ถอดบทเรียน "ณรงค์ชัย-สวัสดิ์” ปัจจัยการเมืองชี้อนาคตประเทศ
“ณรงชัย” ชี้ บทเรียนวิกฤติต้มยำกุ้ง ประเทศพังมาก-พังน้อย ส่วนหนึ่งมาจากการเมือง แนะ "ประเมินสินทรัพย์-อย่าสร้างศัตรู" ด้าน เจ้าพ่อวลี ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย "สวัสดิ์" ชู 2 แนวคิด พาองค์กรพ้นวิกฤติ รับเทคโนโลยีป่วนคนรุ่นใหม่ตกงานเพียบ แนะรัฐบาลออกนโยบายอภัยโทษภาษี
ดร.ณรงชัย อัครเศรณี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในงานเสวนา “ถอดบทเรียน ก้าวผ่านวิกฤติใหญ่” หลักสูตร Wealth of Wisdom : WOW#1 จัดโดย "เนชั่น กรุ๊ป” ว่า วิกฤติเศรษฐกิจเสมือนบทเรียนของชีวิต ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลามีหลายภาคหลายตอน และมีขึ้นมีลง เดี๋ยวดี เดี๋ยวร้าย และตอนจบเหมือนกันทั้งโลก ทั้งมิติการทำงาน การทำมาหากิน และอีกสิ่งที่ต้องเข้าใจ คือ วิกฤติที่เปลี่ยนแปลงเยอะจะไม่ใช้วิกฤติ แต่ละคนมีต่างกัน หากอำนาจที่ได้ขึ้นมาด้วยการแย่งชิงกัน เมื่อถึงเวลาลงจะโหดร้ายมาก ต่างจากการได้มาที่ไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อนก็จะลงง่าย ถือเป็นบทเรียน
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา ตนได้มีโอกาสทำงานกับรัฐบาล ควบคู่กับการทำธุรกิจ เป็นสมัยวิกฤติต้มยำกุ้ง ทุกคนเดือดร้อนทั่วประเทศ ต่อมาธุรกิจไฟแนนซ์กำไรเหมือนได้เงินมาฟรี ๆ จากนั้นรัฐบาลได้เริ่มเปิดเสรีบัญชีแคปปิตอลขึ้น ซึ่งตนได้เป็นกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ชุดแรก ต่อมาในสมัยที่พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐบมนตรี ตนได้รับเชิญให้มาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เริ่มเปิดเสรีตลาดทุน
“สมัยนั้นเราไม่ได้มีหน้าที่เปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งดอกเบี้ยเราสูง อัตราแลกเปลี่ยนต่ำ เราก็เอาเงินนอกเข้ามารัฐบาลเกิดปัญหาในเรื่องของสภาพคล่อง คนต่างประเทศไม่วางใจ ราบอกว่าเราต้องปล่อยให้ลอยตัว ซึ่งตามกฎหมาย นโยบายการเงินการคลังต้องแยกกัน เรามีหน้าที่แค่แนะนำ ธนาคารแห่งประเทศไทย จะเป็นผู้เคาะค่าเงินเอง และเราได้ขอ IMF มา 17,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งตอนนั้นธนาคารไทย 15 ธนาคาร ได้แปลงสภาพไปครึ่งหนึ่ง ซึ่งระหว่างนั้นถือเป็นบทเรียนที่สำคัญ ผู้คนแห่ถอดเงินบทเรียนชีวิตของมนุษย์คือรักอะไรไม่เท่ากับรักเงิน” ดร.ณรงชัย กล่าว
ทั้งนี้ การเปลี่ยนของค่าเงินบาทเร็วมาก จึงต้องมอนิเตอร์ตลอดเวลา ทำให้รู้ว่าบทเรียนของรัฐบาลแต่ละรัฐบาล ว่าจะพังมากน้อยขึ้นอยู่ที่การเมือง ยิ่งหากเป็นพรรคร่วมรัฐบาลยิ่งแล้ว การเคารพหรือการรายงานจะไม่รายงานตรงต่อผู้มีอำนาจที่ตนขึ้นตรง แต่จะไปรายงานพรรคตนเองก่อนเสมอ จึงทำให้การบริหารประเทศไม่ไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า สมัยที่ ทักษิณ ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจไทยขยับมามีหน้าตาและมีเงินอีกครั้ง ราคาที่ดินขยับขึ้นมาทวีคูณ ซึ่งตนได้มีโอกาสช่วยงานทุกรัฐบาลรวมถึงยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตนก็ได้รับเชิญให้เข้ามาอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ราว 1 ปี และได้ลาออกมาทำธุรกิจและไม่มีบทบาทในรัฐบาลอีกต่อไป
“การแก้ปัญหาวิกฤติต่าง ๆ สิ่งสำคัญคือ ประเมินสินทรัพย์ที่มี หาคนเก่งมาช่วยประเมิน และเมื่อขึ้นสูงแล้วก็อย่าสร้างศัตรู อีกทั้ง นักธุรกิจรุ่นปัจจุบันไม่เหมือนรุ่นเก่าที่อาจจะไม่มีคาแรกเตอร์สู้ตายแล้ว ประเทศไทยไม่แย่ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือเงินติดลบของรัฐบาล ที่มาจากการช่วยคน เรายังออกธนบัตรได้ และอย่าคาดหวังว่าการเมืองจะมาช่วยอะไรเรา หลังเอเปกนายกฯ จะอยู่จนครบบเทอม และไม่ทำอะไรมาก ซึ่งรัฐบาลใหม่ยังเป็นคสช. ซึ่งไม่ใช่ 2 คนที่สื่อวิเคราะห์แน่นอน จงอย่าหวังเรียกร้องการเมือง ควรพึ่งตัวเอง” ดร.ณรงชัย กล่าว
นายสวัสดิ์ หอรุ่งเรือง ประธานกรรมการ บริษัท ศรีราชา ฮาร์เบอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปี 1997 ถือเป็นปีที่เหลือเชื่อ ที่มีหนี้ถึง 2,700 ล้านดอลลาร์ การทำธุรกิจสมัยนั้นจะต้องมีพรรคพวกและใจนักเลง จากค่าเงินบาทจาก 26 ทยอยปรับขึ้นและทะลุไปที่ 40 บาทบาท ตนจึงต้องเปลี่ยนปรัชญาการดำเนินธุรกิจ ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย และคุยกับที่ปรึกษาว่า ชาตินี้ไม่มีวันใช้หนี้ได้ การออกบอนด์ครั้งสุดท้ายจาก 26 บาท ไม่คิดว่าจะขึ้นมาถึง 50 บาท จึงใช้วิธีปรับโครงสร้างหนี้โดยเปลี่ยนหนี้เป็นทุน ตัดดอกเบี้ยทิ้ง เอาเฉพาะเงินต้น และเปลี่ยนเจ้าของธุรกิจ
นอกจากนี้ สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงคือการล้มละลายไม่ใช่คดีอาญา แต่เป็นคดีแพ่ง สมัยก่อนกฎหมายเยอะน่ากลัว คนที่เคยล้มละลายห้ามทำธุรกิจ ห้ามรับราชการ การที่ตนได้เป็นวุฒิสมาชิก เห็นกฎหมายล้มละลายที่ไม่เคยแก้ไขเลย และคนล้มละลายจะต้องล้มละลายชั่วชีวิต คนทำธุรกิจ 10 ชาติก็ไม่ได้เกิด จึงได้ปรับแก้ไข คนเราต้องการอยู่อย่างมีศักดิ์ศรี ตนเป็นมนุษย์ ไม่ใช่นักบาป จะเอาตัวรอดและผ่านกฎหมายนี้มาได้
