เอเปค 2022 : เรื่องที่ควรใส่ใจกว่าใครจะมา? | อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
รัฐสภาไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 (Asia Pacific Parliamentary Forum : APPF 30) ในหัวข้อ "บทบาทของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาที่ยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”
และอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค (APEC) ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพเช่นกัน ก็จะเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ
ตั้งแต่ต้นปีนี้ ไทยในฐานะเจ้าภาพก็ได้จัดการประชุมทั้งระดับนโยบาย ผ่านวงประชุมรัฐมนตรีต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง (Ministerial Meetings) และระดับปฏิบัติการ ผ่านวงประชุมของเจ้าหน้าที่อาวุโส (SOM) ตลอดจนการประชุมของสภาที่ปรึกษาธุรกิจเอเปค (ABAC) โดยเป็นการทำหน้าที่ครั้งที่ 3 ต่อจากการเป็นเจ้าภาพในปี 2535 และ 2546
แน่นอนที่สุด เอเปคเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ขณะก่อตั้งใหม่ๆ กับเอเปควันนี้ ย่อมมีพัฒนาการความก้าวหน้าไปไม่น้อย แต่เมื่อเทียบกับการพัฒนาเรื่องอื่นๆ ของโลก
สำหรับเวลา 30 กว่าปี ก็อาจถือว่าช้าไป ไม่ต้องดูอื่นไกล ดูที่ของใกล้ตัว เช่น โทรศัพท์มือถือ 30 ปีก่อนกับตอนนี้ หรือสถานีรถไฟรังสิตบ้านเราเมื่อ 10 ปีที่แล้วกับปัจจุบัน เป็นต้น
จึงไม่แปลกที่เอเปคมักถูกวิจารณ์ว่าไม่ค่อยมีอะไรสำเร็จเป็นมรรคผล เข้าทำนอง “งานโชว์” ไม่ใช่ “งานใช้” เรื่องที่เคยพูดกันในถ้อยแถลงของปฏิญญากรุงเทพ (Bangkok Declaration) เมื่อวันที่ 11 ก.ย.2535 และวันที่ 21 ต.ค. 2546 ทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นหัวข้อหารือเหมือนเดิม
ไม่ว่าจะเป็นการผลักดันส่งเสริมศักยภาพ SMEs หรือความร่วมมือทางสาธารณสุข ที่ยังคงค้างคาและไม่สามารถช่วยผู้ประกอบการได้เต็มที่ หรือไม่สามารถรองรับกับโรคอุบัติใหม่ต่างๆ เช่น เหตุการณ์โควิดที่ผ่านมา
สาเหตุหลักคือ จุดสนใจในการประชุมแต่ละครั้ง กลับกลายเป็นให้น้ำหนักหรือจับจ้องอยู่กับภาพลักษณ์ที่ว่า ผู้นำคนใดจะให้เกียรติมาร่วมโชว์ตัวบ้าง มากกว่าการผลักดันประเด็นต่างๆ
ดังนั้น ไทยควรใช้โอกาสในการเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ หันเหน้ำหนักของความสนใจจากพิธีกรรม หรือลุ้นว่าใครจะมาบ้าง ไปสู่วิธีบรรลุความตกลงภาคปฏิบัติเพื่อนำไปสู่นโยบายที่ใช้ได้จริง เรื่องหนึ่งที่เอเปคให้ความสนใจอย่างมากแทบทุกครั้งคือ ระบบห่วงโซ่อุปทาน ที่ทุกวันนี้อาศัยการพึ่งพาระหว่างประเทศกันมากขึ้น
จากรายงานของเอเปคเมื่อต้นปี กระบวนการผลิตโทรศัพท์มือถือเครื่องหนึ่งอาจต้องใช้วัตถุดิบและเกี่ยวข้องกับประเทศต่างๆ ถึง 49 ประเทศ หรือการผลิตวัคซีนตัวหนึ่งต้องอาศัยผู้จัดหาวัตถุดิบหรือส่วนประกอบถึง 5,000 ราย ซึ่งก็เป็นหลักการผลิตที่เน้นประสิทธิภาพและราคา
