ย้อนรอย 365 วันปี 65 กับ 5 เมกะโปรเจ็กต์ยังติดหล่ม
เปิดลิสต์ 5 เมกะโปรเจ็กต์โครงสร้างพื้นฐาน ตลอดปี 2565 เจอปมสะดุด หนักสุด “รถไฟฟ้าสายสีส้ม” ได้ตัวผู้ชนะ ยังไม่สามารถลงนามสัญญาได้ ขณะที่มหากาพย์รถไฟฟ้าสายสีเขียว เอกชนเปิดศึกทวงหนี้ต่อเนื่อง ด้าน 3 โครงการอีอีซี ยังไม่เริ่มตอกเสาเข็ม
ตลอดทั้งปี 2565 นับเป็นปีของการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 กระทบต่อเม็ดเงินจากภาคการท่องเที่ยว การส่งออก และการลงทุนจากต่างประเทศชะลอตัวไปบ้าง แต่ในทางกลับกันตลอดทั้งปีที่ผ่านมา 5 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่จะเป็นหัวหอกกระตุ้นเศรษฐกิจกลับยังเผชิญปัญหา ทำให้สเตตัส 365 วันที่ผ่านมา ยังคงติดหล่มอยู่ที่เดิม
โดย 5 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่กล่าวข้างต้นนั้น ประกอบด้วย
1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ - ศูนย์วัฒนธรรมฯ และการเดินรถทั้งเส้นทางช่วงบางขุนนนท์ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์)
การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ประกาศผลการประกวดราคาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์ – มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ในการประมูลรอบที่สองอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 16 ก.ย.2565 ซึ่งผลปรากฏว่า บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) เป็นผู้ยื่นข้อเสนอที่ผ่านการประเมินสูงสุด แต่ในขณะนี้ รฟม.ยังไม่สามารถผลักดันสู่กระบวนการลงนามสัญญากับเอกชนรายดังกล่าวได้ ส่งผลให้ในภาพรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม หากย้อนไทม์ไลน์ตั้งแต่การประกวดราคาครั้งแรกในช่วงเดือน ก.ค.2563 ถือได้ว่าโครงการนี้ใช้เวลาคัดเลือกเอกชนมาแล้วเป็นปีที่ 3
โดยนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ออกมาระบุถึงโครงการนี้ว่า เนื่องจากปัจจุบันโครงการยังอยู่ในกระบวนการยุติธรรม อยู่ระหว่างรอศาลปกครองพิจารณาจากกรณีที่ รฟม.ยกเลิกการประกวดราคาเมื่อปี 2564 และมีเอกชนรายหนึ่งยื่นฟ้องร้อง กระทรวงฯ ในฐานะผู้กำกับดูแล รฟม.จึงให้นโยบายไปว่า โครงการนี้ให้ดำเนินโครงการนี้เป็นไปอย่างโปร่งใส และต้องรอกระบวนการยุติธรรมที่ยังอยู่ระหว่างพิจารณาในคดี
ส่วนกรณีการรอคำตัดสินตามกระบวนการยุติธรรมที่อาจส่งผลกระทบต่อการเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีส้มล่าช้า โดยเฉพาะส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ - มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ที่ปัจจุบันงานโยธาดำเนินการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จ เนื่องจากสัญญาร่วมลงทุนรวมงานเดินรถและติดตั้งระบบตลอดเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่งรวมถึงช่วงตะวันออกด้วย กระทรวงฯ มองว่ากรณีนี้เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องรอ แม้การเปิดให้บริการจะล่าช้าออกไปบ้าง เพื่อให้เกิดความรอบคอบ โปร่งใสและไม่มีปัญหาตามมาภายหลัง
2.การพิจารณาสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว
นับตั้งแต่ 11 เม.ย.2562 ในช่วงการบริหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ได้มีคำสั่งตามมาตรา 44 ที่ 3/2562 เรื่อง การดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน (Through Operation) โดยให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นชุดหนึ่งเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การแบ่งปันผลประโยชน์จากค่าโดยสาร เจรจากับผู้รับสัมปทานรายเดิม และจัดทำร่างสัญญาร่วมลงทุน พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินเป็นการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว
โดยจากคำสั่งดังกล่าวส่งผลให้การบริหารรถไฟฟ้าสายสีเขียวเกิดปมปัญหาภาระหนี้สินคั่งค้างต่อเอกชนผู้รับจ้างเดินรถ เนื่องจากคำสั่งฉบับนี้ระบุให้มีการเจรจาให้เอกชนรับภาระค่าจ้างเดินรถของส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ตั้งแต่ พ.ค. 2562 และจากการเจรจาที่ยังไม่เป็นผล จึงทำให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังค้างจ่ายค่าจ้างเดินรถส่วนนี้ และยังไม่มีการจ่ายค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดย กทม.ให้เหตุผลว่าไม่ได้มีการทำนิติกรรมโดยตรงกับเอกชน มีเพียงการทำบันทึกมอบหมายให้กับ KT เท่านั้น
