การท่องเที่ยว...ความหวังของหมู่บ้าน | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

การท่องเที่ยว...ความหวังของหมู่บ้าน | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

ก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 ประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างประเทศสูงเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐ ฝรั่งเศสและสเปน เพราะเรามีนักท่องเที่ยวเข้ามาสูงเป็นประวัติการณ์เกือบ 40 ล้านคน

แต่แล้วการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวระหว่างประเทศถูกตัดขาด กิจกรรมทางเศรษฐกิจในสาขาที่เกี่ยวข้องกับโรงแรม ภัตตาคาร การคมนาคมขนส่ง หดตัวสูงอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยหดตัวถึงร้อยละ -6.2 ต่อปี

หลังจากเศรษฐกิจไทยตกอยู่ในมรสุมเศรษฐกิจมา 2 ปีกว่าๆ เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเป็นลำดับ จากหดตัวร้อยละ 6.2 ต่อปี เป็นขยายตัวร้อยละ 1.5 ต่อปีในปี 2564 และคาดว่าในปี 2565 จะขยายตัวได้ดีขึ้นที่ร้อยละ 3.4 ต่อปี ส่วนปีหน้า 2566 ก็ขยับขึ้นเป็นร้อยละ 3.8 ต่อปี เครื่องยนต์ขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจฟื้นตัวในปีนี้และปีหน้าคงหนีไม่พ้น “ภาคการท่องเที่ยว”

นับตั้งแต่ประเทศเผชิญวิกฤติโควิด-19 ในปี 2563 เป็นต้นมา รัฐบาลได้ออกมาตรการหลายอย่าง ทั้งเยียวยา กระตุ้น และฟื้นฟู ส่วนใหญ่ผ่านการบริโภคภาคเอกชนเป็นหลัก เพราะเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจได้เร็วที่สุด และตรงตัวผู้ได้รับผลกระทบที่สุด 

แต่แม้ว่าการบริโภคภาคเอกชนจะมีขนาดของเครื่องยนต์ใหญ่มากเป็นอันดับที่ 2 รองจากการส่งออกสินค้า (สัดส่วนต่อ GDP ประมาณร้อยละ 54) แต่ก็ไม่อาจต้านมรสุมโควิด-19 ลูกนี้ได้ ทำได้เพียงพยุงกำลังซื้อและบรรเทาภาระค่าครองชีพของผู้บริโภคเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มคนตัวเล็กอันเป็นฐานการบริโภคที่สำคัญของประเทศ ซึ่งบทความครั้งก่อนๆ ผมได้พูดถึงไปแล้ว

ในปี 2564 เศรษฐกิจโลกยังพร้อมใจกันอัดฉีดเม็ดเงินลงสู่ระบบเศรษฐกิจของตัวเองต่อเนื่องจากปี 2563 ทำให้เศรษฐกิจโลกค่อยๆ ฟื้นตัว ส่งผลให้การส่งออกสินค้าของประเทศต่างๆ ที่อั้นมานานเริ่มมีช่องทางการระบายไปขายยังประเทศคู่ค้า

ทำให้ประเทศที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าเป็นหลักอย่างประเทศไทย (สัดส่วนต่อ GDP ประมาณร้อยละ 62) จึงฟื้นตัวตามไปด้วย

การท่องเที่ยว...ความหวังของหมู่บ้าน | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

ดังนั้น อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจที่พลิกกลับจากลบมาเป็นบวกที่ร้อยละ 1.5 ต่อปีในปี 2564 ต้องยอมรับว่า พระเอกของเราคือ การส่งออกสินค้า

ต่อมาในปี 2565 เศรษฐกิจโลกเผชิญวิกฤติครั้งใหม่ คือความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อสูงกระจายไปทั่วโลก ทำให้ราคาสินค้าและบริการต่างๆ ในแต่ละประเทศปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อค่าครองชีพของประชาชน 

หลายประเทศจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ ทั้งอัตราเงินเฟ้อที่เป็นจริงและที่คาดการณ์ สถานการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการซ้ำเติมให้เศรษฐกิจฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดการณ์

เมื่อเดือนที่ผ่านมา กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ออกมาคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2565 จะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.2 ต่อปี และปีหน้า 2566 จะชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.7 ต่อปี

เพราะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน เป็นชนวนให้เกิดสงครามเงินเฟ้อระหว่างราคาสินค้าและบริการและธนาคารกลางของแต่ละประเทศ และดูเหมือนสงครามนี้จะยืดเยื้อไปอีกสักพัก โดยเฉพาะในสหรัฐและยุโรป

ที่น่าสนใจคือ IMF มองว่าเศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวสวนทางกับเศรษฐกิจโลก โดยในปี 2565 ไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 2.8 ต่อปี ส่วนปี 2566 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี ซึ่งทิศทางนี้ไม่ได้สร้างความแปลกใจมากนัก 

เพราะนักเศรษฐศาสตร์ในประเทศเกือบทุกค่ายก็เห็นตรงกันว่า ปี 2566 น่าจะขยายตัวได้ดีกว่าปี 2565 ซึ่งตัวที่ทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ดีขึ้นคือการท่องเที่ยว นั่นเอง

การท่องเที่ยว...ความหวังของหมู่บ้าน | พงศ์นคร โภชากรณ์ 

หลังจากที่ประเทศไทยมีการยกเลิกระบบ Thailand Pass ในเดือน ก.ค.2565 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมาแตะระดับ 1 ล้านคนต่อเดือน ต่อเนื่องเรื่อยมาจนถึงเดือน ต.ค.เป็นเดือนที่ 4 ส่งผลให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามาแล้วกว่า 7 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศประมาณ 2.5 แสนล้านบาท 

ส่วนในช่วง 2 เดือนที่เหลือถือเป็นช่วงเวลาสำคัญ เพราะเป็นฤดูท่องเที่ยวของไทย (High Season) และอาจจะได้ผลบวกของค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงด้วยมาช่วยเสริม หากในช่วง 2 เดือนที่เหลือ เข้ามาเฉลี่ยเดือนละ 1.5 ล้านคน จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศทั้งปีก็จะแตะ 10 ล้านคน ตามที่ตั้งเป้าไว้ 

และคาดว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างประเทศต่อคนต่อทริปน่าจะอยู่ที่ 47,000 บาท ซึ่งยังต่ำกว่าปี 2562 ก่อนเกิดโควิด-19 และหากเป็นไปตามนี้ เศรษฐกิจไทยในปีนี้จะขยายตัวได้ร้อยละ 3.4 ต่อปี

ส่วนปี 2566 มองกันไว้ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศน่าจะทะลุ 20 ล้านคน สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1 ล้านล้านบาท ซึ่งระดับสูงสุดที่เราเคยทำได้ก่อนเกิดโควิด-19 คือ 2 ล้านล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายต่อคนต่อทริปจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 48,000 บาท ใกล้เคียงระดับเดิมก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ร้อยละ 3.8 ต่อปี

แล้วความเสี่ยงที่จะดับฝันการท่องเที่ยวของไทยมีอะไรบ้าง ผมมองว่ามีอยู่ 3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตัดสินใจมาเที่ยวประเทศไทย ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกทั้งสิ้น 

ปัจจัยที่ 1 ปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ช่องแคบไต้หวัน (จีนและจีนไต้หวัน) และคาบสมุทรเกาหลี (เกาหลีใต้และเกาหลีเหนือ)

ปัจจัยที่ 2 เศรษฐกิจโลกชะลอตัวตามที่ IMF ออกมาเตือนเอาไว้

ปัจจัยที่ 3 นักท่องเที่ยวชาวจีน ซึ่งเป็นลูกค้ารายใหญ่สุดของไทย ยังไม่สามารถออกมาเที่ยวได้อย่างเต็มที่ แม้ว่าจะมีสัญญาณบวกจากการที่รัฐบาลจีนลดวันกักตัวจาก 14 วัน เหลือเพียง 7 วัน

ที่เล่ามาทั้งหมด แม้จะเห็นทิศทางที่แจ่มชัดของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอันเกิดจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว แต่สิ่งที่เป็นความท้าทายในอนาคต ก็คือการเดินทางมาประเทศไทยของนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ยังกระจุกตัวไม่เกิน 4-5 จังหวัดเท่านั้น ได้แก่ กรุงเทพฯ ชลบุรี ภูเก็ต เชียงใหม่ และสงขลา

ทำให้เม็ดเงินนับแสนล้านในปีนี้และล้านล้านในปีหน้าไม่ลงไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจฐานราก ไม่ถึงหมู่บ้าน พ่อค้าแม่ขาย และคนตัวเล็ก ฉะนั้น รัฐบาลต้องหาวิธีดึงเงินลงเส้นเลือดฝอยให้ได้ เศรษฐกิจฐานรากจะได้ฟื้นตัวแบบหน้ากระดาน

การท่องเที่ยวจึงจะเป็นความหวังของหมู่บ้านอย่างแท้จริง. 

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด

คอลัมน์ ตีโจทย์เศรษฐกิจ 
พงศ์นคร โภชากรณ์
ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค
สำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)  
[email protected]