ลดภาษี 80% "รถ EV" ประกาศราชกิจจาฯ มีผลแล้ววันนี้

ลดภาษี 80% "รถ EV" ประกาศราชกิจจาฯ มีผลแล้ววันนี้

เฮ รู้แล้วบอกต่อ ลดภาษี 80% "รถ EV" ประกาศราชกิจจาฯ มีผลแล้ววันนี้ เช็กรายละเอียด

ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พระราชกฤษฎีกา ลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า พ.ศ. 2565 หรือเรียกง่ายๆ ว่า ลดภาษี รถ EV

พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ให้ไว้ ณ วันที่
6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2565 เป็นปีที่ 7 ในรัชกาลปัจจุบัน

มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศว่า โดยที่เป็นการสมควรลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และมาตรา 31 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้

มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า พ.ศ. 2565”

มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป

มาตรา 3 ให้ลดภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า ซึ่งเป็นรถใหม่สำเร็จรูปจากโรงงาน ที่จดทะเบียนภายในระยะเวลาสามปีนับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกานี้ใช้บังคับ ลงร้อยละแปดสิบของอัตราที่กำหนดตาม (11) ของอัตราภาษีประจำปีท้ายพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติรถยนต์ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2550  เป็นระยะเวลาหนึ่งปีนับแต่วันที่รถนั้นจดทะเบียน

มาตรา 4 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้

ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี


หมายเหตุ :- เหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่เป็นการสมควรลดภาษีประจำปี สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพื่อลดปัญหามลพิษทางอากาศตามหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้
 

ทั้งนี้ สำหรับ พ.ร.ฎ. ดังกล่าว ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 ก.ค. 2565 โดยกำหนดให้ลดอัตราภาษีประจำปี สำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียวที่จดทะเบียน ระหว่างวันที่ 1 ต.ค. 2565 ถึงวันที่ 30 ก.ย. 2568 ลง 80% ของอัตราที่กำหนดตาม (11) ของอัตราภาษีประจำปีท้าย พ.ร.บ.รถยนต์ พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติม โดย พ.ร.บ.รถยนต์ (ฉบับที่ 14) พ.ศ. 2550 เป็นระยะเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน

 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการจูงใจให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล ส่งเสริมและสร้างแรงจูงใจในการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าที่เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และปริมาณ PM 2.5 ในอากาศตลอดจนช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวมของประเทศด้วย

 รวมทั้ง การลดอัตราภาษีประจำปีสำหรับรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว โดยคาดว่าจะมีรถที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าจำนวน 128,736 คัน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีประจำปีรถยนต์ไฟฟ้าปีงบประมาณ 2565 -2568 ประมาณ 18.97 ล้านบาท ซึ่งเป็นการสูญเสียรายได้เพียง 0.05% เป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับรายได้ที่กรมการขนส่งทางบกจัดเก็บทั้งหมด ซึ่งไม่กระทบต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่จะนำไปจัดทำบริการสาธารณะให้กับประชาชน