จีน รวมถึงการแลกเปลี่ยนระหว่างสมาคมอุตสาหกรรมต่างๆ และหอการค้าฯ ระหว่างไทยและจีน เพื่อแสดงบทบาทเป็นสะพานเชื่อมระหว่างสมาคมและหอการค้าอย่างมีประสิทธิภาพ

2.ขยายขอบเขตความร่วมมือด้านการลงทุนของจีนในประเทศไทย โดยสอดประสานกับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรม 4.0 และการสร้างระเบียงเศรษฐกิจ EEC ใช้ประโยชน์จาก RCEP การสร้างเขตการค้าเสรีจีน-อาเซียน การยกระดับความร่วมมือล้านช้าง-แม่น้ำโขง การเชื่อมโยงการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ด้วยรถไฟจีน ลาว ไทย

3.การพัฒนานิคมอุตสาหกรรมไทย-จีน หรือสำรวจรูปแบบความร่วมมือในลักษณะเป็นสองประเทศสองนิคม

4. กระชับความร่วมมือไทย-จีนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทย-จีน ผลักดันการศึกษาทางภาษาให้ลงลึก สร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันอุดมศึกษาและวิสาหกิจระหว่างไทยและจีน ตลอดจนการจัดตั้งทุนการศึกษาของทั้งสองประเทศ

5. ปรับปรุงระบบบริการข้อมูลการลงทุน โดยพัฒนาระบบบริการแบบครบวงจรของไทย จัดทำบัญชี WeChat ของการลงทุนในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ใช้ภาษาจีนเพื่อสื่อสารนโยบายที่เกี่ยวข้องและขั้นตอนการลงทุน รวมถึงเพิ่มสาขา BOI ที่ปัจจุบันมีอยู่ 3 แห่งในประเทศจีน

“ประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเทศจีน โดยเฉพาะด้านการค้า การลงทุน ซึ่งไทยมีศักยภาพและความพร้อมที่จะต้อนรับการลงทุนตรงจากจีนในประเทศไทย จึงเกิดเป็นความริเริ่ม เมื่อ 6 เดือนที่แล้ว ระหว่างหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กับ สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมุ่งหวังว่าผลการศึกษาครั้งนี้ จะนำไปสู่การขับเคลื่อนให้เกิดการลงทุนระหว่างไทยและจีนในทุกมิติอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสและการฟื้นตัวของภาคการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวระหว่างกันให้กลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดในปีหน้า”นายสนั่น กล่าว