ส่องคืบหน้า ‘ไฮสปีดเทรน’ ทั่วไทย ‘คมนาคม’ ดันต่อ 6 เส้นทาง 1,993 กม.

ส่องคืบหน้า ‘ไฮสปีดเทรน’ ทั่วไทย ‘คมนาคม’ ดันต่อ 6 เส้นทาง 1,993 กม.

“คมนาคม” กางแผนลงทุนรถไฟความเร็วสูงทั่วไทย ตั้งเป้าลุยต่อ 6 เส้นทาง ระยะทางรวมกว่า 1,993 กิโลเมตร ลุ้นปีหน้าสรุปรูปแบบเส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก และเส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย

โอกาสในการเชื่อมต่อการเดินทางระหว่างประเทศด้วยโครงข่ายคมนาคม การเพิ่มสิทธิทางการบินวันนี้อาจไม่เพียงพอ เพราะมีการคาดการณ์ว่าหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายเป็นปกติ นับตั้งแต่ปี 2567 เป็นต้นไป อุตสาหกรรมการบินอาจอยู่ในภาวะรองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถ เนื่องจากในช่วงวิกฤตที่ผ่านมาหลายสายการบินปรับลดต้นทุน ประกาศขายอากาศยานและลดพนักงานไปจำนวนมาก ขณะที่ดีมานด์การเดินทางของผู้โดยสารมีแนวโน้มเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้นอีกหนึ่งโครงข่ายคมนาคมสำคัญที่จะสร้างโอกาสให้การเดินทางเชื่อมต่อระหว่างประเทศไม่หยุดชะงัก เห็นจะเป็นโครงข่ายระบบราง เนื่องจากรถไฟเป็นขนส่งสาธารณะที่สามารถขนถ่ายผู้โดยสารได้จำนวนมาก รวมไปถึงการขนส่งสินค้าด้วย

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวถึงโอกาสที่มีต่อการขยายระบบรางว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีนโยบายที่จะเร่งรัดโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เพราะเป็นอีกหนึ่งระบบขนส่งสำคัญที่ทำให้ประชาชนเดินทางสะดวก อีกทั้งยังสามารถขนสินค้าในระยะเวลาอันสั้น สนับสนุนการค้าระหว่างประเทศได้เป็นอย่างดี

โดยปัจจุบันได้เริ่มดำเนินการแล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่

1. เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ภายใต้ความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน

  • ระยะทาง 253 กิโลเมตร
  • วงเงินลงทุน 1.79 แสนล้านบาท
  • สถานะปัจจุบัน อยู่ระหว่างก่อสร้างงานโยธา ผลงานในภาพรวมคืบหน้าประมาณ 15%
  • คาดการณ์จะแล้วเสร็จในปี 2569

2.โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

  • ระยะทาง 220 กิโลเมตร
  • วงเงินลงทุน 2.24 แสนล้านบาท
  • สถานะปัจจุบัน การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภคและเวนคืนที่ดิน ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ส่วนช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนแล้ว โดย พรฎ.เวนคืนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2562
  • คาดการณ์ว่าจะเปิดให้บริการในปี 2570

นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังมีแผนจะขยายโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ โดยอยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม 6 โครงการ ระยะทางรวม 1,993 กิโลเมตร แบ่งเป็น

1.เส้นทางกรุงเทพฯ-พิษณุโลก

  • ระยะทาง 380 กิโลเมตร
  • วงเงินลงทุนประมาณ 2.12 แสนล้านบาท
  • สถานะปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการลงทุน

2.เส้นทางนครราชสีมา-หนองคาย

  • ระยะทาง 355 กิโลเมตร
  • วงเงินลงทุนประมาณ 2.26 แสนล้านบาท
  • สถานะปัจจุบัน ออกแบบรายละเอียดแล้วเสร็จ อยู่ระหว่างการพิจารณา EIA

3. เส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน

  • ระยะทาง 211 กิโลเมตร
  • วงเงินลงทุนประมาณ 1 แสนล้านบาท
  • สถานะปัจจุบัน เตรียมของบประมาณปี 2567 เพื่อทบทวนผลการศึกษาเดิม

4.เส้นทางพิษณุโลก-เชียงใหม่

  • ระยะทาง 288 กิโลเมตร
  • วงเงินลงทุนประมาณ 2.32 แสนล้านบาท
  • สถานะปัจจุบัน กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างสรุปรูปแบบการลงทุน

5.เส้นทางหัวหิน-สุราษฎร์ธานี

  • ระยะทาง 424 กิโลเมตร
  • สถานะปัจจุบัน ของบประมาณปี 2567 เพื่อทบทวนการศึกษาความเหมาะสม

6.เส้นทางสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์

  • ระยะทาง 335 กิโลเมตร
  • สถานะปัจจุบัน ศึกษาความเหมาะสมเบื้องต้นแล้ว