เปิดแผน ‘ด่วนชั้นที่ 2’ สายแรกในไทย แก้รถติดงามวงศ์วาน – พระราม 9
การทางพิเศษแห่งประเทศไทยเปิดแผนสร้างทางด่วนชั้นที่ 2 เต็มรูปแบบสายแรกในไทย หวังแก้ปัญหารถติดบนทางด่วนช่วงงามวงศ์วาน - พระราม 9 ประเมินจัดใช้งบ 3 หมื่นล้านบาท ลุยสร้างภายในปี 2568
นายสุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยถึงการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 1 (ปฐมนิเทศโครงการ) โครงการทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 (Double Deck) ช่วงงามวงศ์วาน-พระราม 9 โดยระบุว่า โครงการนี้ถือเป็นโครงการลงทุนตามแผนของ กทพ.คาดว่าใช้เงินลงทุนราว 3 หมื่นล้านบาท เป็นโครงการเพื่อแก้ไขปัญหาการจราจรบนโครงข่ายทางพิเศษ เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมาได้รับการร้องเรียนจากประชาชนจำนวนมาก ว่าการจราจรติดขัดสาหัส โดยเฉพาะบริเวณช่วงทางแยกต่างระดับพญาไท ที่ด้านเหนือไปประชาชื่น และด้านใต้ไปบางโคล่
อย่างไรก็ดี ในช่วงที่ผ่านมา กทพ.ได้แก้ไขปัญหาด้วยการจัดจราจรเพื่ออำนวยความสะดวกในช่วงการจราจรคับคั่ง แต่เนื่องจากพื้นที่ทางพิเศษส่วนนี้ มีปัญหาที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความจุของทางด่วนไม่เพียงพอ จุดตัดกระแสจราจรบริเวณทางร่วม และทางแยก การจราจรติดขัดบริเวณทางลงทางด่วน การไหลเวียนจราจรบริเวณด่านเก็บค่าผ่านทาง และคอขวดทางกายภาพบนทางด่วน
ดังนั้นการจัดจราจรเพียงอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ ต้องแก้ไขปัญหาทางกายภาพ ขยายพื้นที่จราจรซึ่งแนวทางที่ดำเนินการได้ คือ การก่อสร้างทางพิเศษยกระดับชั้นที่ 2 เพื่อแยกเส้นทางรถให้ด้านเหนือที่จะไปประชาชื่น ขึ้นไปใช้ทางด่วนชั้นที่ 2 ส่วนด้านใต้ที่จะไปบางโคล่ ให้ใช้ทางด่วนเดิมด้านล่าง เพื่อไม่ให้กระแสการจราจรตัดกัน
สำหรับแนวเส้นทางของโครงการจะเริ่มต้นที่บริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน เป็นทางยกระดับซ้อนทับไปตามแนวสายทางของทางด่วนศรีรัช (ทางด่วนขั้นที่ 2) มุ่งทิศใต้ เลี้ยวซ้ายไปทางทิศตะวันออกบริเวณทางแยกต่างระดับพญาไท ผ่านทางแยกต่างระดับมักกะสัน และสิ้นสุดบริเวณหลังด่านเก็บค่าผ่านทางอโศก 4 ของทางด่วนศรีรัช รวมระยะทาง 17 กิโลเมตร มีขนาด 4 ช่องจราจร (2 ช่องจราจรต่อทิศทาง)
โดยโครงการมีด่านเก็บค่าผ่านทาง 2 แห่ง ได้แก่
- ด่านประชาชนชื่น (ชั้นที่ 2)
- ด่านมักกะสัน
มีทางขึ้น-ลง 4 ตำแหน่ง ได้แก่
- ทางขึ้น-ลง จุดเริ่มต้นโครงการบริเวณทางแยกต่างระดับงามวงศ์วาน
- ทางขึ้นลงบริเวณย่านพหลโยธิน
- ทางขึ้น-ลงจุดสิ้นสุดโครงการบริเวณโรงพยาบาลพระราม 9
- ทางลงบริเวณทางแยกต่างระดับมักกะสัน
โดยโครงการจะครอบคลุมพื้นที่ศึกษา ได้แก่ จังหวัดนนทบุรี 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองนนทบุรี และกรุงเทพฯ 7 เขต ได้แก่ เขตบางซื่อ, จตุจักร, พญาไท, ดุสิต, ราชเทวี, ดินแดง และห้วยขวาง
สำหรับแผนดำเนินงานปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนศึกษาความเหมาะสมทางด้านวิศวกรรม เศรษฐกิจ การเงิน และผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยคาดว่าหลังรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 แล้วเสร็จ ในช่วงเดือน ม.ค.2566 จะจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นฯ ครั้งที่ 2 เพื่อเพิ่มเติมรายละเอียดของการศึกษาโครงการให้มากขึ้น
เบื้องต้นกำหนดว่าในปี 2565 - 2567 จะเร่งรัดขั้นตอนศึกษาความเหมาะสมฯ ออกแบบเบื้องต้น และจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และรายงานผลการศึกษาและวิเคราะห์การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) คาดว่าจะศึกษาแล้วเสร็จภายใน ส.ค.2566 หลังจากนั้นในปี 2566 - 2567 จะขออนุมัติรายงาน EIA คู่ขนานไปกับช่วงปี 2566 - 2568 จะดำเนินการขอใช้พื้นที่ และในปี 2568 - 2573 จะก่อสร้างโครงการฯ และเปิดให้บริการในปี 2573