ส่องงบ"ประกันรายได้ข้าว"4 ปี 4 แสนล้านบาท จ่ายส่วนต่างพร้อมมาตรการคู่ขนาน

ส่องงบ"ประกันรายได้ข้าว"4 ปี 4 แสนล้านบาท จ่ายส่วนต่างพร้อมมาตรการคู่ขนาน

ชาวนา เฮ !!!ประกันรายได้ข้าว ปี 4 ได้ไปต่อหลังลดวงเงินงบประมาณเหลือเพียง 8.1หมื่นล้านบาทจาก 1.5 แสนล้านบาท เผยภาพรวม 4 ปี รัฐบาลทุ่มงบประกันรายได้ข้าว กว่า กว่า 4 แสนล้านบาท

ในที่สุด ครม.ก็ไฟเขียวประกันรายได้ข้าวปี 4 ด้วยวงเงิน 81,200 ล้านบาท ตามที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นผู้เสนอ  โดยวงเงินประกันรายได้ปี 4 ประกอบไปด้วย

1.เงินส่วนต่างๆประมาณ 18,700 ล้านบาท

 2.มาตรการคู่ขนานเก็บสต๊อกข้าวเก็บไว้ทั้งชาวนาและโรงสีมีเงินช่วยเหลือ จะทำให้ราคาข้าวไม่ตกลงไปวงเงินประมาณ 7,500 ล้านบาท 

 3.การช่วยเหลือโดยลดต้นทุนการผลิต ไร่ละ 1,000 ประมาณ ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่  55,000 ล้านบาท 

หลังจากมีปัญหาเรื่องงบประมาณจำนวนมากที่ต้องนำมาใช้ในโครงการประกันรายได้ข้าวปี  4 ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ (นบข.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และกรอบวงเงิน เพื่อใช้สำหรับจ่ายชดเชยและเป็นค่าบริหารจัดการโครงการ และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว วงเงินรวมทั้งสิ้น 150,127.75 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2565/66 (ปีที่ 4) ซึ่งมีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกับโครงการฯในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา วงเงิน 86,740.31 ล้านบาท

2.มาตรการคู่ขนานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 (ปีที่ 4) ได้แก่ มาตรการสนับสนุนให้เกษตรกรชะลอการขายเปลือก ตั้งเป้าหมาย 2.5 ล้านตัน ชดเชยตันละ 1,500 บาท ,มาตรการให้สถาบันเกษตรกรที่ชะลอการขายข้าวเปลือก โดยรัฐสนับสนุนดอกเบี้ย 3% ตั้งเป้า 1 ล้านตัน และมาตรการให้โรงสีเก็บข้าวไว้ไม่ปล่อยออกสู่ตลาด โดยรัฐช่วยดอกเบี้ย 3% เป้าหมาย 4 ล้านตัน วงเงินรวม 8,022.69 ล้านบาท

3.โครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2565/66 ไร่ละ 1,000 บาท ครัวเรือนละไม่เกิน 20 ไร่ หรือไม่เกิน 20,000 บาท/ครัวเรือน วงเงิน 55,364.75 ล้านบาท

วงเงินที่สูงถึง  1.5 แสนล้านบาท กลายเป็นปัญหาสำคัญที่สำนักงบประมาณท้วงติงมากว่า  1 เดือนหลัง นบข.เห็นชอบ เนื่องจากเห็นเป็นวงเงินที่สูงกระทบกับภาระงบประมาณของประเทศและ โดยเฉพาะกรอบวงเงินการใช้จ่ายตามมาตรา 28 แห่งพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังแห่งรัฐ ที่เหลืออยู่ จากการหารือกับหน่วยงานด้านงบประมาณ ก็มีความเห็นเป็นข้อยุติ โดยมีความเห็นตรงกันที่จะปรับลดกรอบงบประมาณสำหรับใช้ในโครงการอุดหนุนสินค้าข้าวทั้งแพ็คเกจลง 81,200 ล้านบาท จากเดิมที่ใช้มากกว่า 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งวงเงินนี้ยังสามารถรักษาวินัยการเงินการคลังไว้ได้ โดยไม่ต้องมีการขยายเพดานจากปัจจุบันที่คงไว้ 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีได้ และยังจะไม่กระทบต่อเงินที่ชาวนาจะได้รับ โดยทุกโครงการจะยังได้รับเท่าเดิม เพียงแต่จะลดความซ้ำซ้อนของโครงการที่มีความคล้ายคลึงกัน รวมถึงอัพเดทวงเงินที่จะใช้ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ราคาข้าวที่เป็นปัจจุบันมากขึ้น

“จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ “ยืนยันว่า  การปรับลดวงเงินงบประมาณโครงการประกันรายได้ข้าวปี  4 ไม่กระทบต่อเกษตรกรเนื่องจากปัจจุบันสถานการณ์ราคาข้าวดีขึ้นมากข้าวเปลือกเจ้า มาตรฐานความชื้นไม่เกิน 15% ราคา 9,000 กว่าบาท/ตัน ข้าวหอมมะลิ ราคาเกินรายได้ที่ประกันแล้ว ราคาประมาณ 15,000-16,000  บาทโดยเฉลี่ย และข้าวหอมนอกพื้นที่เช่นเดียวกัน มีบางตัวเท่านั้นที่จะต้องชดเชยหรือจ่ายส่วนต่าง

โครงการประกันรายได้ข้าวป็นโครงการที่มีการใช้เงินงบประมาณมากกว่าโครงการประกันรายได้พืชเกษตรอีก 4 ชนิด คือปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพด โดยสรุป 3 ปีแรกรัฐบาลใช้งบประมาณ 3.8 แสนล้านบาท  โดย คือ 1.ปีการผลิต 2562/63 รัฐอนุมัติงบประกันรายได้และมาตรการคู่ขนาน รวม 76,049 ล้านบาท

2. ปีการผลิต 2563/64 รัฐอนุมัติงบประกันรายได้และมาตรการคู่ขนาน รวม 106,740 ล้านบาท

3.ปีการผลิต 2564/65 รัฐอนุมัติงบประกันรายได้และมาตรการคู่ขนานรวม 138,456 ล้านบาท

ล่าสุดปีปีการผลิต 2565/66 รัฐอนุมัติงบประกันรายได้และมาตรการคู่ขนานรวมเบื้องต้นเป็นเงินกว่า 81,266 ล้านบาท รวมแล้วโครงการประกันรายได้ 4 ปีใช้เงินงบประมาณกว่า 4 แสนล้านบาท

คงปฏิเสธได้ยากว่า โครงการประกันรายได้แม้เกษตรกรจะได้รับประโยชน์แต่ในทางกลับกันโครงการดังกล่าวก็สร้างภาระด้านงบประมาณให้กับรัฐบาล ไม่แตกต่างกับโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาล นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร  ที่ใช้โครงการนี้มาสร้างคะแนนเสียงทางการเมือง ซึ่งคงต้องกลับมาทบทวนนโยบายกันใหม่หรือไม่ในการช่วยเหลือเกษตรกรนอกเหนือจากการจัดสรรงบประมาณช่วยเหลือเมื่อราคาข้าวตกต่ำ  ดังนั้นจึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ต้องประเมินต่อไปว่า “ผลลัพธ์” ของการประกันรายได้ว่าคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงไปหรือไม่