ส่งออกไทยปี 66 เตรียมรับมือเศรษฐกิจโลกชะลอตัว
ปี 65 ส่งออกไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ทำทั้งปีโตได้ 8 % แต่ปี 66 ต้องเผชิญความเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว กดดันส่งออกไทย เอกชน แนะเร่งเจรจามินิเอฟทีเอ สร้างแต้มต่อทางการค้า
การส่งออกในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน ยังถือเป็นพระเอกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย หลังการท่องเที่ยวที่ถูกพิษโควิดทำให้หยุดชะงัก แต่หลังจากโควิดคลาย การท่องเที่ยวไทยเริ่มกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งแต่ก็เป็นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ดังนั้น การส่งออกไทย ก็ยังคงเป็นพระเอกอย่างต่อเนื่อง โดยปีนี้การส่งออกไทยคาดว่าจะขยายตัวได้ 8 % มูลค่า 292,867 ล้านดอลลาร์ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโควิด ความต้องการอาหารโลกยังคงสูงจากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน ปัญหาเซมิคอนดักเตอร์คลี่คลายลง ส่งผลให้การส่งออกไทยยังโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเกษตรและอุตสาหกรรมยานยนต์
สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) วิเคราะห์ว่า ปัจจัยหลักที่ยังเป็นแรงหนุนส่งออกช่วงโค้งสุดท้ายปลายปีคือ
1. ค่าเงินบาทยังเคลื่อนไหวในทิศทางที่อ่อนค่าต่อเนื่อง ส่งผลต่อการส่งออกสินค้าของไทยที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local Content) สูงได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะการส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลาง และ
2. สถานการณ์วิกฤตอาหารทั่วโลก ส่งผลให้สินค้าไก่ (แช่เย็น แช่แข็ง และแปรรูป) และอาหารกระป๋องแปรรูปของไทย ส่งออกไปสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมไปถึงสินค้าข้าวด้วย ราคาน้ำมันที่ทรงตัวแม้จะอยู่ในระดับสูง และ ค่าระวางที่คลี่คลาย
อย่างไรก็ตามในปี 2566 สรท.ประเมินว่า การส่งออกไทยจะขยายตัว 2.5 % โดยประเมินจากการส่งออกในปี 65 ที่ปริมาณไม่ได้เพิ่มขึ้น แต่ราคาวัตถุดิบและราคาขายส่งเพิ่ม จึงเพิ่มราคาต่อหน่วย แต่สิ่งที่เป็นปัจจัยที่สำคัญและต้องจับตาสถานการณ์ตลอดเวลาคือ เศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณการชะลอตัว ที่เป็นผลจากสาเหตุหลักคือ ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกันเงินเฟ้อ ส่งผลทำให้ อุปสงค์และกิจกรรมทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอลง เนื่องจากต้นทุนทางการเงินปรับสูงขึ้นตามทิศทางดอกเบี้ย ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น
ดัชนีภาคการผลิต หรือ Manufacturing PMI ในประเทศคู่ค้าสำคัญ อาทิ สหรัฐ ยุโรป จีน เกาหลีใต้ เริ่มส่งสัญญาณหดตัวลดลงเล็กน้อยในช่วงเดือนก.ย.และต.ค.เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น ทั้งนี้องค์การการค้าโลก (WTO) คาดว่าในปี 2566 การค้าโลกจะเติบโตได้ในระดับต่ำแค่ 1% ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ คาดการณ์จีดีพีโลกปี 66 เหลือโต 2.7% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 2.9%
จากสถานการณ์ดังกล่าว เป็นไปได้ที่การส่งออกของไทยปี 66 จะเป็นไปตามที่ สรท.คาดการณ์ไว้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคงต้องวางแนวทางรับมือไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อผลักดันการส่งออกของไทยให้สามารถขับเคลื่อนได้ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมส่งเสริมการส่งออก การสร้างแต้มต่อทางการค้า โดยเฉพาะการทำ มินิเอฟทีเอในเมืองที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ซึ่งจะเป็นตัวช่วยในการผลักดันการส่งออกของไทยและลดอุปสรรคทางการค้า เพราะหากจะหวังเอฟทีเอน่าจะเป็นไปไม่ได้ในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
“ นายเกรียงไกร เธียรนุกุล "ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มองว่า การทำมินิเอฟทีเอ จะเป็นเครื่องมือสำคัญของไทยในการส่งออก ในการแข่งขันที่รุนแรงท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญวิกฤตถดถอยในขณะนี้โดยเฉพาะการทำมินิเอทีเอกับเมืองใหญ่ หรือมณฑลต่างๆที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจสูง เพื่อสร้างตลาดใหม่ เพราะใช้เวลาในการเจรจาน้อยกว่า ที่ผ่านมาไทยได้ทำมินิเอฟทีเอไปแล้ว 5 ฉบับ ซึ่งเราควรใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพเอเปค เจรจากับ 21 เขตเศรษฐกิจเพื่อทำมินิเอฟทีเอในเมืองที่มีเศรษฐกิจใหญ่ และมีกำลังซื้อสูงของ 21 เขตเศรษฐกิจ เพื่อสร้างแต้มต่อทางการค้าและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย
ปีนี้ส่งออกไทยอยู่ในมือแล้ว 8% หากไม่มีอะไรผิดพลาดในช่วงเวลาที่เหลือ แต่ปี 66 ถือเป็นอีกปีที่ท้าทายการส่งออกของไทยอีกครั้ง ซึ่งไทยจำเป็นต้องเตรียมรับมือตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป