กางไทม์ไลน์หนี้ 'สายสีเขียว' 'บีทีเอส' ทวงจ่าย 4 หมื่นล้าน
กทม.กางไทม์ไลน์หนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว ชนวนสำคัญยังไม่สามารถชำระหนี้ 4 หมื่นล้านบาท เหตุติดคำสั่ง คสช.เมื่อปี 2562 ที่มาเจรจาต่อสัมปทาน
ตลอดในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือบีทีเอส และสถานีรถไฟฟ้าที่อยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอสซี คงได้คุ้นหูคุ้นตากับคลิปวีดีโอ “ทวงหนี้” 4 หมื่นล้านบาท โดยระบุข้อความว่า “คนเราจะอดทนกับการแบกหนี้ได้นานแค่ไหน… ทำงานแต่ไม่ได้เงิน ต้นทุนเพิ่มขึ้นทุกวัน… ผู้มีอำนาจโยนไปโยนมา ไร้การตัดสินใจ ถึงเวลาเข้ามาจัดการปัญหา อย่าหนีปัญหา…อย่าปล่อยให้เอกชนสู้เพียงลำพัง ถึงเวลาจ่ายหนี้รถไฟฟ้าสายสีเขียว 40,000 ล้าน #ติดหนี้ต้องจ่าย”
โดยบีทีเอสซี ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส ทำคลิปวีดีโอดังกล่าว จะเผยแพร่เป็นระยะเวลา 15 วัน มีเนื้อหาบางช่วงบางตอนโดย "คีรี กาญจนพาสน์" ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า “จ่ายเงินที่ควรจ่าย 3 ปีกว่า จำนวนเงิน 40,000 กว่าล้าน เพราะเอกชนผู้ลงทุน จ่ายทุกวัน พนักงานก็ต้องจ่าย ค่าไฟต้องจ่าย ผู้ที่มีอำนาจ บริหารประเทศอยู่ ไม่ว่าจะเป็น กทม. หรือ การเมืองของประเทศ ต้องเข้ามาดูได้แล้ว ดอกเบี้ยขึ้นทุกวัน”
อย่างไรก็ดี หลังจากที่บีทีเอสได้เผยแพร่คลิปดังกล่าว “วิศณุ ทรัพย์สมพล” รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ออกมมาแถลงข่าวทันที เพื่อสรุปเหตุผลที่ยังไม่สามารถดำเนินการชำระหนี้สินได้ ซึ่งชี้แจงอย่างละเอียดว่า สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวปัจจุบัน แบ่งออกเป็น
- ส่วนต่อขยายที่ 1 กทม. ไม่ใด้มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้เนื่องจาก กทม. ได้มีการสนับสนุนค่าบริการเดินรถและซ่อมบำรุงมาตลอดจนถึงเดือน เม.ย.62 จนกระทั่งมีคำสั่ง คสช. เมื่อวันที่ 11 เม.ย.2562 ที่ให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการ และได้มีการเจรจาให้ เอกชนรับภาระค่าจ้างเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 ตั้งแต่ พ.ค. 2562 (ระบุไว้ในร่างสัญญาร่วมทุน) ด้านมูลค่าหนี้ขณะนี้อยู่ในระหว่างการอุทธรณ์ค่าดอกเบี้ย
เนื่องจาก กทม. ไม่มีเจตนาจะไม่ชำระหนี้ และสัญญาที่ กทม. ทำกับกรุงเทพธนาคาร (KT) ไม่ได้มีการกำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้ นอกจากนี้ กทม. เห็นว่า KT ควรมีการจ้างที่ปรึกษาทางการเงินเพื่อตรวจสอบ คิดคำนวณค่าจ้างใหม่ให้ถูกต้องตามความเป็นจริง ซึ่งอาจทำให้ยอดหนี้เปลี่ยนไปไม่ตรงกับที่เอกชนฟ้อง และหากมีการดำเนินการครบถ้วนและมีข้อยุติการต่อสัมปทานจาก ครม. แล้วก็สามารถชำระหนี้ได้
- ส่วนต่อขยายที่ 2 ถือเป็นสัญญาที่มีบันทึกมอบหมายยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากยังไม่ได้รับการอนุมัติงบประมาณจากสภากรุงเทพมหานคร กทม. ไม่ได้มีการทำนิติกรรมโดยตรงกับเอกชน มีเพียงการทำบันทึกมอบหมายให้กับ KT เท่านั้น นอกจากนี้ในบันทึกข้อตกลงมอบหมายข้อที่ 133 ยังมีการระบุไว้ว่า "บันทึกข้อตกลงนี้ไม่มีผลทำให้บริษัท"(KT) เป็นตัวแทนหรือลูกจ้างของกรุงทพมหานคร" ซึ่งในส่วนนี้ต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามข้อบัญญัติของ กทม. และต้องผ่านการพิจารณาของสภากรุงเทพมหานครด้วย
“กระดุมเม็ดแรกกลัดไม่ถูกเลยเกิดปัญหา ฝ่ายบริหารอยากจ่าย ถ้าตรงมาตรงไป ไม่มีเจตนารมณ์ชะลอ เพียงแต่บันทึกมอบหมายไม่สมบูรณ์ หนี้ยังไม่ผ่านการพิจารณาของสภา กทม.เราไม่มีเจตนาที่จะชะลอการชำระหนี้ให้แก่บริษัทเอกชน แต่มีข้อสังเกตคือบันทึกมอบหมายยังไม่สมบูรณ์ เนื่องจากลงนามมอบหมายในวันที่ 28 ก.ค.2559 โดยที่ยังไม่ได้มีการทำโครงการเสนออนุมัติงบประมาณจากสภา กทม.”
