เปิดวาระประชุมรัฐมนตรีเอเปค-ซีอีโอซัมมิท

เปิดวาระประชุมรัฐมนตรีเอเปค-ซีอีโอซัมมิท

ส่องการประชุมรัฐมนตรีการค้าเอเปค แสวงหาความร่วมมือทางการค้า การลงทุน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ

การประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 16-19 พ.ย. 2565 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพ ถือเป็นเวทีระดับโลกที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจโลกตบเท้าเข้าร่วมประชุมแบบพบหน้าเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี หลังโลกเผชิญกับการแพร่ระบาดของโควิด -19 เวทีเอเปค2022 ในครั้งนี้จึงเป็นเวทีด้านเศรษฐกิจที่สำคัญของโลกอีกเวทีหนี่งในปี 65 ท่ามกลางวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัวจากผลกระทบของโควิด

สำหรับการประชุมระดับผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งนี้ ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพเอเปค ได้มุ่งผลักดันประเด็นหลัก 3 ประเด็น ภายใต้ธีม “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล หรือ Open. Connect. Balance.”

โดยก่อนการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ กระทรวงพาณิชย์จะร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศจัดการประชุมรัฐมนตรีเอเปค (APEC Ministerial Meeting: AMM) ในวันที่ 16 - 17 พ.ย. 2565  เริ่มจาก

- วันที่ 16 พ.ย.จะมีงานเลี้ยงต้อนรับรัฐมนตรีการค้าและต่างประเทศเอเปคที่เดินทางเข้าร่วมการประชุม

 - 17 พ.ย. จะเป็นการประชุม AMM  นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ จะเป็นประธานร่วมกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  โดยเป็นการประชุมในหัวข้อ “การเติบโตอย่างสมดุล ครอบคลุมและยั่งยืน” (Balanced, Inclusive and Sustainable Growth) ซึ่งเน้นการหารือเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG Economy Model) ต่อด้วยการประชุมในหัวข้อ”การกลับมาเชื่อมโยงในภูมิภาค” (Reconnecting the region) เพื่อหารือแนวทางการฟื้นฟูความเชื่อมโยงระหว่างกัน         

จากนั้นในช่วงบ่ายประชุมในหัวข้อ “การค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน” (Open and Sustainable Trade and Investment)  โดยผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) บรรยายสรุปเกี่ยวกับการดำเนินการตามผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) และความเห็นเรื่องการค้าโลกและระบบการค้าพหุภาคี ผ่านทางเสียงบันทึกภาพ

ไฮไลท์ สำคัญที่น่าจับตาอีกคือ การหารือระดับทวิภาคีของไทยกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของประเทศใน 21 เขตเศรษฐกิจเพื่อขยายความร่วมมือทางการค้าและการลงทุน

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้จะมีการนำเสนอแผนงานการขับเคลื่อนสู่การจัดทำเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of the Asia-Pacific : FTAAP)เพื่อให้ที่ประชุมเห็นชอบออกเป็นแถลงการณ์ ซึ่งจะกำหนดเป้าหมายการทำงานของเอเปคในเรื่องดังกล่าว

สำหรับแผนงาน FTAAP ประกอบด้วย การรวบรวมประเด็นที่สมาชิกเอเปคมีความสนใจร่วมกัน ทั้งด้านการค้าดั้งเดิม การค้าใหม่ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังจากการเกิดวิกฤต ผ่านกลไกการแลกเปลี่ยนข้อมูล และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างสมาชิกเอเปค เพื่อเตรียมความพร้อมต่อการจัดทำ FTAAP และมุ่งสู่เป้าหมายผลลัพธ์สำคัญของ FTAAP อาทิ การขยายการค้าการลงทุนภายในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก การลดอุปสรรคการค้าการลงทุนที่ไม่จำเป็น การเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของสมาชิกเอเปค และการลดช่องว่างการพัฒนาทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างกัน

 

“ปัจจุบันสมาชิกเอเปคอยู่ระหว่างการจัดทำแผนงาน FTAAP ซึ่งจะเป็นแผนระยะ 4 ปี ระหว่างปี 2566-2569มุ่งสู่การจัดทำ FTAAP ที่สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์เศรษฐกิจโลกทั้งด้านการค้า การลงทุน นวัตกรรม การเข้าสู่ยุคดิจิทัล และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มีความเข้มแข็ง สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม โดยจะนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีเอเปคและผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค เดือน พ.ย.2565 เพื่อกำหนดเป้าหมายการทำงานของเอเปคต่อไป”