ไทยผนึกองค์กรระดับโลกร่วมเครือข่าย 'PAGE' เคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียว
ไทยผนึกองค์กรระดับโลก สหประชาชาติ เข้าร่วมโครงการ "PAGE" 4 ปี เดินหน้าสร้างเศรษฐกิจสีเขียว เสริมเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน มุ่งแก้ปัญหาความยากจน ลดเหลื่อมล้ำ สร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นมิตรส่งต่อไปยังอนาคต
วันนี้ (10 พ.ย.) ที่โรงแรมสวิสโฮเต็ล กรุงเทพฯ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พลังงาน เป็นประธานเปิดโครงการ Partnership for Action on Green Economy (PAGE) ในประเทศไทย โดยมีตัวแทนจากสหประชาชาติ หน่วยงานภาครัฐ นักวิชาการ สื่อมวลชน และภาคประชาสังคมร่วมงาน ประมาณ 200 คน
นายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการ PAGE ในประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน PAGE เป็นโครงการ ระดับโลกจัดตั้งโดยองค์การสหประชาชาติ ในปี 2013 โดยมีหน่วยงานสหประชาชาติ 5 หน่วยงาน ได้แก่ UNEP, ILO, UNDP, UNIDO และ UNITAR โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ทั้งภายในและระหว่างประเทศ เพื่อผลักดันและขับเคลื่อนการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสีเขียวอย่างบูรณาการ (Inclusive Green Economy) ในประเทศ และเพื่อบรรลุเป้าหมายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป้าหมายสูงสุดด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน และข้อตกลงระหว่างประเทศต่าง ๆ เพื่อพัฒนาและเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างความเท่าเทียมเสมอภาคกันในสังคม โดยพัฒนาไปพร้อมกันแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
โครงการ PAGE มีประเทศที่เข้าร่วมโครงการแล้ว 22 ประเทศ และประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกลำดับที่ 20 (เริ่มดำเนินกิจกรรมในปี 2563 โดยสนับสนุนการศึกษา รวบรวมข้อมูล ประเมินสถานะความพร้อมด้านเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ (Green Economy Stocktaking) การประเมินการใช้งบฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียวจากสถานการณ์โควิด (Green Recovery Assessment) และการประเมินความต้องการการเสริมสร้างศักยภาพด้านการฟื้นฟูเศรษฐกิจสีเขียว (Green Recovery Learning Needs Assessment)
โดยสิ่งที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์คือความรู้ทางเทคนิคที่องค์กรระดับโลกที่มีประสบการณ์ในด้านการสร้างเศรษฐกิจสีเขียวในประเทศต่างได้ประสบความสำเร็จมาปรับใช้ในประเทศไทย
โดยมีวัตถุประสงค์ ร่วมกันในการที่จะขับเคลื่อนการดำเนินการด้านเศรษฐกิจสีเขียวอย่างบูรณาการใน 5 ประเด็น หลัก ได้แก่ 1.การลดการปล่อยคาร์บอนและมลพิษ 2. การส่งเสริมการใช้พลังงานและ ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ 3.การป้องกันการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพและ ระบบนิเวศ 4. การเพิ่มงานที่มีคุณค่า 5. การกระจายรายได้และความมั่งคั่งอย่างเป็นธรรม เพื่อที่จะนำพาประเทศไปสู่การการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมทั้งตอบโจทย์ความท้าทาย3 ข้อที่ มนุษยชาติเผชิญอยู่ในปัจจุบัน คือ ด้านความยากจนถาวร ด้านการกระจายความมั่งคั่งที่ไม่เสมอภาค และการก้าวข้ามขีดจำกัดด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้เกิดการพัฒนาและสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีความเท่าเทียมและ เสมอภาคทางสังคม
หลังจากที่ได้ตอบรับคำเชิญเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว โครงการ PAGE ในประเทศไทยได้เริ่มดำเนินกิจกรรมในปี 2563 โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะหน่วยงานพันธมิตรในประเทศ ได้ทำการศึกษา รวบรวมข้อมูล ประเมินสถานะความพร้อมด้านเศรษฐกิจสีเขียวของประเทศ โดยผลการศึกษาดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นประเด็นด้านเศรษฐกิจสีเขียวที่มีความสำคัญ และเสนอแนะกิจกรรมที่สามารถใช้การให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและวิชาการภายใต้โครงการ PAGE
เพื่อสนับสนุนการดำเนินการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสีเขียวได้ เช่น การจัดทำนโยบายหรือกลไกการลดการปลดปล่อยคาร์บอนเพื่อให้เกิดสังคมคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมนโยบายเศรษฐกิจ BCG เพื่อเป็นกลไกในการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสร้างการเจริญเติบโตอย่างเท่าเทียม การเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการขยะ และการส่งเสริมการลงทุนและสินเชื่อเพื่อธุรกิจสีเขียว เป็นต้น
นางศุกร์สิริ แจ่มสุข รองผู้แทนสำนักงานภูมิภาค องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) ในนามผู้แทนMr. Stein Hansen ผู้อำนวยการประจำภูมิภาค องค์การพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งสหประชาชาติ (UNIDO) กล่าวว่า UNIDO เป็นหน่วยงานหลักดำเนินโครงการ PAGE ในประเทศไทย และเป็นตัวแทนของหน่วยงานสหประชาชาติพันธมิตรในโครงการอีก 4 หน่วยงานได้แก่ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ UNEP องค์การแรงงานระหว่างประเทศ ILO โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) และ สถาบันการฝึกอบรมและการวิจัยแห่งสหประชาชาติ (UNITAR)
โครงการ PAGE มีรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ร่วมสนับสนุน 7 ประเทศ ได้แก่ สหภาพยุโรป สวิสเซอร์แลนด์ เกาหลี เยอรมัน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน โครงการมุ่งเน้นการทำงานร่วมกับประเทศสมาชิกให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว โดยเน้นการขับเคลื่อนในระดับนโยบายขององค์กรที่นำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคน เพื่อเกิดความยั่งยืนของการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
องค์กรสหประชาชาติทั้ง 5 หน่วยงานที่ร่วมดำเนินโครงการ PAGE พร้อมให้การสนับสนุนด้านข้อมูลเชิงเทคนิคและประสบการณ์ระหว่างประเทศ ที่นำมาปรับให้เข้ากับบริบทของแต่ละประเทศ ดังเช่นประเทศไทยมีแนวนโยบายด้านเศรษฐกิจพอเพียง และโมเดลเศรษฐกิจ BCG พร้อมกับ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนปฏิบัติการตามอนุสัญญาระหว่างประเทศต่าง ๆ การสนับสนุนขององค์การสหประชาชาติจึงมุ่งเน้นสนับสนุนเชิงเทคนิค
ในส่วนที่ประเทศไทยมีความต้องการ (Gap) หรือให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น (Priority) ได้แก่การดำเนินการด้านสังคมคาร์บอนต่ำ การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว แรงงานสีเขียว การเงินและการพัฒนาสีเขียว รวมถึงการฝึกอบรมและวิจัยร่วมกับหน่วยงานระหว่างประเทศต่าง ๆ
เลขาธิการองค์การสหประชาชาติได้เน้นย้ำ ในระหว่างการประชุมผู้นำเพื่อส่งเสริมการพัฒนาสีเขียวและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เมื่อปี 2562 ว่า เศรษฐกิจสีเขียวคืออนาคตของการพัฒนา ที่จะนำความมั่งคั่ง การสร้างงานที่มั่นคงและเป็นธรรม การแก้ปัญหาฐานรากของความขัดแย้งและให้สิทธิเสรีภาพด้านมนุษยธรรมแก่หมู่ชนที่ไม่เพียงเฉพาะด้านสิทธิพลเรือนและการเมือง แต่รวมถึงด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของทุกถิ่นฐาน
"ในฐานะพันธมิตรในโครงการสหประชาชาติทั้ง 5 หน่วยงาน มีความยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมดำเนินงานกับประเทศไทย ด้วยความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่จะนำเศรษฐกิจสีเขียวมาสู่การปฏิบัติ สร้างสังคมคาร์บอนต่ำ วิเคราะห์และปรับปรุงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการผลิตด้วยเทคโนโลยีสะอาด จูงใจให้เกิดการบริโภคที่คำนึงถึงสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม"
วันนี้ถือเป็นโอกาสอันดีที่โครงการได้เริ่มดำเนินการในระยะปฏิบัติการ ซึ่งหน่วยงานของโครงการ PAGE ทั้งฝั่งสหประชาชาติ และฝั่งหน่วยงานไทย จะสามารถดำเนินการได้อย่างราบรื่นก็ด้วยอาศัยการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น รวมถึงภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และภาคประชาสังคมที่ทำให้การพัฒนาเป็นไปได้อย่างยั่งยืนยิ่งขึ้น