เศรษฐกิจโลก-ไทยปี 2023 ปีแห่งความไม่แน่นอน:งานไม่ใหญ่แน่นะวิ (1) | เสาวณี
แนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2023 มีความไม่แน่นอนสูง และมีโอกาสที่อาจเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และเงินเฟ้อ (Geopolitical Recession; Inflationary recession)
ทั้งจากปัญหาสงครามในยูเครน และอัตราเงินเฟ้อที่ทรงตัวสูงทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป หน่วยงานวิจัยเศรษฐกิจหลายแห่งปรับลดประมาณการเศรษฐกิจโลก บทความนี้เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นในปีหน้านี้
เสียงกลองส่งสัญญาณเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและอาจถึงถดถอยเริ่มดังมากขึ้น
ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีตรัฐมนตรีคลังของสหรัฐฯ เคยให้ความเห็นจากข้อมูล 75 ปีที่ผ่านมาของเศรษฐกิจสหรัฐฯ พบว่า “หากอัตราเงินเฟ้อสูงเกิน 4% และอัตราการว่างงานต่ำกว่า 5% เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยภายในสองปีข้างหน้า”
ซึ่งอัตราเงินเฟ้อ (ณ ก.ย. 2022) อยู่ที่ 8.2% และอัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ 3.7% (ต.ค. 2022) สะท้อนโอกาสที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยมีเพิ่มขึ้น
อีกสัญญาณจากตลาดการเงิน (Market signals) คือ “ปรากฏการณ์การผกผันของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Inverted yield curve)” ซึ่ง ณ ก.ค. 2022 ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นอายุ 2 ปี (2.97%) ได้เริ่มแซงหน้าพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวอายุ 10 ปี (2.93%) และ ณ 27 ก.ย.ปรับขึ้นเป็น 4.3% และ 3.97% ตามลำดับ
ในอดีตปรากฏการณ์นี้สามารถทำนายการถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ถูกต้องเกือบทุกครั้งตั้งแต่ปี 1955 โดยกรอบเวลาเฉลี่ยที่จะเกิดภาวะถดถอยหลังจากเส้นอัตราผลตอบแทนผกผันอยู่ระหว่าง 6 ถึง 24 เดือน
ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจด้านเศรษฐกิจโลก (Global Leading Economic Index: Global LEI) (รูป F1) จัดทำโดย The US Conference Board ให้ภาพไปในทิศทางเดียวกันคือ มีแนวโน้มขาลงอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ซึ่งคาดว่าจะมีโอกาสเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมากขึ้นภายในปี 2023 ในทำนองเดียวกัน ดัชนี LEI ด้านเศรษฐกิจสหรัฐมีอัตราการเติบโตในช่วง 6 เดือน (มี.ค.-ก.ย. 2565) ติดลบหรือหดตัว
จากปัจจัยรุมเร้าหลายด้านทั้งปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่สูง ตลาดแรงงานที่ชะลอตัว อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจากที่ Fed เร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และสภาวะสินเชื่อที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ทำให้ The US Conference Board (10 Nov 2022) ประเมินว่าเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2022 จะอยู่ที่เพียง 1.8% และ 0.0% ในปี 2023
เศรษฐกิจโลกปี 2023 ยังต้องฝ่าคลื่นลมมรสุมความเสี่ยงจากสงคราม เงินเฟ้อ และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 1970 ทำให้เราเรียนรู้ว่า “มักจะเกิดภาวการณ์ชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญในปีก่อนหน้า” ผลการศึกษาของ World Bank (2022) ชี้ว่า หากเทียบเคียงกับในอดีต ในครั้งนี้เริ่มเห็นสัญญาณคล้ายคลึงกันคือ
- ดัชนีแสดงกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทั่วโลกทยอยปรับตัวลงต่อเนื่องตั้งแต่กลางปี 2021 ประกอบกับสินทรัพย์ต่างประเทศและความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงตั้งแต่ต้นปี 2022
- การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของกลุ่มเศรษฐกิจหลักสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และจีนปรับลดลงอย่างมาก
