ประท้วงมาตรการโควิดในจีนป่วนผลผลิตรถยนต์-ไอโฟน

ประท้วงมาตรการโควิดในจีนป่วนผลผลิตรถยนต์-ไอโฟน

คาดความวุ่นวายในโรงงานผลิตไอโฟนที่เมืองเจิ้งโจว จะส่งผลให้การผลิตไอโฟนโปรหายไปเกือบ 6 ล้านเครื่อง ขณะเดียวกันบริษัทรถยนต์รายใหญ่อย่างน้อย 3 แห่งประกาศระงับการผลิต เหตุรัฐบาลจีนใช้มาตรการเข้มงวดคุมโควิด-19

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานอ้างแหล่งข่าวรายหนึ่งเผยว่า แม้ความคาดหวังเรื่องผลผลิตขาดแคลนอาจเปลี่ยนแปลงได้ แต่สถานการณ์ขึ้นอยู่กับว่า บริษัทฟ็อกซ์คอนน์เทคโนโลยีกรุ๊ปของไต้หวันจะสามารถหาคนมาทำงานได้เร็วแค่ไหนหลังจีนออกมาตรการคุมโควิดเข้ม ซึ่งถ้ายังล็อกดาวน์ต่อเนื่องการผลิตจะถดถอยลงอีก

ทั้งนี้ โรงงานไอโฟนในเจิ้งโจวได้รับผลกระทบจากการล็อกดาวน์และเหตุประท้วงของคนงานเป็นเวลาหลายสัปดาห์ เดือนก่อนคนงานหลายพันคนหนีเตลิดเพราะโรงงานขาดแคลนอาหารอย่างต่อเนื่อง คนงานใหม่ที่ถูกจ้างมาก็ประท้วงต้านค่าแรงต่ำและมาตรการกักตัว

โรงงานฟ็อกซ์คอนที่เจิ้งโจว ผลิตไอโฟน 14 โปรและโปรแม็กซ์เป็นส่วนใหญ่ ความต้องการสินค้าสองรุ่นนี้เพิ่มขึ้นทดแทนความต้องการไอโฟน 14 โดยแอ๊ปเปิ้ลปรับลดเป้าการผลิตโดยรวมเหลือราว 87 ล้านเครื่องจากที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 90 ล้านเครื่อง

แหล่งข่าววงในเผยด้วยว่า ทั้งแอ๊ปเปิ้ลและฟ็อกซ์คอนน์เพิ่มคาดการณ์ขาดแคลนผลผลิตที่โรงงานเจิ้งโจวช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมาเนื่องการความปั่นป่วนเพิ่มมากขึ้นทุกขณะ ฟ็อกซ์คอนน์คาดว่าจะสามารถผลิตไอโฟนที่ขาดหายไป 6 ล้านเครื่องได้ในปี 2566

แอนเชิล แซก จากบริษัทมัวร์อินไซต์แอนด์สเตรทเตจี ระบุ “เรื่องนี้ชี้ให้เห็นว่า ทุกคนแม้แต่แอ๊ปเปิ้ลหวั่นไหวกับซัพพลายเชนตึงเครียดในจีนผลจากโควิด”

แนวโน้มขาดแคลนผลผลิตจากโรงงานแอ๊ปเปิ้ลล่าสุดเพิ่มขึ้นจากที่นักวิเคราะห์เคยคาดการณ์ไว้แล้ว ไม่กี่วันก่อนนักวิเคราะห์จากมอร์แกนสแตนลีย์ประเมินว่า ปีนี้ไอโฟนโปรจะขาดแคลน 6 ล้านเครื่อง แต่นั่นก่อนเกิดการประท้วงต้านมาตรการคุมโควิดในเจิ้งโจวเมื่อสัปดาห์ก่อน

ครั้นมีความวุ่นวายเกิดขึ้นยิ่งตอกย้ำความเสี่ยงที่แอ๊ปเปิ้ลต้องเผชิญกับการมีซัพพลายเชนขนาดใหญ่มากในจีน ฟ็อกซ์คอนน์พยายามหยุดยั้งการประท้วงด้วยการเสนอโบนัสให้กับพนักงานที่เลือกกลับบ้าน และเพิ่มโบนัสสุดสัปดาห์มากถึง 1,800 ดอลลาร์ต่อเดือนสำหรับพนักงานเต็มเวลาที่ยังคงอยู่โรงงานตลอดเดือน ธ.ค.และ ม.ค.

