สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตฯ เดือนต.ค. หดตัว 3.71% ชี้ 10 เดือนแรกยังโต 2.2%
สศอ. เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนต.ค. 2565 อยู่ที่ 93.89 หดตัว 3.71% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยช่วง 10 เดือนแรก ปี 2565 ยังขยายตัว 2.20% ตอบรับการบริโภคในประเทศปีนี้ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังการท่องเที่ยวขยายตัว รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น และมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ
นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เปิดเผยสถานการณ์การผลิตภาคอุตสาหกรรมว่า มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) 10 เดือนแรก ปี 2565 อยู่ที่ 99.06 ขยายตัว 2.20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีอัตราการใช้กำลังการผลิต 10 เดือนแรกของปี 2565 เฉลี่ยอยู่ที่ 63.06%
ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศและการท่องเที่ยวที่กลับมาดีขึ้น สะท้อนจากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่กลับเข้ามาท่องเที่ยวในไทยเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตในอุตสาหกรรมอาหารขยายตัว 2.7% อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม 2.6% รวมถึงการผลิตน้ำมันเครื่องบินที่ขยายตัว 108.2%
ทั้งนี้ สศอ. ได้ประมาณการ MPI และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ปี 2565 และ ปี 2566 โดยปี 2565 คาดว่า MPI ขยายตัว 1.9% และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 2.0 ในขณะที่ประมาณการ ปี 2566 คาดว่า MPI ขยายตัว 2.5 – 3.5% และ GDP ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัว 2.5 – 3.5%
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนต.ค. 2565 อยู่ที่ 93.89 หดตัว 3.71% เนื่องจากการปิดซ่อมบำรุงใหญ่ของโรงงานในอุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียมและอุตสาหกรรมเม็ดพลาสติก ซึ่งจะกลับมาผลิตเป็นปกติอีกครั้งในเดือนหน้า ขณะที่กำลังการผลิตในเดือน ต.ค. อยู่ที่ 59.91 หดตัว 5.35% จากปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ ในเดือนพ.ย. 2565 คาดว่าดัชนี MPI จะขยายตัวจากโรงกลั่นกลับมาดำเนินการตามปกติ รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวและการบริโภคในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม อุปสงค์สินค้าในตลาดโลกเป็นปัจจัยที่ต้องติดตามใกล้ชิด ด้วยปัจจัยลบจากตลาดส่งออกสำคัญมีแนวโน้มจะเข้าสู่เศรษฐกิจถดถอย และนโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีน
สำหรับอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลบวกต่อดัชนีผลผลิตในเดือนต.ค. 2565 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
ยานยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.88% จากรถบรรทุกปิกอัพและรถยนต์นั่งขนาดกลาง เป็นหลัก ทั้งตลาดในประเทศและการส่งออก โดยเฉพาะเกษตรกรที่มีรายได้เพิ่มขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรและผลผลิตต่างๆ อยู่ในระดับที่ดี และสามารถผลิตได้ต่อเนื่องหลังปัญหาขาดแคลนชิปคลี่คลายมากขึ้น
น้ำมันปาล์ม ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.82% จากผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มดิบและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ เป็นหลัก เนื่องจากมีความต้องการสินค้ามากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมและภาคพลังงาน และการปรับการใช้น้ำมันจาก B5 เป็น B7 รวมถึงมีผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก
ชิ้นส่วนและแผ่นวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.47% ตามการขยายตัวของตลาดโลกในยุคดิจิทัลที่ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 21
อาหารสัตว์สำเร็จรูป ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.63% เนื่องจากเกษตรกรมีการเลี้ยงไก่เพิ่มขึ้น เพื่อสนองความต้องการบริโภคเนื้อไก่ที่ขยายตัวมากขึ้น รวมถึงความนิยมการเลี้ยงสัตว์ที่ขยายตัวต่อเนื่อง
ผลิตภัณฑ์คอนกรีต ปูนซีเมนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 8.76% จากเสาเข็ม คอนกรีตผสมเสร็จ และพื้นสำเร็จรูป เป็นหลัก โดยปีนี้สถานการณ์การก่อสร้างคลี่คลายเป็นปกติ และมีการก่อสร้างมากขึ้น