กยท. หวัง 3 เดือนราคายางผงกหัว หลังตกต่ำแตะ 40 บาท ต่อเนื่อง

กยท. หวัง 3 เดือนราคายางผงกหัว หลังตกต่ำแตะ 40 บาท ต่อเนื่อง

กยท. งัดมาตรการชะลอการขายยาง ยกระดับราคา หลัง ตกต่ำแตะ 40บาทต่อกก. เหตุจีนเข้มมาตรการโควิด เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวไม่เต็มที่ คาด 3 เดือน เข้าสู่ฤดูกาลปิดกรีด ทำราคาดีดตัว

นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผยว่า ราคายางปัจจุบันถือว่าอยู่ในจุดต่ำสุด แล้ว โดยยางแผ่นดิบกิโลกรัมละ (กก.)  46-47 บาท  ยางก้อนถ้วย 40 บาท น้ำยาง 40 บาท ซึ่งปรับลดลงจาก่อนหน้าที่มากกว่า 50 บาททุกรายการ  โดยเป็นผลมาจาก ตลาดหลักอย่างจีนที่ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี ยังมีนโยบายเข้มมาตรการ ZERO COVID อีก 3 เดือน ทำให้การใช้ยางชะลอตัว

การเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ ทำให้นโยบายยังไม่ชัดเจน ตลาดล่วงหน้ายังมีความกังวล รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท ยังมีผลต่อการส่งออก และการผลิตล้อยางมีแนวโน้มโตอย่างช้าๆเพราะเศรษฐกิจของโลกยังไม่ฟื้นตัวดี

 

กยท. หวัง 3 เดือนราคายางผงกหัว หลังตกต่ำแตะ 40 บาท ต่อเนื่อง กยท. หวัง 3 เดือนราคายางผงกหัว หลังตกต่ำแตะ 40 บาท ต่อเนื่อง

 

 นอกจากนี้ ช่วงท้ายปีผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดมากขึ้นทั้ง ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม  จึงเป็นเรื่องปกติของสถานการณ์ราคายางที่จะมีปัญหาในช่วงนี้ของทุกปี อย่างไรก็ตามในส่วนของผลผลิตโดยรวมยังมีปริมาณลดลงจากภัยธรรมชาติในประเทศผู้ผลิต  ในขณะที่อีก 3 เดือนข้างหน้ายางของไทยจะเข้าสู่ฤดูกาลปิดหน้ากรีด

 ดังนั้นปริมาณน้ำยางจะออกสู่ตลาดน้อยลง ทำให้ราคายางมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งโดยส่วนตัวมองว่าราคายางหลังจากนี้จะไม่ตกต่ำกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยกทย.เฝ้าระวังสถากานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อบริหารจัดการน้ำยางให้ออกสู่ตลาดอย่างพอเหมาะ ภายใต้โครงการชะลอการขายยางเพื่อรักษาเสถียรภาพด้านราคา

“ น้ำยาง มีความเสี่ยงที่ราคาจะลดลง เพราะการนำไปใช้มีน้อย โดยเฉพาะถุงมือยางที่ก่อนหน้านี้มีความต้องการมาก ปัจจุบันปริมาณถุงมือยางมีมากกว่าความต้องการ และจีนตั้งโรงงานผลิตได้เองโดยใช้ยางสังเคราะห์มาเป็นวัตถุดิบ ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวัง”

 นางสาวอธิวีณ์ แดงกนิษฐ์  ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท  กล่าวว่า  คาดการณ์ผลผลิตยางปี 2565 เป็นเนื้อยางแห้งเท่ากับ 4.799 ล้านตัน โดยผลผลิตยางไตรมาสที่4/2565 มีปริมาณอยู่ที่ 1.677 ล้านตัน และในช่วงของเดือนตุลาคมที่ผ่านมา เป็นช่วงที่เกิดฝนตกชุก น้ำท่วมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ ภาคอีสาน และใต้ ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกยางสำคัญ ส่งผลให้ผลผลิตยางในประเทศลดลงประมาณ 43%