สอดคล้องกับการคาดการณ์ของ IMF จากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุด (ต.ค. 2022) ระบุว่า เศรษฐกิจโลกปี 2023 ยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนและความเสี่ยงข้างหน้าทั้งจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อ
วิกฤติราคาพลังงานโดยเฉพาะในยุโรป วิกฤติค่าครองชีพ (Cost of living crisis) จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่ขยายวงกว้าง รวมถึงการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและจีน โดยได้คงประมาณการเศรษฐกิจโลกปี 2022 จะเติบโต 3.2%
แต่เศรษฐกิจโลกปี 2023 จะขยายตัวลดลงอยู่ที่ 2.7% ต่ำกว่าการคาดการณ์เดิม เทียบกับก่อนวิกฤตโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 3.0% (เฉลี่ยปี 2017-2019)
นอกจากนี้ คาดว่าในปี 2023 กลุ่มเศรษฐกิจหลักซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 1/3 ของเศรษฐกิจโลกจะชะงักงันหรือแทบจะไม่โตจากปี 2022 กล่าวคือ สหรัฐฯ 1.0% สหภาพยุโรป 0.5% ซึ่งลดลงมากจากระดับ 3.1%
ในปี 2022 ขณะที่เศรษฐกิจของกลุ่มตลาดเกิดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชียยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และคาดว่าจะมีบทบาทช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในปี 2022 และในปี 2023
ในปี 2023 เศรษฐกิจจีนคาดว่าจะขยายตัว 4.4% เพิ่มขึ้นจาก 3.2%.ในปี 2022 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 6.5% ในช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 (เฉลี่ยปี 2017-2019) ทั้งอินเดียและ ASEAN-5 (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย สิงคโปร์) ยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง
โดยสรุป แรงกระแทกในปี 2022 จะเปิดบาดแผลทางเศรษฐกิจอีกครั้งหลังจากที่เพิ่งฟื้นตัวจากวิกฤติโรคระบาดโควิด-19 และในปี 2023 เศรษฐกิจโลกยังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอน เนื่องจากความหวังที่เศรษฐกิจเอเชียจะช่วยพยุงเศรษฐกิจโลกในยามที่ตลาดสำคัญขนาดใหญ่ของโลกกำลังซบเซาก็อาจไม่เป็นดังคาด
ความไม่แน่นอนด้านการค้าโลกมีแนวโน้มสูงขึ้น: ผลกระทบต่อกลุ่มเอเชียไม่มากแน่นะวิ?
ในระยะหลังนี้ สัญญาณความเสี่ยงด้านการค้าโลกแบบตลาดแบ่งแยกกลุ่ม (Trade fragmentation) ชัดเจนขึ้น สะท้อนจากดัชนีความไม่แน่นอนของการค้าโลก (Trade uncertainty index) ปรับตัวสูงขึ้น (รูป F3) เป็นผลจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น
- การตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐฯ กับจีนในปี 2018
- ความตึงเครียดทางการค้าในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครนปี 2022 ชาติตะวันตกคว่ำบาตรการค้ากับรัสเซีย ทั้งการจำกัดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญไปยังรัสเซีย และการจำกัดการส่งออกพลังงานของรัสเซีย
- เมื่อเร็วๆ นี้ สหรัฐฯ จำกัดการส่งออกวงจรรวมและส่วนประกอบและอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการออกแบบและผลิตไปยังจีน เป็นต้น
ผู้เขียนประเมินว่า ในสถานการณ์ที่จีนสามารถแซงสหรัฐฯ ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ เบอร์ 1 ของโลก มีขนาดใหญ่ 19% ของเศรษฐกิจโลก (global GDP, PPP current dollars) เทียบกับสหรัฐ 16%
ย่อมสร้างความตึงเครียดทางการค้าระหว่างสองมหาอำนาจ จึงน่าจะยังเห็นสงครามการค้าและการค้าแบบตลาดแบ่งแยกกลุ่มต่อไปในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาห่วงโซ่อุปทานโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี
และการคาดหวังที่จะพึ่งพาเศรษฐกิจเอเชียเป็นเครื่องยนต์สำคัญพยุงเศรษฐกิจโลกปี 2023 ก็มีความไม่แน่นอนเช่นกัน เพราะเศรษฐกิจเอเชียพึ่งพาตลาดส่งออกกลุ่มเศรษฐกิจหลักในระดับสูง โดย 1/2 ของการนำเข้าในสหรัฐอเมริกา และ 1/3 ของการนำเข้าในยุโรปมาจากเอเชีย
สรุปสั้นๆ ตอน 1 ได้ว่า ปี 2023 จะเป็นปีแห่งความปกติใหม่ แบบ VUCA: มีความผันผวน ความไม่แน่นอนสูง ความซับซ้อนสูง มีความคลุมเครือ อย่างแท้จริงนะวิ!
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของ ธปท.