การทางพิเศษฯ กระตุ้นลงทุนปลายปี ขายซองทางด่วนกะทู้ - ป่าตอง 1.4 หมื่นล้าน

การทางพิเศษฯ กระตุ้นลงทุนปลายปี ขายซองทางด่วนกะทู้ - ป่าตอง 1.4 หมื่นล้าน

กทพ.กระตุ้นลงทุนส่งท้ายปี 2565 เปิดขายซองโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เม็ดเงินกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท คาดเอกชนยื่นข้อเสนอ มี.ค.ปีหน้า

รายงานข่าวจากการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เปิดเผยว่า วันนี้ (26 ธ.ค.) กทพ.ได้เปิดจำหน่ายเอกสารสำหรับการคัดเลือกเอกชน (Request for Proposal : RFP) โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ตเป็นวันแรก จึงขอเชิญชวนเอกชนผู้สนใจเข้าร่วมคัดเลือกเป็นผู้ร่วมลงทุนโครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ตสามารถซื้อซองเอกสารได้ โดยมีกำหนดจะจำหน่ายเอกสารดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค. 2565 ถึงวันที่ 25 ม.ค. 2566

สำหรับโครงการทางพิเศษสายนี้ เป็นลักษณะโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนในรูปแบบ PPP Net Cost โดย กทพ. รับผิดชอบการจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน และผู้ร่วมลงทุนรับผิดชอบการออกแบบรายละเอียดและการก่อสร้าง (รวมถึงคู่ควบคุมงาน) และการดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา (Operation and Maintenance: O&M) โดยผู้ร่วมลงทุนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รายได้ค่าผ่านทาง

ทั้งนี้ ผู้ร่วมลงทุนจะต้องโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ลงทุนทั้งหมดให้แก่ กทพ. ก่อนเริ่มเปิดบริการในลักษณะของ BTO (Build-Transfer-Operate) โครงการทางพิเศษสายกะทู้ - ป่าตอง จังหวัดภูเก็ต เป็นโครงการก่อสร้างทางยกระดับมีอุโมงค์อยู่ในช่วงกลางของแนวเส้นทาง ระยะทางรวม 3.98 กิโลเมตร และมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 1 แห่ง โดยมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้นไม่เกิน 35 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 ระยะดังนี้

- ระยะที่ 1 ออกแบบและก่อสร้าง เป็นระยะเวลาไม่เกิน 4 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน

- ระยะที่ 2 การดำเนินงานบริหารจัดการและบำรุงรักษา โดยมีระยะเวลาตั้งแต่วันเปิดให้บริการโครงการฯ จนถึงวันที่ครบกำหนด 35 ปี นับจากวันที่ กทพ. มีหนังสือแจ้งให้เริ่มงาน

การทางพิเศษฯ กระตุ้นลงทุนปลายปี ขายซองทางด่วนกะทู้ - ป่าตอง 1.4 หมื่นล้าน

อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดขายซองเอกสารแล้ว กทพ.คาดว่าจะเปิดให้เอกชนยื่นข้อเสนอในต้นเดือน มี.ค.2566 และตามกระบวนการจะใช้เวลาพิจารณาข้อเสนอเอกชนเป็นเวลา 6 เดือน เบื้องต้นจึงคาดว่าจะได้ตัวเอกชนผู้ชนะการประมูลปลายปี 2566 ก่อนจะเริ่มต้นก่อสร้างโครงการในปี 2567 ก่อสร้างและเสร็จเปิดให้บริการในปี 2570

ทั้งนี้โครงการดังกล่าวมีมูลค่าเงินลงทุนรวม 14,670.57 ล้านบาท ประกอบด้วย ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 5,792.24 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง (รวมค่าควบคุมงาน) 8,878.34 ล้านบาท ทั้งนี้ กทพ.คาดการณ์ปริมาณจราจร ณ ปีเปิดให้บริการ ประมาณ 71,000 คันต่อวัน (รถยนต์ 36,000 คันต่อวัน รถจักรยานยนต์ 35,000 คันต่อวัน) สำหรับทางด่วนสายนี้มีขนาด 8 ช่องจราจร (ไป-กลับฝั่งละ 4 ช่องจราจร) ให้รถยนต์วิ่ง 2 ช่อง และรถจักรยานยนต์ 2 ช่องจราจร เบื้องต้นจัดเก็บค่าผ่านทางรถจักรยานยนต์ 15 บาท ,รถ 4 ล้อ 40 บาท, รถ 6-10 ล้อ 80 บาท และมากกว่า 10 ล้อ 125 บาท