“เอสซีจี” ลงทุนแสนล้านทรานส์ฟอร์ม ธุรกิจ “โกกรีน-อีวี-การแพทย์-หุ่นยนต์”
เปิดบทใหม่ “เอสซีจี” ปรับสู่การเป็นผู้นำนวัตกรรมโซลูชั่น ตอบโจทย์ใหม่เมกะเทรนด์โลก ด้านพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า สุขภาพและการแพทย์ สมาร์ทลิฟวิ่ง หุ่นยนต์อัจฉริยะ พร้อมลุยเป้าการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เร่งเดินหน้าลงทุนทั่วโลก ด้วยงบลงทุน 1 แสนล้านบาท ภายใน 5 ปี
ช่วงที่ผ่านมาภาคธุรกิจต้องเผชิญเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง ทั้งการขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ทำให้ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวอย่างรวดเร็วให้ทันต่อเทรนด์โลกและความต้องการของตลาดรวมทั้งการต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งต่อทรัพยากรให้คนรุ่นถัดไป
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG กล่าวว่า สถานการณ์ที่เข้ามากระทบกับธุรกิจทำให้ SCG มุ่งพัฒนานวัตกรรมโซลูชันแห่งอนาคตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน ประกอบไปด้วย โซลูชันด้านพลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้า สุขภาพและการแพทย์ สมาร์ตโลจิสติกส์ สมาร์ตลิฟวิ่ง หุ่นยนต์อัจฉริยะและนวัตกรรมสีเขียว
“ธุรกิจด้านนวัตกรรมโซลูชันเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงและเชื่อว่าจะสร้างการเติบโตอย่างแข็งแกร่งให้กับบริษัท โดยเอสซีจีได้วางแผนขยายโครงการลงทุนทั่วโลก และใช้กองทุน Deep Tech Fund เพื่อพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง โดยมุ่งขยายการเติบโตในอาเซียนรวมถึงศึกษาการลงทุนใหม่ในอินเดีย ด้วยงบลงทุน 100,000 ล้านบาท ในระยะ 5 ปีข้างหน้า”
ยึดแนวทางธุรกิจ “อีเอสจี”
นายรุ่งโรจน์ กล่าวว่า เชื่อมั่นว่าทุกโซลูชันที่เอสซีจีพัฒนาขึ้น จะช่วยให้ผู้คนได้ใช้ชีวิตอย่างประหยัด ปลอดภัย สะดวก และยังส่งต่อทรัพยากรให้คนรุ่นถัดไปตามแนวทาง ESG 4 Plus โดยบทต่อไปสำหรับเอสซีจีจะมุ่งส่งมอบเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ รวมทั้งเป้าหมายความยั่งยืน
นายธรรมศักดิ์ เศรษฐอุดม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ SCG กล่าวว่า ปัจจุบันราคาพลังงานทั้งถ่านหิน น้ำมัน และแก๊สธรรมชาติ โดยยังคงตัวอยู่ในระดับสูงและคาดว่าจะเป็นปัญหาต้นทุนในระยะยาวของภาคธุรกิจในช่วง 2-3 ปีนี้ เนื่องจากต้นเหตุของราคาพลังงานสูงเกิดจากฝั่งผู้ผลิต ซึ่งเชื่อมโยงกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์และไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลายในเร็ววัน
รวมทั้งปัญหาโลกร้อนที่เป็นเรื่องเร่งด่วนภาคธุรกิจจึงต้องเร่งปรับตัวในเรื่องการลดต้นทุนพลังงาน การใช้พลังงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด รวมทั้งการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานทางเลือก
ลุยโซลูชันพลังงานสะอาด
ทั้งนี้ SCG ได้มีการพัฒนาโซลูชันพลังงานสะอาด ประกอบไปด้วย พลังงานชีวมวลคุณภาพสูง (biomass) จากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร เช่น กะลาปาล์ม เหง้ามัน ต้นปาล์ม ใยปาล์ม ใบอ้อย และเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) โดยได้มีการพัฒนาเป็นพลังงานชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) เพื่อใช้ทดแทนถ่านหิน
นอกจากนี้ ยังมีพลังงานแสงอาทิตย์จากโซลาร์ รูฟ สำหรับกลุ่มที่อยู่อาศัย โรงงานและนิคมอุตสาหกรรม กลุ่มอาคารขนาดใหญ่ กลุ่มโรงพยาบาล กลุ่มโรงแรม และห้างสรรพสินค้า รวมทั้งพลังงานลมและอยู่ระหว่างการศึกษาพลังงานทางเลือกอื่นๆที่มีศักยภาพ เช่น ไฮโดรเจน เซลล์เชื้อเพลิง (fuel cell) ซึ่งปัจจุบัน เอสซีจีมีกำลังการผลิตพลังงานสะอาดกว่า 195 เมกะวัตต์โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3,000 เมกะวัตต์ ภายใน 5 ปี
ทั้งนี้ เอสซีจี มีความพร้อมเสนอโซลูชั่นพลังงานสะอาดครบวงจรให้แก่ลูกค้าเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน ภายใต้บริษัท เอสซีจี คลีนเนอร์ยี่ ซึ่งมีนวัตกรรมเด่น 2 เรื่อง สำหรับภาคอุตสาหกรรม ได้แก่
1.Smart Grid เครือข่ายอัจฉริยะจัดการซื้อ-ขายพลังงานสะอาดระหว่างโรงงานและนิคมอุตสาหกรรมภายในกริดเดียวกัน
