"จุรินทร์" ระบุ ยอดส่งออก 10 เดือน มูลค่ากว่า 2.4 แสนล้านดอลลาร์ บวก 9.1%
"จุรินทร์" ปั้มเงินเข้าประเทศ "ฟื้นเศรษฐกิจ" โชว์"ศักยภาพส่งออก" 10 เดือนแรก ยังบวก 9.1% มูลค่ากว่า 2.4 แสนล้านดอลลาร์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ตัวเลขทางการสำหรับการส่งออกเดือน ต.ค.และ 10 เดือนแรกของปีนี้ การส่งออกเดือน ต.ค.สามารถสร้างเงินให้ประเทศ มูลค่า 21,772.4 ล้านดอลลาร์ หดตัว 4.4% และ 10 เดือนแรกของปีนี้ตั้งแต่ ม.ค.-ต.ค. +9.1% สามารถสร้างเงินให้ประเทศ 10 เดือน ปี 65 มูลค่า 243,138.5 ล้านดอลลาร์ สินค้ารายหมวดทั้ง 3 หมวด คือ สินค้าเกษตร สินค้าอุตสาหกรรมเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรม เดือน ต.ค. 65 สินค้าเกษตร -4.3% รวม 10 เดือน +4.3% สร้างเงินให้ประเทศ 22,697.8 ล้านดอลลาร์ สินค้าอุตสาหกรรมเกษตร เดือน ต.ค. -2.3% รวม 10 เดือนแรกปี 65 +22.6% สร้างเงินให้ประเทศ 19,438.1 ล้านดอลลาร์ สินค้าอุตสาหกรรม เดือน ต.ค.65 -3.5% 10 เดือนแรกของปี 65 +7.8% สร้างเงินให้ประเทศ 190,672.4 ล้านดอลลาร์
หมวดสินค้าเกษตร เดือน ต.ค.ติดลบยางและผลไม้สด เพราะผลไม้สดนอกฤดู ส่วนยางพารา -28.5% สินค้าที่เหลือเป็นบวกทั้งหมด เช่น ไก่สด แช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป เดือน ต.ค. +38% 10 เดือนแรก +28% ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เดือน ต.ค. +26.3% 10 เดือนแรก +15.3% ทุเรียนแช่แข็ง เดือน ต.ค. +23.4% 10 เดือนแรก +52.7% กล้วยไม้ เดือน ต.ค. +10.9% 10 เดือนแรก +24.5% ข้าว เดือน ต.ค. +2.8% 10 เดือนแรก +20.7%
หมวดสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร สินค้าที่หดตัวคือ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป -11.3% เครื่องดื่ม เดือน ต.ค.+20.3% 10 เดือนแรก +2.6% ไอศกรีมที่เป็นดาวรุ่ง เดือน ต.ค. +13.5% 10 เดือนแรก +28.9% อาหารสัตว์เลี้ยง เดือน ต.ค. +4.8% 10 เดือนแรก +20.7% อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เดือน ต.ค. +0.9% 10 เดือนแรก +12.5%
หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สินค้าที่หดตัวในเดือน ต.ค. 65 คือ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน -22.8% เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ -27.4% เหล็ก -13.1%
สาเหตุที่สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันในเดือน ต.ค. เป็นลบ เพราะราคาน้ำมันโลกเริ่มอ่อนตัว ส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ยังขาดแคลนชิบและระบบการขนส่งชิบ ส่วนเหล็ก ราคาตลาดโลกของเหล็กลดลง เศรษฐกิจจีนเริ่มชะลอตัว เพราะจีนเป็นตลาดส่งออกหลักสำคัญของไทย
เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เดือน ต.ค. +90.6% 10 เดือนแรก +70.2% อุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทรานซิสเตอร์และไดโอด เดือน ต.ค. +74.9% 10 เดือนแรก +15.7% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เดือน ต.ค. +14.9% 10 เดือนแรก -0.2%
เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ เดือน ต.ค. +8.5% 10 เดือนแรก +11% อัญมณีและเครื่องประดับ เดือน ต.ค. +5.4% 10 เดือนแรก +38.3% รถยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เดือน ต.ค. +5.1% 10 เดือนแรก -2.7%
