ดอลลาร์อ่อนค่า จับตา 3 แบงก์ชาติยักษ์ใหญ่ประชุมนโยบายการเงินสัปดาห์หน้า
ดอลลาร์อ่อนค่าเทียบสกุลเงินหลัก ขณะที่นักลงทุนจับตาการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางชั้นนำของโลก 3 แห่งในสัปดาห์หน้า ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้
เมื่อเวลา 23.37 น.ตามเวลาไทย ดัชนีดอลลาร์ ซึ่งเป็นดัชนีวัดความเคลื่อนไหวของดอลลาร์เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก 6 สกุลในตะกร้าเงิน ลบ 0.25% สู่ระดับ 104.83 ขณะที่ดอลลาร์ร่วงลง 0.44% สู่ระดับ 1.055 เทียบยูโร และอ่อนค่า 0.06% สู่ระดับ 136.51 เยน
ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดการประชุมในวันที่ 13-14 ธ.ค. ส่วนธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะจัดการประชุมตรงกันในวันที่ 15 ธ.ค.
นักวิเคราะห์และตลาดการเงินต่างคาดการณ์ว่า เฟด, อีซีบี และบีโออี จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมครั้งนี้
*เฟด*
นักวิเคราะห์คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมรอบนี้ หลังจากปรับขึ้น 0.75% เป็นจำนวน 4 ครั้งติดต่อกัน
ตลาดจับตาถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ซึ่งจะบ่งชี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปี 2566
นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยทะลุ 5.00% ในกลางปีหน้า หลังการเปิดเผยรายงานการจ้างงานที่แข็งแกร่ง ซึ่งบ่งชี้ว่าการคุมเข้มนโยบายการเงินของเฟดในช่วงที่ผ่านมายังคงไม่สามารถสกัดความร้อนแรงของตลาดแรงงาน ทำให้มีการคาดการณ์ว่าเฟดจะเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปีหน้าเพื่อทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงและสกัดการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อ
FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่กรอบ 5.00-5.25% ในเดือนพ.ค.2566 หลังจากก่อนหน้านี้คาดการณ์ที่ระดับ 4.75-5.00%
อย่างไรก็ดี ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกรายงานคาดการณ์ว่า เฟดอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ย 2.00% ในปีหน้า หากสหรัฐเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย
ทั้งนี้ นายเอริค โรเบิร์ตสัน หัวหน้านักวิจัยระดับโลกของสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด ออกรายงานชื่อ "เรื่องเซอร์ไพรส์ของตลาดการเงินในปี 2566" หรือ "The financial-market surprises of 2023" โดยได้ระบุถึงเหตุการณ์หลายอย่างที่อาจเกิดขึ้นในปีหน้า ซึ่งตลาดได้มองข้ามไป
หนึ่งในเหตุการณ์ในรายงานดังกล่าวคือ หากเศรษฐกิจสหรัฐเผชิญภาวะถดถอยอย่างรุนแรงในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 เฟดอาจจะต้อง ปรับลดอัตราดอกเบี้ยรวม 2.00%
รายงานระบุว่า เฟดได้ประเมินความเสี่ยงของเงินเฟ้อต่ำเกินไปในปี 2565 ขณะที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด ยอมรับว่าเงินเฟ้อไม่ใช่ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราวตามที่เฟดระบุก่อนหน้านี้ ทำให้เฟดต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรุนแรงในปีนี้เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ดี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปี 2565 ทำให้เฟดมีความเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจอาจเผชิญภาวะถดถอยในปี 2566 ขณะที่เฟดประเมินความเสียหายต่อเศรษฐกิจต่ำเกินไปจากการใช้นโยบายคุมเข้มทางการเงิน
"แถลงการณ์ของ FOMC มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เน้นความจำเป็นในการขยายเวลาคุมเข้มนโยบายการเงิน ไปสู่ความจำเป็นในการจัดสรรสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจเพื่อหลีกเลี่ยงการทรุดตัวลงอย่างรุนแรง" นายโรเบิร์ตสันระบุในรายงาน
*อีซีบี*
นักวิเคราะห์คาดว่าอีซีบีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% ในการประชุมรอบนี้ หลังจากที่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 2.00% ในปีนี้
นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่อีซีบีต่างส่งสัญญาณชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่า เงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มใกล้แตะจุดสูงสุด
นายเอ็ดเวิร์ด ซิคลูนา ผู้ว่าการธนาคารกลางมอลตา และเป็นสมาชิกคณะกรรมการอีซีบีกล่าวว่า เงินเฟ้อจะผ่านจุดสูงสุดในไม่ช้า และอีซีบีไม่มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% อีกครั้งเหมือนที่ได้ดำเนินการเมื่อวันที่ 27 ต.ค.
นายฟิลิป เลน หัวหน้านักวิเคราะห์ของอีซีบี กล่าวว่า เขาเชื่อว่าเงินเฟ้อใกล้แตะจุดสูงสุดแล้ว แม้ว่าอีซีบียังมีความจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมแรงกดดันจากราคา
ส่วนนายคอนสแตนตินอส เฮโรโดตู สมาชิกคณะกรรมการอีซีบี กล่าวว่าอีซีบี มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป แต่ก็ใกล้สู่ระดับเป็นกลางแล้ว
สำนักงานสถิติแห่งสหภาพยุโรป (ยูโรสแตท) เปิดเผยตัวเลขเบื้องต้นของดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของยูโรโซนชะลอตัวสู่ระดับ 10.0% ในเดือนพ.ย. เมื่อเทียบรายปี จากระดับ 10.6% ในเดือนต.ค.
การปรับตัวของดัชนี CPI ในเดือนพ.ย.มีสาเหตุจากการชะลอตัวของราคาพลังงาน โดยดีดตัวขึ้น 34.9% ในเดือนพ.ย. แต่ต่ำกว่าระดับ 41.5% ในเดือนต.ค.
นอกจากนี้ ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้นในอัตราที่ลดลงเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนมิ.ย.2564 และในอัตราที่มากกว่านักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้
ก่อนหน้านี้ ดัชนี CPI พุ่งแตะ 10.6% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่ที่ยูโรสแตทเริ่มรวบรวมข้อมูลดังกล่าวในปี 2540 และสูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ อีซีบี กำหนดไว้ที่ระดับ 2%
*บีโออี*
ผลการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ระบุว่า นักวิเคราะห์คาดว่าบีโออีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพียง 0.50% สู่ระดับ 3.50% ในการประชุมรอบนี้
ก่อนหน้านี้ บีโออีประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.0% ในการประชุมวันที่ 3 พ.ย. ซึ่งเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 33 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 2532 และเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 8 นับตั้งแต่เดือนธ.ค.2564
นอกจากนี้ นักวิเคราะห์คาดว่าบีโออีจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.50% ในไตรมาสแรกของปี 2566 และอีก 0.25% ในไตรมาส 2 ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของบีโออีแตะเพดานสูงสุดที่ 4.25