"คำคมตนคือ เจ้าหนี้ไม่น่ากลัว เมียน่ากลัวกว่า จากการที่เรียนน้อย แต่รู้มาก จึงแก้กฎหมายล้มละลายชั่วชีวิตเหลือ 3 ปี ชีวิตที่รอดมาได้มหัศจรรย์มาก ในชีวิตที่โตมาแต่ละก้าวเพราะทำงานหนัก สมัยก่อนธนาคารมีวงเงินให้ เรายืมเพื่อนที่มีเครดิตดี ขายและทำโรงงานเหล็ก เพื่อนดีทุกอย่างจบหมด”
ทั้งนี้ ตนบอกเพื่อนเสมอ หากฆ่าตัวตายเพราะวิกฤติเศรษฐกิจจะไม่ไปงานศพ เพราะไม่คิดว่าจะขาดสติขนาดนี้ การเป็นหนี้เม็ดเงินอย่าใช้หนี้ด้วยชีวิต เกียรติยศไม่มีน้ำหนักควรทิ้งไป ตนปรับโครงสร้างหนี้ ตอนนี้สบายแล้วไม่ต้องแบกเหล็กถึง 2.5 แสนล้านตันบนไหล่ ชีวิตต้องทำเป็นสนต้องลม ผู้ชายแข็งได้อ่อนได้ วิกฤติต้มยำกุ้งสอนให้ตนรู้จักอ่อนเพื่อเอาตัวรอด
ทั้งนี้ หากเจอวิกฤติ สิ่งสำคัญคือ 1. อย่าขาดสติ เพราะการล้มละลายเป็นคดีแพ่ง 3 ปี ให้เริ่มต้นชีวิตใหม่อย่างผ้าขาว 2. วันนี้กับอดีตไม่เหมือนกัน เพราะความสัมพันธ์ของมนุษย์หายไป ไม่มีเพื่อนแท้ ตนไม่เคยให้เทคโนโลยีเข้ามาวุ่นวายกับชีวิต ทำธุรกิจต้องเรียนรู้บุคลิกของคน การเจรจาต้องคุยต้องเห็นหน้า ตาต่อตาฟันต่อฟัน ห้ามเจรจาผ่านเครื่องมือ การสื่อสารจะสมบูรณ์ต้องปฏิสัมพันธ์กัน
อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเห็นใจพ่อแม่ของเด็กรุ่นใหม่ สมัยก่อนที่สร้างนิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด คนมาทำงานเป็นล้านคน แต่ตอนนี้เทคโนโลยีใหม่เข้ามาโดยใช้หุ่นยนต์ ตนไม่รู้จะแนะนำการเรียนอไรแล้ว เห็นใจเด็กรุ่นใหม่ไม่มีงานทำ การทำธุรกิจปัจจุบันเปลี่ยนไปเยอะ แต่โอกาสก็มี จึงอยากให้รัฐบาลออกนโยบายอภัยโทษเรื่องภาษีในอดีต ออกกฎหมายพร้อมกันบทลงโทษเป็นอย่างไร เพราะวันนี้เงินสีเทาเต็มไปหมด ให้ทุกคนมาดีแคลร์ ใครคิดว่าเสียภาษีถูกต้องมาชั่วชีวิตก็จบ ใครมีเงินในเมืองนอกให้โอนกลับมาและไม่ปรับ ให้คนไทยได้เริ่มต้นชีวิตใหม่
“การใช้เทคโนโลยีมีทั้งดีและไม่ดี สิ่งสำคัญคือคนจะตกงานเยอะ และกำลังซื้อไม่มี คนไทยจะตายเอง ยุโรป อเมริกาเริ่มเจอปัญหานี้ โลกนี้มีแต่กำลังซื้อเทียม ไม่มีกำลังซื้อจริง และจากการที่ตนคลุกคลีกับการเมืองเยอะ จะเห็นว่าคนดี ๆ ไม่อยากเข้าไปข้องเกี่ยวกับการเมือง วันนี้ไม่เห็นอนาคตประเทศไทยเลย นายกฯ ที่เป็นคนดี ๆ จริง ๆ ก็ไม่อยากเข้าไปเป็นลูกไก่ในกำมือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มีการแย่งกันขอแต่ผลประโยชน์ตัวเอง”