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในประเทศต้องปั่นป่วนอีกครั้ง โดยล่าสุดมีบริษัทรถยนต์รายใหญ่อย่างน้อย 3 แห่งที่ประกาศระงับการผลิต เนื่องจากรัฐบาลจีนใช้มาตรการที่เข้มงวดในการควบคุมโรคโควิด-19
 

บริษัทฮอนด้า มอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น ประกาศระงับการดำเนินงานที่โรงงานผลิตรถยนต์จำนวน 3 แห่งในเมืองอู่ฮั่นของจีน เนื่องจากจีนเดินหน้าบังคับใช้มาตรการล็อกดาวน์เพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง

ฮอนด้าตัดสินใจระงับการผลิตรถยนต์ที่โรงงาน 3 แห่งดังกล่าว หลังจากที่พนักงานไม่สามารถเดินทางไปทำงานได้ เนื่องจากทางการจีนสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นตามนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่เข้มงวดของจีน โดยขณะนี้ฮอนด้ากำลังพิจารณาว่าจะสามารถกลับมาดำเนินงานตามปกติอีกครั้งได้หรือไม่ในวันที่29 พ.ย.  หรือในภายหลัง

ไม่เพียงเท่านั้น ฮอนด้ายังระงับการผลิตที่โรงงานผลิตเครื่องยนต์ในเมืองฉงชิ่งอีกด้วย

ด้านบริษัทยามาฮ่า มอเตอร์ ผู้ผลิตรถมอเตอร์ไซค์รายใหญ่ของญี่ปุ่นได้ตัดสินใจระงับการผลิตบางส่วนที่โรงงานในเมืองฉงชิ่ง โดยพื้นที่ดังกล่าวมีรายงานพบผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงถึง 8,720 รายในวันจันทร์ (28 พ.ย.) ขณะที่บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกนั้น กำลังปรับการผลิตที่โรงงานประกอบรถยนต์ในจีนเนื่องจากหลากหลายปัจจัย โดยโฆษกของโตโยต้าไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดดังกล่าว

อย่างไรก็ดี ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่นรายอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงนิสสัน มอเตอร์, มาสด้า มอเตอร์ และมิตซูบิชิ มอเตอร์เปิดเผยว่า การดำเนินงานในจีนยังไม่ได้รับผลกระทบในขณะนี้

สำหรับบริษัทโฟลค์สวาเกน ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของเยอรมนีได้ประกาศระงับการผลิตที่โรงงานไชน่า เอฟเอดับเบิลยู กรุ๊ปในเมืองเฉิงตูเมื่อวันจันทร์ (28 พ.ย.) และปิดสายการผลิต 2 ใน 5 สายการผลิตที่โรงงานในเมืองฉางชุน เนื่องจากเผชิญปัญหาขาดแคลนส่วนประกอบรถยนต์

สำหรับผู้ติดเชื้อโควิดรายใหม่ เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงาน การติดเชื้อโควิดในท้องถิ่นประจำวันจันทร์ (28 พ.ย.) ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการรวม 38,421 คน ลดลงจากจำนวนสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อวันอาทิตย์ (27 พ.ย.) 40,052 คน เป็นการลดลงครั้งแรกนับตั้งแต่วันที่ 19 พ.ย.

ในกวางตุ้งและฉงชิ่งสองพื้นที่โควิดระบาดหนักสุดระลอกนี้การติดเชื้อรายวันลดลง ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตรายใหม่ แต่ในกรุงปักกิ่งผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับเซี่ยงไฮ้ แม้จะมีจำนวนน้อยกว่ามากแต่เซี่ยงไฮ้ดิสนีย์แลนด์ประกาศหยุดให้บริการตั้งแต่วันอังคารเป็นต้นไป หลังเพิ่งกลับมาเปิดอีกครั้งเมื่อวันศุกร์ (25 พ.ย.) ขณะที่ยูนิเวอร์แซลปักกิ่งรีสอร์ทยังเปิดบริการ