หอการค้าฯคาดบอลโลกเงินสะพัด 1.8 หมื่นล้าน

หอการค้าฯคาดบอลโลกเงินสะพัด 1.8 หมื่นล้าน

ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเผยฟุตบอลโลก 2022 คึกคักสุดรอบ 5 ปี เงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 1.8 หมื่นล้าน แต่หากไม่มีการถ่ายทอดสดจะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบราว 5 พัน-1หมื่นล้านบาท

อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย ธนวรรธน์ พลวิชัย ระบุ หากมีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกไม่ว่าจะเป็นทางฟรีทีวี หรือเคเบิ้ลทีวี จะมีเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ 1.8 หมื่นล้าน จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะมีความคึกคักที่สุดในรอบ 5 ปี น่าจะคึกคักกว่าฟุตบอลโลกปี 2018 และฟุตบอลยูโร 2020 โดยเม็ดเงินตลอดในช่วงของฟุตบอลโลก 1 เดือน จะทำให้อุตสาหกรรมในห่วงโซ่อุปทานหรือซัพพลายเชนหมุนเวียนประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงปลายปีได้ประมาณ 0.3-0.5% ซึ่งทำให้จีดีพีไตรมาส 4 น่าจะขยายตัวได้ 4% รวมถึงในช่วงปีใหม่ที่มีการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และมีมาตรการกระตุ้นเช่นช้อปดีมีคืน เราเที่ยวด้วยกัน เศรษฐกิจไทยปีนี้จะขยายตัวได้ 3.3-3.5% 

ทั้งนี้ หากไม่มีการถ่ายทอดสดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจจะหายไป 5,000-10,000 ล้านบาท เนื่องจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ความคึกคักจะหายไป โดยความเห็นส่วนตัวมองว่าเงิน 1,600 ล้านบาทที่จะนำไปซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดนั้นคุ้มค่ากับเงินที่จะสะพัดในระบบเศรษฐกิจ แต่ที่มาของเงินที่นำมาใช้ซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดนั้นต้องเคารพการตัดสินใจของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าจะตัดสินใจอย่างไร

สำหรับผลสำรวจพฤติกรรมและการใช้จ่ายช่วงฟุตบอลโลก 2022 ทั่วประเทศจำนวน 1,257 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 1-6 พ.ย.65 คาดว่าจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 1.8 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 22% เมื่อเทียบกับฟุตบอลยูโร 2020 ที่มีเงินสะพัด 1.5 หมื่นล้านบาท 

ส่วนการใช้จ่ายนอกระบบเศรษฐกิจ หรือ พนันบอล อยู่ที่ 5.7 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 24.9% เมื่อเทียบกับฟุตบอลยูโร 2020 ที่มีเงินพนัน 4.5 หมื่นล้านบาท รวมการใช้จ่ายสะพัดทั้งในและนอกระบบเศรษฐกิจในการแข่งขันฟุตบอลโลกปีนี้อยู่ที่ 7.5 หมื่นล้านบาท

สำหรับมูลค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่มาจากการสังสรรค์ จัดเลี้ยง ซื้ออาหาร เครื่องดื่ม อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์รับสัญญาณ, ซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และซื้ออุปกรณ์กีฬา พนันบอล เป็นต้น