ตลาดที่ขยายตัว 10 อันดับแรก ในเดือน ต.ค 65 ได้แก่ 1. สวิตเซอร์แลนด์ (+103.5%) 2. ซาอุดิอาระเบีย (+49.6%) 3. ลาว (+28.8%) 4. ทวีปออสเตรเลีย (+18.8%) 5. เวียดนาม (+13.3%) 6. ไต้หวัน (+6.3%) 7. กัมพูชา (+5.2%) 8. สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (+4.1%) 9. สหราชอาณาจักร (+3.7%) และ 10. เม็กซิโก (+1.1%)
ปัจจัยบวกที่ยังหนุนการส่งออกของประเทศไทย คือ ค่าเงินบาทที่ยังอ่อนตัว ประเทศไทยมีตลาดใหม่ที่ยังขยายตัวได้ดี เช่น ซาอุดิอาระเบีย เป็นตลาดใหม่ที่สามารถทำตัวเลขได้ดี รวมถึงตลาดตะวันออกกลาง ออสเตรเลีย สหอาณาจักร เป็นต้น
ส่วนปัจจัยลบที่มีส่วนสำคัญในการฉุดตัวเลขส่งออกจากนี้
ประเด็นที่หนึ่ง การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกน่าเป็นห่วง ทั้งกระทรวงพาณิชย์และเอกชนประเมินเห็นตรงกันว่าจากนี้ไปจะต้องฟันฝ่าเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ต้องเร่งทำการส่งออกให้ดีที่สุด จากการประเมินภาพรวมปีที่แล้วเศรษฐกิจโลก +6% แต่ปีนี้แนวโน้มจะ +3.2% และปีหน้า +2.7% กระทรวงพาณิชย์ต้องจับมือกับเอกชนอย่างเข้มแข็งในการฟันฝ่าแรงเสียดทานนี้
มาตรการซีโร่โควิดของตลาดใหญ่ที่สุดของไทยคือจีนยังไม่มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง ดัชนีการผลิตหรือ PMI ของคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย ลดลงต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นของสหรัฐฯ ญี่ปุ่น จีนหรือสหภาพยุโรป ซึ่งกระทรวงพาณิชย์ได้ประชุมร่วมกับเอกชน ล่าสุดตนมอบหมายให้เร่งหารือเตรียมการรองรับสถานการณ์เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ต้องทำการบ้านลึกในรายละเอียด เช่น
1. เร่งหาตลาดใหม่ทดแทนการส่งออก ในบางตลาดเช่น ตลาดเคมีภัณฑ์กับเม็ดพลาสติก มีมูลค่าถึง 6.62% ของตัวเลขการส่งออกทั้งหมด ตลาดที่เตรียมการไว้ในการเร่งยอดส่งออก คือ ตะวันออกกลาง แอฟริกาและกลุ่มประเทศเอเชียใต้ เช่น อินเดียปากีสถาน บังกลาเทศ เป็นต้น
2.เร่งรัดการส่งออกข้าว โดยอินเดียเริ่มขึ้นภาษีการส่งออกข้าว จะเป็นช่องทางให้ไทยหาตลาดทดแทนตลาดอินเดีย ทั้งตลาดอินโดนีเซียหรือตลาดแอฟริกาและอื่นๆ ตลาดแอฟริกาตลาดข้าวยังขยายตัวได้ดี เช่น โมซัมบิกเดือน ต.ค. +284% ตลาดแคเมอรูน +413% กานา +117% อิรัก +413% เป็นต้น
การเร่งหาตลาดเคมีภัณฑ์เม็ดพลาสติกและตลาดข้าว มีความสำคัญและตลาดผลิตภัณฑ์ยางพารา ต้องเร่งส่งเสริมเพิ่มมูลค่าการส่งออกและการผลิต เช่นส่งเสริมการแปรรูปการทำยางล้อ จูงใจใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น เร่งรักษาตลาดยานยนต์ของไทย จะมีการนำคณะร่วมงานยานยนต์ระดับโลกจับมือกับเอกชนเดินหน้าต่อไป
“คาดว่าภาพรวมทั้งหมดของการส่งออกปี 65 ยังเป็นบวก จากการประมาณการร่วมกับภาคเอกชนล่าสุด ยังมั่นใจว่าเกินเป้าการส่งออกปี 65 กำหนดไว้ +4% คาดว่าจะเพิ่มเกือบหนึ่งเท่าตัว ส่วนมูลค่าตั้งเป้าไม่น้อยกว่า 9 ล้านล้านบาท มีแนวโน้มจะเกินกว่า 9 ล้านล้านบาท การส่งออกยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในปี 65”