อย่างไรก็ดี จากปมปัญหาที่ยืดเยื้ออยู่นั้น ส่งผลให้ภาระหนี้สินที่กรุงเทพธนาคม และ กทม.ค้างจ่ายต่อเอกชนผู้รับสัมปทานในขณะนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมกว่า 4 หมื่นล้านบาท ซึ่งตลอดทั้งปี 2565 ที่ผ่านมากระทรวงมหาดไทยในฐานะผู้กำกับดูแล กทม.มีความพยายามจะเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะถูกยกออกจากวาระการพิจารณา และกระทรวงคมนาคมทำหนังสือคัดค้านถึง 8 ครั้ง
3.โครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก
โครงการลงทุนขนาดใหญ่ ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) นับได้ว่าตลอดทั้งปี 2565 พลาดเป้าหมายที่วางไว้ โดยโครงการพัฒนาท่าอากาศยานอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก เดิมสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) มีเป้าหมายส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2565 แต่จนขณะนี้ยังไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ได้
ซึ่งบริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA คู่สัญญาร่วมลงทุนออกมาระบุเป้าหมายใหม่ว่า คาดว่าน่าจะได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่และเริ่มตอกเสาเข็มโครงการได้ภายในปี 2566 เนื่องจากปัจจุบันทราบว่าทางภาครัฐยังอยู่ระหว่างดำเนินการส่วนของทางวิ่งและทางขับที่ 2 โดยในส่วนของเอกชนอยู่ระหว่างออกแบบโครงการงานก่อสร้างต่างๆ
4.โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อมสามสนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา)
อีกหนึ่งโครงการที่เจอตอสะดุดทำให้ในปี 2565 ไฮสปีดเทรนเชื่อมสามสนามบินยังไม่สามารถลงนามสัญญาร่วมลงทุนกับภาคเอกชนผู้ชนะการประมูลได้ เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เอกชนยื่นขอรัฐเยียวยาผลกระทบ เป็นที่มีของการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน โดยต้องการปรับแก้เงื่อนไขในการจ่ายค่าโอนสิทธิบริหารรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ และการเจรจาให้เอกชนลงทุนก่อสร้างพื้นที่ทับซ้อนของโครงการไฮสปีดไทบ - จีน ในช่วงดอนเมือง-บางซื่อ
ขณะที่การส่งมอบพื้นที่ทางเอกชนได้ยื่นข้อเสนอให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) เคลียร์ปัญหาในทุกพื้นที่ให้แล้วเสร็จ เพื่อส่งมอบพื้นที่ทั้งหมดครบ 100% โดยปัจจุบัน ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างรื้อย้ายสาธารณูปโภคและเวนคืนที่ดิน ช่วงดอนเมือง-สุวรรณภูมิ ส่วนช่วงสุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา พร้อมส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนแล้ว
แต่ภาพรวมโครงการเนื่องจากการเจรจาแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนยังไม่ได้ข้อสรุป และยังไม่สามารถผลักดันเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงทำให้ตลอดทั้งปีที่ผ่านมา โครงการไฮสปีดเทรนสายนี้ยังไม่สามารถเริ่มตอกเสาเข็มตามแผนที่ สกพอ.ประเมินไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนภายในปี 2565 และเอกชนจะสามารถเริ่มงานก่อสร้างในต้นปี 2566
5.โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) อู่ตะเภา
ปิดท้ายโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่ปี 2565 เรียกว่าไม่ขยับ โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา รัฐบาลได้มอบหมายให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหัวหอกของการลงทุน แต่เนื่องจากการบินไทยเผชิญปัญหาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้องค์กรต้องเข้าแผนฟื้นฟูกิจการ ประกอบกับอุตสาหกรรมการบินในปีที่ผ่านมาหยุดชะงัก ทำให้โครงการศูนย์ซ่อมบำรุงยังไม่ดึงดูดนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี การบินไทยได้กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการด้วยว่า จะยังคงเดินหน้าลงทุนสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา เนื่องจากมีความต้องการจากสายการบินในการซ่อมอากาศยานเพิ่มอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยในปี 2566 การบินไทยยังคงเดินหน้าเจรจากับนักลงทุนเพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในการพัฒนาศูนย์ซ่อมอากาศยานแห่งนี้ต่อไป