2.Thermal Energy Storage หรือ Heat Battery นวัตกรรมแบตเตอรี่กักเก็บความร้อนจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่สามารถเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานความร้อน เพื่อกักเก็บความร้อนไว้ใช้ในช่วงที่ไม่มีแสงแดด รวมทั้งเป็นการป้องกันปัญหาพลังงานขาดแคลน อีกทั้งยังลงทุนต่ำกว่าแบตเตอรี่ลิเธียมไออน และมีประสิทธิภาพในการกักเก็บพลังงานที่สูงกว่า
“โดยเอสซีจี ตั้งเป้าที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทางเลือกเป็น 40-50% ในช่วง 2 ปีข้างหน้า ทดแทนการใช้ถ่านหินในโรงงานผลิตซีเมนต์ โดยจะเพิ่มสัดส่วนเป็น 70% ในปี 2030 และขยับสู่เป้าหมายพลังงานสะอาด 100% ภายในปี 2050” นายธรรมศักดิ์ กล่าว
เร่งพัฒนาโซลูชั่น “อีวี”
นายสุรชา อุดมศักดิ์ รองผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่สายงานนวัตกรรม บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGC กล่าวว่า บริษัทฯ ยังได้พัฒนาโซลูชันด้านยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอีวีของประเทศ ตั้งแต่การพัฒนาพลาสติกสำหรับเป็นชิ้นส่วนรถอีวี โดยล่าสุด SCGC ร่วมทุนกับบริษัท Denka จากประเทศญี่ปุ่น ตั้งโรงงานผลิตสารเติมแต่งแบตเตอรี่ “อะเซทิลีนแบล็ค” ส่วนประกอบในแบตเตอรี่ลิเธียมไอออน ซึ่งจะมีกำลังผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถอีวีราว 1 ล้านคัน
นอกจากนี้ ยังมี EV Fleet Solution ที่สามารถให้บริการอีวีได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การจัดหายานยนต์ไฟฟ้า ประกันภัย ซ่อมบำรุง สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการให้บริการรูปแบบการเช่า การขนส่งสินค้า และรับ-ส่งพนักงาน
ทั้งนี้ เพื่อรองรับการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ โดยปี 2022 ตั้งเป้าส่งมอบรถอีวี จำนวน 492 คัน ซึ่งสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 6,400 ตัน และภายในปี 2023 ตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นเป็น 9,600 ตันต่อปี
ลุยธุรกิจพลาสติกสีเขียว
ขณะเดียวกัน ได้มุ่งพัฒนานวัตกรรมพลาสติกเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม SCGC GREEN POLYMER ทั้ง 4 โซลูชัน ได้แก่ ลดการใช้ทรัพยากร การออกแบบเพื่อให้รีไซเคิลได้ นำมาหมุนเวียนใช้ใหม่และย่อยสลายได้ เช่น EcoBioPlas นวัตกรรมเร่งการย่อยสลายทางชีวภาพ แก้ปัญหาพลาสติกที่หลุดรอดไปสู่ธรรมชาติ
นอกจากนี้ SCGC ลงทุนในบริษัทต่างชาติ ได้แก่ KRAS Group ผู้นำด้านการจัดการวัสดุเหลือใช้ครบวงจรจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ช่วยเพิ่มศักยภาพในการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิล อีกทั้งลงนามข้อตกลงความร่วมมือกับ Braskem ผู้นำด้านพลาสติกชีวภาพระดับโลกจากประเทศบราซิล เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนในโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพในไทยเพื่อผลิตเม็ดพลาสติกประเภทไบโอ-พอลิเอทิลีน
ขยายเข้าธุรกิจวัสดุการแพทย์
รวมทั้ง SCGC มุ่งตอบโจทย์เทรนด์พลาสติกแห่งอนาคตในด้านสุขภาพและสังคมผู้สูงอายุ โดยขยายธุรกิจเข้าสู่ตลาดวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ปัจจุบันมีการผลิตสินค้าทางการแพทย์แล้วกว่า 15,000 รายการ จากการเข้าถือหุ้น Deltalab ประเทศสเปน ภายใต้แบรนด์ Deltaswab ที่เก็บตัวอย่างสิ่งส่งตรวจจากร่างกาย และ Cryoinstant หลอดน้ำยาสำหรับเก็บรักษาตัวอย่างเชื้อด้วยความเย็น
อีกทั้งผลิตเม็ดพลาสติกเพื่อการแพทย์ SCGC™ PP และ PVC สำหรับผลิตอุปกรณ์การแพทย์และเภสัชกรรม อาทิ กระบอกเข็มฉีดยา สายและถุงน้ำเกลือ ถุงเลือด รวมถึงโซลูชันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของบุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วย อาทิรถเข็นจ่ายยาอัจฉริยะ ถังทิ้งเข็มฉีดยา รถเข็นผู้ป่วย แคปซูลขนส่งผู้ป่วยทางอากาศ และหน้ากากอนามัยภายใต้แบรนด์VAROGARD
สำหรับโซลูชั่นด้านโลจิสติกส์ SCGJWD ถือเป็นบริการขนส่งและซัพพลายเชนครบวงจรรายใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยให้บริการทุกกลุ่มอุตสาหกรรม ขนส่งหลากหลายทั้งทางบก เรือ ราง อากาศ รองรับสินค้าที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ อาทิ วัคซีน ยางานศิลปะมูลค่าสูง รถยนต์ อาหารแช่แข็ง สินค้าอันตราย พร้อมเครือข่ายครอบคลุมทั่วอาเซียนและจีน