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิดได้เข้ามาสร้างความเสียหายให้กับระบบห่วงโซ่อุปทานดังกล่าวในหลายมิติ ทั้งมิติแรงงานที่มุ่งเน้นไปผลิตสินค้าการทางแพทย์ มิติการขนส่งที่มีข้อจำกัดทางการเข้าออกประเทศ เป็นต้น
ยิ่งประเทศใดมีสัดส่วนการพึ่งพาระบบห่วงโซ่อุปทานจากต่างประเทศมากเท่าไร ก็ยิ่งมีความเสี่ยงมาก เช่น ประเทศไทยที่ยึดโยงอยู่กับระบบนี้กว่า 40% ก็จะกระทบมากเป็นพิเศษ ดังที่มีการวิเคราะห์ค่าผลกระทบเชิงลบ หรือค่า Log-COVID Shock ซึ่งเป็นค่าส่วนต่างของ GDP จริง เทียบกับตัวเลขประมาณการปี 2563
โดยนำมาคำนวณทางคณิตศาสตร์เปรียบเทียบ หากยิ่งติดลบมากแสดงว่าได้รับผลกระทบมาก ซึ่งจีน สหรัฐ ญี่ปุ่น อยู่ต่ำกว่าลบ 5 แต่สำหรับเรา สูงถึงเกือบติดลบ 10 แต่นอกจากไทยแล้ว สมาชิกในเขตเศรษฐกิจเอเปคอีกไม่น้อยก็เจอปัญหาหนักแบบเดียวกัน เช่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง และเม็กซิโก
เมื่อเห็นภาพแบบนี้ที่ว่า เราจำเป็นต้องพึ่งพาระบบห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศ เพื่อการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพและราคาแข่งขันกับตลาดโลกได้ แต่การพึ่งพานี้ก็มาพร้อมกับความเสี่ยง ไทยจึงควรอาศัยบทเรียนจากโควิดที่ผ่านมาในการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลวางแนวทางให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ซึ่งต้องอาศัยระบบห่วงโซ่อุปทานของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังที่ได้เคยกล่าวถึงในคอลัมน์นี้คราวก่อนว่า หนึ่งในปัจจัยกำหนดความสำเร็จสำหรับ EV คือ ชิ้นส่วนหลักและเทคโนโลยีการผลิต ยังต้องอาศัยการนำเข้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นลิเธียมสำหรับผลิตแบตเตอรี่ ซิลิคอนสำหรับชิปเซมิคอนดักเตอร์ เหล็กหรือโลหะชนิดพิเศษต่างๆ ในขณะที่ผู้ผลิตรถในต่างประเทศก็ต้องพึ่งพายางรถยนต์จากเรา
ไทยจึงควรใช้โอกาสที่เป็นเจ้าภาพเอเปค เพื่อเดินหน้าวางแนวทางการเจรจาแลกเปลี่ยนสิ่งที่ไทยและสมาชิกต้องการจากกันและกัน เพื่อเอื้อและอิงประโยชน์ให้พึงพอใจด้วยกันทุกฝ่าย สมกับหัวข้อหลักที่กำหนดในการประชุมเอเปคครั้งนี้ว่า Open. Connect. Balance. หรือ เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล
ถึงแม้ว่าเราอาจไม่สามารถจะทำให้เอเปคครั้งนี้มีการพัฒนาแบบก้าวกระโดด แต่หากเราเปลี่ยนเวทีเอเปคให้เป็น “งานใช้” มากกว่า “งานโชว์” ให้เกิดผลในภาคปฏิบัติ แม้จะเป็นเพียงประเด็นย่อย เช่น ระบบห่วงโซ่อุปทานที่เอเปคเองก็ให้ความสนใจอยู่แล้ว
อย่างน้อยเราก็จะสามารถสร้างค่านิยมใหม่ที่เจ้าภาพอาจไม่ต้องไปกังวลว่าจะเกณฑ์ผู้นำเบอร์หนึ่งคนไหนมาได้บ้าง ต้องเอาสิ่งจูงใจอะไรไปนำเสนอบ้าง เพียงเพื่อให้คนเหล่านี้มาโชว์ตัว
แต่มุ่งทำให้เอเปคเป็นการประชุมที่ผู้นำทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจต่างรอคอยและอยากมาเข้าร่วมด้วยตัวเอง ซึ่งหากทำได้ คงต้องปรบมือในผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาลชุดนี้ในฐานะเจ้าภาพเลยทีเดียว