‘บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์’ เคาะแผน Quick Win ดัน ‘ศก.สร้างสรรค์’ เชื่อมไทย – เอเชีย

‘บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์’ เคาะแผน Quick Win ดัน ‘ศก.สร้างสรรค์’ เชื่อมไทย – เอเชีย

รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านการส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ เพื่อสร้างมูลค่า และโอกาสทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งนี้เพื่อขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างจริงจังได้มีการตั้งคณะกรรมการ คณะกรรมการนโยบายส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศด้วย Soft Power (บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์) โดยเมื่อเร็วๆนี้คณะกรรมการชุดนี้ได้มีการจัดประชุมไปครั้งแรก โดยมีนายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในฐานะประธานกรรมการฯ (ผู้แทนนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี) เป็นประธาน

 

พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA  กรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
 

รวมทั้งภาคเอกชนและภาคีเครือข่าย ได้แก่ หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) สมาพันธ์สมาคมภาพยนตร์แห่งชาติ สมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ สมาคมผู้บริหารการผลิตภาพยนตร์ต่างประเทศ และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

โดยการประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อกำหนดกรอบนโยบายการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 และเสริมสร้างบทบาทความเป็นผู้นำของไทยในเวทีโลก ทั้งนี้ที่ประชุมได้มีการรับฟังสถานการณ์ปัจจุบันของ Soft Power ในประเทศไทย

โดยประเทศไทยมีทุนทางวัฒนธรรม “5F” ได้แก่ อาหาร (Food) ศิลปะการป้องกันตัวแบบไทย (Fight) ภาพยนตร์และวีดิทัศน์ (Film) การออกแบบแฟชั่นไทย (Fashion) และเทศกาลประเพณีไทย (Festival) ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 35 จากดัชนี “Global Soft Powe”r อีกทั้งมีอุตสาหกรรมคอนเทนต์และดิจิทัลคอนเทนต์ที่มีศักยภาพ อันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล

‘บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์’ เคาะแผน Quick Win ดัน ‘ศก.สร้างสรรค์’ เชื่อมไทย – เอเชีย

ทั้งนี้บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์จึงเห็นชอบแนวทางการขับเคลื่อน Soft Power ไทยในระยะแรก หรือ Quick Win (6-12 เดือน) ใน 3 เรื่อง ได้แก่

  1. ผลักดันคอนเทนต์ 5F ที่เป็นที่นิยมและสอดคล้องกับความต้องการเข้าสู่ตลาดอาเซียนและเอเชีย
  2. เผยแพร่ภาพลักษณ์วัฒนธรรมสร้างสรรค์ของประเทศ (Nation Branding)   
  3. ขยายการสนับสนุนธุรกิจคอนเทนต์และดิจิทัลคอนเทนต์ในไทย โดยจัดกิจกรรมทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น

โดยทั้ง 3 ข้อ อยู่บนเป้าหมายภูมิภาคในอาเซียน และเอเชีย ภายใต้แนวคิด “Connecting Asia” และดำเนินการผ่าน 2 ยุทธศาสตร์ PUSH & PULL คือ ยุทธศาสตร์ส่งเสริมการส่งออกคอนเทนต์และดิจิทัลคอนเทนต์ในตลาดอาเซียนและเอเชีย (PUSH) ได้แก่ เพิ่มการผลักดันคอนเทนต์งานแสดง งานประกวด และตลาดการค้านานาชาติ

‘บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์’ เคาะแผน Quick Win ดัน ‘ศก.สร้างสรรค์’ เชื่อมไทย – เอเชีย

 

อีกทั้งเพิ่มการสร้างกิจกรรมภาครัฐและภาคเอกชนในต่างประเทศ พร้อมเน้นสื่อสารผ่านชุดภาพลักษณ์ร่วม และ ยุทธศาสตร์สร้างแรงดึงดูดการลงทุน ธุรกิจ และกิจกรรมจากต่างประเทศเข้าสู่ในประเทศ (PULL) จัดอีเวนต์ระดับชาติ (Icon Event) ส่งเสริมเทคโนโลยีเพื่อรองรับกลุ่มธุรกิจใหม่ (New Business) และปรับปรุงมาตรการการจูงใจและกฎระเบียบให้เอื้ออำนวย

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณามาตรการ รวมถึงแผนงาน หรือโครงการจากรัฐและเอกชน เพื่อรองรับยุทธศาสตร์ดังกล่าวและขับเคลื่อนให้เป็นรูปธรรม เช่น มาตรการส่งเสริมกองทุนแบบ  Investment Trust เพื่อยกระดับคุณภาพคอนเทนต์ไทยออกสู่ตลาดสากล รวมทั้งผลักดันโครงการงบประมาณปี 2566 จำนวน 10 โครงการ วงเงินประมาณ 263 ล้านบาท

 

โดยมีโครงการที่สำคัญ ได้แก่ โครงการ Thai Festival กิจกรรมจับคู่เจรจาการค้าในงาน Hong Kong Film & TV Market 2023  และโครงการ Content Lab และมาตรการคืนเงิน (Cash Rebate) แก่กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาทักษะและยกระดับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเกมไทยต่อยอดสู่ระดับสากล (depa) โดยงบประมาณกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และโครงการ Soft Power for Better Thailand ของ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และโครงการที่เสนอขอเพิ่มเติมในปี 2566 จำนวน 7 โครงการ วงเงินประมาณ 575 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการที่สำคัญ อาทิ การประกวด Miss Universe โดยกระทรวงวัฒนธรรม และโครงการ Thai Music Artist to the Global Stage โดย CEA

 

ทั้งนี้ในปี 2567 บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ยังได้มีการเตรียมแผนงาน และโครงการเพื่อขับเคลื่อน Soft Power จำนวน 16 โครงการ โดยมีโครงการที่สำคัญ เช่น โครงการ International Market for Game Industry โครงการ Asian Contents & Film Market (ACFM) 2023 โครงการ Thailand International Content Market 2024 (TICoM) และโครงการต่อยอดและส่งเสริมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์วัฒนธรรมไทย (CPOT) เป็นต้น 

นอกจากนี้บอร์ดซอฟต์พาวเวอร์ รับทราบการจัดทำแผนขับเคลื่อน Soft Power ไทย ในระยะยาวผ่านร่างของกระทรวงวัฒนธรรม ประกอบด้วย  (ร่าง) แผนปฏิบัติการส่งเสริมภาพลักษณ์ประเทศผ่านสื่อบันเทิงในลักษณะอำนาจละมุน และ  (ร่าง) แผนการขับเคลื่อน Soft Power ด้วยมิติทางวัฒนธรรม

 

เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย (พ.ศ. 2566-2570) ซึ่งจะขยายกรอบคลุมการทำงานให้ครอบคลุมในมิติต่าง ๆ ในวงกว้าง และขับเคลื่อน Soft Power ยกระดับแบรนด์ของประเทศไทยในเวทีโลก ช่วยเสริมพลังผลักดันเศรษฐกิจไทย และการท่องเที่ยวให้เติบโตต่อไป