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา กทม.ได้ดำเนินการเกี่ยวกับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีไทม์ไลน์สำคัญดังนี้
- ปี 2561 สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. ได้เสนอขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ค่าเดินรถเข้าที่ประชุมสภา กทม. ครั้งที่ 1
- ปี 2561 ขอจัดสรรงบประมาณโครงการติดตั้งระบบเดินรถและบริหารจัดการเดินรถระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว ระยะเวลาดำเนินการ 15 ปี (2561-2575) วงเงินรวม 31,988,490,000
- ปี 2561 ตั้งงบประมาณจำนวน 1,000,000,000 บาท เสนอต่อสภา กทม.และได้มีการพิจารณางบประมาณรายจ่าย ประจำปี พ.ศ. 2561 แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้ถูกรับการพิจารณาและบรรจุอยู่ในร่างงบประมาณดังกล่าว
- 11 เม.ย.2562 คสช. ได้มีคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร เจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินเป็นการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
- 20 ส.ค.2562 ครม. มีมติรับทราบผลการเจรจาและร่างสัญญาและร่วมลงทุนโครงการฯ และให้กระทรวงการคลังเสนอความเห็น
- 17 พ.ย.2563 - 22 ก.พ.2565 กทม. และกระทรวงมหาดไทยทำการจัดเตรียมข้อมูลเพิ่มเติมให้กับหน่วยงานต่างๆ เพื่อประกอบการนำเสนอ ครม.
- ปี 2564 สำนักการจราจรและขนส่ง ได้เสนอขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ค่าเดินรถเข้าที่ประชุมสภา กทม. โดยเสนอสำนักงบประมาณเพื่อขอจัดสรรงบประมาณในการชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย 1 และส่วนต่อขยาย 2 จำนวนเงิน 9,246,748,339 บาท โดยได้จัดทำเป็นร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2564 (ฉบับที่ ...) พ.ศ... เสนอสภากรุงเทพมหานคร
- 21 เม.ย. 2564 ที่ประชุมสภา กทม.ได้พิจารณาร่างข้อบัญญัติฯ และมีมติไม่เห็นชอบให้ กทม. จ่ายขาดเงินสะสม เนื่องจากไม่เข้าหลักเกณฑ์ ตามข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติ กทม. เรื่อง เงินสะสม(ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564 และสภา กทม. มีข้อเสนอให้ กทม. ขอรับการสนับสนุนงบประมาณจากรัฐบาล หรือให้ใช้วิธีให้เอกชนรับภาระและให้ประโยชน์ตอบแทนในรูปสัมปทานเดินรถ หากไม่สามารถดำเนินการตามข้อเสนอควรส่งโครงการดังกล่าวคืนให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.)
- 13 มิ.ย. 2565 กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือแจ้ง กทม. ขอทราบแนวทางการดำเนินโครงการเนื่องจากมีผู้ว่า กทม. และสภา กทม. ชุดใหม่
- 3 พ.ย.2565 ผู้ว่า กทม. มีหนังสือตอบกลับกระทรวงมหาดไทย พร้อมเสนอ 3 ความเห็น
วิศณุ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วงที่ผ่านมา กทม.ได้เสนอวาระเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม. แต่เนื่องจากสภา กทม.ไม่หยิบยกประเด็นดังกล่าวมาพิจารณา ทีมผู้บริหาร กทม.จึงทำหนังสือความเห็นตอบกลับกระทรวงมหาดไทยทันทีตามที่ก่อนหน้านี้มีคำสั่งให้พิจารณาเรื่องนี้เข้าสู่ที่ประชุมสภา กทม.และให้รายงานกลับ
โดย กทม.มี 3 ข้อคิดเห็นในเรื่องนี้ ประกอบไปด้วย
1. เห็นพ้องกับนโยบาย Through Operation ให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงสร้างพื้นฐานและงานติดตั้งระบบการเดินรถ
2. เห็นควรที่จะเดินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวตาม พ.ร.บ. ร่วมทุน 2562 เพื่อความโปร่งใส
3. การหาข้อยุติของ ครม. ตามคำสั่ง คสช. จะทำให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินงาน
ดังนั้นเรื่องของส่วนต่อขยาย 1 และ 2 ต้องรอให้ ครม.พิจารณา ว่าจะมีมติขยายสัมปทานหรือไม่ หาก ครม.อนุมัติทุกอย่างจะไปเป็นตามสัญญาใหม่ที่เอกชนจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย แต่หาก ครม.ไม่อนุมัติก็เป็นหน้าที่ กทม.ที่จะต้องกลับมาพิจารณาใหม่ เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนถูกต้องตามกฎหมาย โดยมี 2 วิธี คือ
1.ให้สภา กทม.ให้สัตยาบรรณย้อนหลังสัญญาจ้างเดินรถและสัญญาติดตั้งระบบ
2. ถ้าสภา กทม.ไม่ให้สัตยาบรรณ ให้รอคำตัดสินของศาลปกครอง
สำหรับมูลค่าหนี้ที่ภาคเอกชนทวงถามมีจำนวน 4 หมื่นล้านบาท (รวมดอกเบี้ย) ปัจจุบันแบ่งออกเป็น
- ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 จำนวน 3,800 ล้านบาท
- ค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 2 จำนวน 14,000 ล้านบาท
- ค่าระบบอาณัติสัญญาณ จำนวน 19,000 บาท