          นอกจากนั้น กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ปริมาณฝนรวมบริเวณประเทศไทยในอีกสามเดือนข้างหน้าส่วนใหญ่จะสูงกว่าค่าปกติ โดยภาคกลาง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีปริมาณฝนรวมสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 10 ภาคใต้ฝั่งตะวันออกจะมีปริมาณฝนรวมสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 15 และภาคใต้ฝั่งตะวันตกจะมีปริมาณฝนรวมสูงกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 20 ในขณะที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะมีปริมาณฝนรวมต่ำกว่าค่าปกติประมาณร้อยละ 20

การส่งออกในไตรมาสที่ 3/65 ไทยส่งออกรวม 1.150 ล้านตัน ยังอยู่ในระดับเดียวกับปีก่อน ด้านอุตสาหกรรมที่ใช้ยางธรรมชาติ อุตสาหกรรมถุงมือยาง สมาคมถุงมือยางประเทศมาเลเซีย (The Malaysian Rubber Glove Manufacturers Association (MARGMA)) คาดการณ์ว่าในปี 2566 อุตสาหกรรมถุงมือยางจะเติบโต 12%-15% หลังจากที่หดตัวลง 19%

ในปีนี้ ในส่วนของอุตสากรรมยางล้อ สมาคมผู้ผลิตยางล้อแห่งสหรัฐอเมริกา (USTMA) คาดการณ์การจัดส่งยางล้อของสหรัฐทั้งหมด 342.1 ล้านหน่วยในปี 2565 เทียบกับ 335.2 ล้านหน่วยในปี 2564 และ 332.7 ล้านหน่วยในปี 2562 หรือเพิ่มขึ้น 2.1% จากปี 2564 สถานการณ์การผลิตยางล้อในยุโรป สมาคมผู้ผลิตยางล้อยุโรป (European Tyre & Rubber Manufacturers’ Association (ETRMA)) รายงานว่าตลาดยางทดแทนในยุโรปลดลงในช่วงไตรมาสที่สามของปี 2565 ส่งสัญญาณถึงการชะลอตัวลงภายหลังจากการฟื้นตัวตั้งแต่ปีที่ผ่านมา

Sublime China Information รายงานว่ากำลังการผลิตของโรงงานผลิตยางล้อ (Semi-steel tire) ในประเทศจีนอยู่ที่ 54.18% ลดลง 2.3% Y-O-Y ปัจจัยที่ทำให้กำลังการผลิตลดเนื่องจาก

1. โรงงานยางล้อในมณฑลชานตงลดปริมาณกำลังการผลิตยางล้อ

2. ประชาชนจีนยังคงระมัดระวังการเดินทางต่างพื้นที่ ทำให้มีแนวโน้มการเปลี่ยนล้อยางลดลง

3. โรงงานยางล้อบางแห่งต้องลดกำลังการผลิตเนื่องจากขาดแคลนแรงงาน

ภาวะเศรษฐกิจในภาพรวม สหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มชะลอลงจากอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อสูงแต่เศรษฐกิจจะไม่เข้าสู่ภาวะถดถอยในปีนี้ ด้านยูโรโซน มีแนวโน้มหดตัวลงเล็กน้อยในครึ่งปีหลัง จากวิกฤติพลังงานรุนแรง ซึ่งเป็นปัจจัยหลักทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย ทางฝั่งประเทศจีนซึ่งเป็นประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ของโลก มีการฟื้นตัวเปราะบางในหลายภาคส่วนจากมาตรการ Zero Covid การล็อกดาวน์บางพื้นที่ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์

ซึ่งทางจีนได้ใช้มาตรการการเงินและการคลังผ่อนคลายเพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ จากภาวะเศรษฐกิจแปรปรวนเกษตรกรควรติดตามข้อมูลข่าวสารอย่างต่อเนื่องเพื่อเตรียมการและปรับตัวได้อย่างทันท่วงที แต่อย่างไรก็ตาม กยท. ยังคงดำเนินโครงการช่วยเหลือ เช่น โครงการชะลอการขายยางร่วมกับสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และโครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง