'วราวุธ' เร่งกฎหมายรับมือโลกร้อน - ปตท.ดันไทยฮับกรีนไฮโดรเจน

'วราวุธ' เร่งกฎหมายรับมือโลกร้อน - ปตท.ดันไทยฮับกรีนไฮโดรเจน

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ  Roadmap Thailand to COP27 ภายในงานสัมมนา Sustainability Forum 2023 จัดโดยกรุงเทพธุรกิจ

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วราวุธ ศิลปอาชา ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ  Roadmap Thailand to COP27 ภายในงานสัมมนา Sustainability Forum 2023 จัดโดย กรุงเทพธุรกิจ ระบุว่า ไทยได้แสดงให้นานาประเทศเห็นในการประชุม COP27 ณ เมืองชาร์ม เอล เชค อียิปต์ ว่าได้จัดทำแผนตามเป้าหมายที่ได้ประกาศไว้ใน COP26 คือ การเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ในปี 2065 สิ่งที่เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมคือ การที่ไทยร่วมมือกับสวิตเซอร์แลนด์ในเรื่องของคาร์บอนเครดิต

หลังจากนี้ไทยต้องทำแผนดำเนินการ การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศระดับจังหวัด แนวทางการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับอำเภอ ตำบล หมู่บ้านประชาชนต้องปรับตัวให้เข้าสู่ Low Carbon Society หรือสังคมคาร์บอนต่ำต้องสื่อสารทุกภาคส่วนเพื่อให้เข้าใจเกี่ยวกับการทำงานระดับโลก ที่เชื่อมการดำเนินงานในประเทศ รวมถึงเสริมสร้างกลไกการมีส่วนร่วมของภาครัฐ และเอกชนขับเคลื่อนการจัดทำ Green Taxonomy ที่สอดคล้องกับมาตรการ การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ Nationally Determined Contributions (NDCs)

กำหนดเป็นแผนระยะยาวในดำเนินการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้จริง หรือที่เรียกว่าแผนระยะยาวในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ (Long-term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy หรือ LTS) ของประเทศ เร่งผลักดันร่างพ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.... และขับเคลื่อนการดำเนินงานตามแผนการปรับตัวแห่งชาติ (National Asaptation Plan:NAP) เป็นแผนที่จะต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกเพื่อให้เข้ากับ SDG เป้าหมายที่ 13

การที่ไทยมีความยั่งยืนต้องเริ่มจาก Green Economy เศรษฐกิจที่มีความยั่งยืน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ขณะที่ภาคพลังงาน Green Energy ต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และด้านสังคม Green City ประชาชนจะอยู่ได้ภายใต้เศรษฐกิจที่พัฒนาขึ้น เมืองจะมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการสร้างความยั่งยืน ไม่ใช่เป็นภาระของบริษัท แต่เป็นสิ่งที่ทุกบริษัทต้องทำให้ไทยทุกคนมีความสุขมากขึ้น ทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ไขสิ่งแวดล้อม การที่เราจะมีคำว่า Sustainability อยู่ยืนยาวทุกฝ่ายต้องทำงานร่วมกัน ไม่ว่าจะทำอะไรก็ตาม ทำคนเดียวไม่ได้ ต้องทำร่วมกันเท่านั้น ถึงจะเกิดผลสำเร็จและเป็นไปได้

 

ปตท.ดันไทยฮับกรีนไฮโดรเจน

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ระบุ ปตท.มีเป้าหมายในการเป็นองค์กร “NetZero” ในปี 2050 ซึ่งจะทำควบคู่ไปกับการมุ่งสู่ธุรกิจใหม่ๆ ที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมใหม่ที่เป็นเป้าหมายของประเทศ เพราะ ปตท.เป็นองค์กรใหญ่ที่จะต้องช่วยประเทศไปสู่เป้าหมายการลงทุน และสร้างงานในอุตสาหกรรมเป้าหมาย การมุ่งไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมาย ภาคเอกชนต้องเป็นผู้ที่ขับเคลื่อน จึงเป็นที่มาที่ ปตท.กำหนดวิสัยทัศน์ใหม่ว่า power life with future energy and beyond ซึ่งช่วยให้ที่องค์กรใหญ่จะต้องมีบทบาทในการขับเคลื่อน ปตท. จึงจะทำในเรื่องของทางพลังงานทดแทน และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และอุตสาหกรรม และธุรกิจใหม่ๆ เช่น ยา การขนส่ง รถยนต์ไฟฟ้า เป็นต้น

นอกจากรถยนต์ EV ที่รัฐบาลมีการตั้งนโยบาย 30@30 ปตท.ตั้งบริษัท อรุณพลัส โดยจับมือกับฟลอคอนซ์ จะเปิดโรงงานในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างระบบนิเวศน์ของรถ EV ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย การเดินหน้าพลังงานทางเลือกอื่นๆ ปตท.ได้มีการจับมือกับประเทศซาอุดีอาระเบีย และ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในการศึกษาว่าไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางของกรีนไฮโดรเจนของอาเซียน โดยไฟฟ้าที่นำมาแยกไฮโดรเจนคือ ไฟฟ้าที่เป็นพลังงานสะอาด หากสำเร็จประเทศไทยจะเป็นฮับของกรีนไฮโดรเจนในภูมิภาคได้อาเซียน

ประเทศไทยมีพื้นที่ และศักยภาพ ในการที่จะทำพลังงานทดแทนมาก รวมถึงเรื่องของพลังงานไฮโดรเจน ปตท.ได้มีการลงนามความร่วมมือกับประเทศซาอุดีอาระเบียในการศึกษาเทคโนโลยี ‘กรีนไฮโดรเจน’ หากสำเร็จไทยจะเป็นฮับพลังงานกรีนไฮโดรเจนของภูมิภาคได้ในอนาคต แม้เราจะเป็นประเทศนำเข้าพลังงานแต่หากสามารถเพิ่มพลังงานทดแทนได้ เราก็จะยืนอยู่บนการพึ่งพาพลังงานได้มากขึ้น

 

ดันแผนลดการปล่อยคาร์บอน

ส่วนแผนการลดการปล่อยคาร์บอนของ ปตท.ให้สอดคล้องกับเป้าหมายของประเทศ ปตท.และบริษัทในเครือได้วางแผนลดการปล่อยคาร์บอนลงเรื่อยๆ โดยขณะนี้ทั้งกลุ่ม ปตท.มีการปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ประมาณ กลุ่มปล่อยอยู่ที่ 45 ล้านตันต่อปี เป็นของบริษัท ปตท. 11 ล้านตัน ที่เหลือเป็นของบริษัทในกลุ่มซึ่งได้มีการทำแผนร่วมกันในการลดการปล่อยคาร์บอนเพื่อช่วยลดค่าเฉลี่ยการปล่อยก๊าซคาร์บอนของประเทศลงด้วย

นอกจากนี้ ปตท.ยังมีการผลักดันการใช้เทคโนโลยีการกักเก็บคาร์บอน (CCS) และเทคโนโลยีการดักจับคาร์บอน และการนำมาใช้ประโยชน์ (CCU) โดยจะริเริ่มใน 1 โครงการจากที่มีการศึกษาอยู่ 4 โครงการ หากสามารถทำได้สำเร็จจะเริ่มขยายผลสู่โครงการอื่นๆ และเริ่มรวบรวมคาร์บอนฝั่งจากภาคตะวันออกไปกักเก็บได้

สำหรับโครงการปลูกป่า 1 ล้านไร่ และมีการดำเนินการดูแลต่อเนื่องมาโดยตลอด ปัจจุบันสามารถดูดซับคาร์บอนได้ 2.1 ล้านตันต่อปี และปล่อยออกซิเจนได้ 1.7 ล้านตันต่อปี และสร้างรายได้กว่า 280 ล้านบาทต่อปีจากภาคท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่เกิดขึ้นถือว่าช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน โดย กลุ่ม ปตท.มีแผนจะปลูกป่าอีก 2 ล้านไร่ เป็นของบริษัท ปตท.เอง 1 ล้านไร่ และบริษัทในเครืออีก 1 ล้านไร่ เพื่อให้ช่วยดูดซับคาร์บอน และปล่อยก๊าซออกซิเจนออกสู่บรรยากาศ

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์