กรมประมง ย้ำ ห้ามครอบครองปลาปิรันยา ปลาดุกไฟฟ้า ปลาไหลไฟฟ้า
กรมประมง เร่งกวดขันการบังคับใช้กฎหมาย มาตรา 64 และ 65 ห้ามครอบครองสัตว์น้ำ 3 ชนิด และห้ามนำเข้า นำออก นำผ่าน เพาะเลี้ยง สัตว์น้ำ 13 ชนิด
นายบุญชา สุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า เมื่อวันอังคาร ที่ 20 ธันวาคม ที่ผ่านมา ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ ควบคุม และบังคับใช้กฎหมายในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร กรมประมง นำโดยนายประสิทธิ์ คงพรปรารถนา ประมงพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นหัวหน้าชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ พร้อมด้วยคณะเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการเฉพาะกิจ จากกองวิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดกองวิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดกองบริหารจัดการทรัพยากรและกำหนดมาตรการ
ลงพื้นที่ควบคุม และบังคับใช้กฎหมายภายใต้มาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ร้านจำหน่ายสัตว์น้ำในเขตพื้นที่ตลาดนัดสวนจตุจักร (โซนสัตว์น้ำ) เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร โดยจากการสุ่มตรวจ จำนวน 7 ร้าน ไม่พบสัตว์น้ำผิดกฎหมาย ตามมาตรา 64 และมาตรา 65 พร้อมประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการได้รับทราบถึงข้อกฎหมายดังกล่าวด้วย
สัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดครอบครองตามกฎหมายมาตรา 64 จำนวน 3 ชนิด ได้แก่
- ปลาปิรันยา
- ปลาดุกไฟฟ้า
- ปลาไหลไฟฟ้า
ซึ่งกฎหมายกำหนดห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ในครอบครองเนื่องจากอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายมนุษย์หรือต่อสัตว์น้ำอื่น สิ่งแวดล้อมของสัตว์น้ำ ทรัพย์สินของบุคคลหรือสาธารณสมบัติ
สัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดเพาะเลี้ยงตามกฎหมายมาตรา 65 จำนวน 13 ชนิด ได้แก่
- ปลาหมอสีคางดำ
- ปลาหมอมายัน
- ปลาหมอบัตเตอร์
- ปลาทุกชนิดในสกุล Cichla และปลาลูกผสม
- ปลาเทราท์สายรุ้ง
- ปลาเทราท์สีน้ำตาล
- ปลากะพงปากกว้าง
- ปาโกไลแอทไทเกอร์ฟิช
- ปลาเก๋าหยก
- ปลาที่มีการดัดแปลงหรือตัดแต่งพันธุกรรม GMO LMO ทุกชนิด
- ปูขนจีน
- หอยมุกน้ำจืดจีน
- หมึกสายวงน้ำเงินทุกชนิดในสกุล Hapalochlaena
กรมประมง จึงขอประชาสัมพันธ์แจ้งให้ผู้ประกอบการทราบ เนื่องจากโทษของผู้กระทำความผิดตามมาตรา 64 และ มาตรา 65 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งเป็นโทษที่สูง ดังนั้น จึงไม่อยากให้มีผู้ใดกระทำผิดด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์