IMF หนุน APEC 2022 เปิดกว้าง ร่วมมือสู่กรีนอีโคโนมี่
ไอเอ็มเอฟแนะความร่วมมือภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกกุญแจก้าวพ้นวิกฤติเศรษฐกิจ หนุนโลกเปิดกว้างและเสรี ขับเคลื่อนการเติบโตการค้าและการลงทุน
วันนี้ (19 พ.ย.65) เวลา 09.15 น. ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ นางคริสตาลินา จอร์จีวา กรรมการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 29 อย่างไม่เป็นทางการ ในประเด็น "การค้าและการลงทุนที่เปิดกว้างและยั่งยืน"
โดยภายหลังเสร็จสิ้นการประชุมร่วมกัน นางจอร์จีวา ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า สิ่งที่เราอยากจะเห็นต่อจากนี้คือการร่วมมือกันในระดับนานาชาติ เพื่อข้ามผ่านวิกฤติการณ์โลกในปัจจุบัน ตั้งแต่การเกิดโรคระบาดใหญ่โควิด-19 สงครามในยูเครน และภาวะเงินเฟ้อทั่วโลกที่อยู่ในระดับสูง
โดยผู้นำเขตเศรษฐกิจต้องกำหนดข้อสรุปแนวปฏิบัติและการดำเนินนโยบายร่วมกันต่อจากนี้ จากการประชุมระดับนานาชาติทั้ง 3 ครั้งที่จัดขึ้นในภูมิภาคซึ่งเอเชียเป็นเจ้าภาพ ได้แก่ การประชุมอาเซียน G20 และเอเปค 2022
"การประชุม 3 ซัมมิทต้องนำมาซึ่ง 1 ข้อสรุป คือการทำงานร่วมกัน สร้างโลกที่เปิดกว้างและเสรี สำหรับการค้าและการลงทุนระหว่างกัน เพื่อสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน และเป็นการเติบโตที่มีส่วนร่วมและยุติธรรมต่อทุนคน รวมทั้งมีความมั่นคงในแง่ของสิ่งแวดล้อม พร้อมรับมือกับปัญหา Climate Change"
นางจอร์จีวา กล่าวถึงข้อกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวในปีหน้าว่า สิ่งที่เราเป็นกังวลคือการเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนซึ่งเป็นปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้ (exogenous shock) ซึ่งภาวะเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงทำให้การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกต้องชะลอตัวลง
"สิ่งที่ผู้กำหนดนโยบายจะต้องทำคือการดำเนินมาตรการนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวดเพื่อจัดการกับภาวะเงินเฟ้อ ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้นโยบายทางการคลังอย่างเฉพาะจุดเพื่อช่วยเหลือกลุ่มเปราะบาง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายนัก"
ทั้งนี้ การเดินหน้ามาตรการเศรษฐกิจเพื่อสร้างความแข็งแกร่งของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกซึ่งยังคงเป็นแสงแห่งความหวังท่ามกลางแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดูมืดหม่น ต้องมุ่งเป้าไปที่ ประกาแรก การสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจมหภาคด้วยการใช้นโยบายที่มีประสิทธิภาพพร้อมรับกับความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจ
ประการที่สอง การลงทุนกับการพัฒนาคน โดยส่งเสริมการพัฒนาทักษะให้เกิดผู้ประกอบการที่จะเข้ามาร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจมากขึ้น
ประการที่สาม การยกระดับความร่วมมือในกลุ่มภูมิภาคอาเซียน เพื่อคว้าโอกาสการเติบโตในช่วงที่เศรษฐกิจโลกกำลังรัดเข็มขัด
นางจอร์จีวา กล่าวทิ้งท้ายสำหรับการเตรียมพร้อมของประเทศไทยเพื่อเผชิญหน้ากับความไม่แน่นอนในอนาคตว่า สิ่งที่ต้องปรับคือ "mindset" เพราะปัจจุบันเรากำลังอยู่ในช่วงโลกแปรปรวน ช็อคที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมาอาจเกิดขึ้นได้อีกในปีหน้า ซึ่งการที่ไทยจะก้าวผ่านวิกฤติไปได้ประเทศจะต้องฟื้นตัวเร็ว (resilient) ซึ่งหมายรวมถึง "ผู้คน" ที่จะต้องมีการพัฒนาอยู่ตลอดและมีความเข้มแข็งที่จะลุกขึ้นมาได้อย่างรวดเร็ว "ระบบเศรษฐกิจ" รวมถึง "โลก"