'นิด้า'ห่วงจัดทำงบฯล่าช้า – หนี้ครัวเรือน ฉุด ‘ศก.ไทย’ ปี 66 โตต่ำศักยภาพ
"นิด้า"มองเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัว 3-3.5% ยังโตต่ำกว่าศักยภาพ ห่วงปัจจัยจัดทำงบประมาณล่าช้า - หนี้ครัวเรือนสูง ส่งออกแผ่วฉุดเศรษฐกิจ มองการท่องเที่ยวเป็นพระเอกขับเคลื่อนเศรษฐกิจปี 66
เศรษฐกิจไทยปี 2565 ที่เพิ่งผ่านมาเป็นช่วงเวลาของการฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 โดยเศรษฐกิจกลับมาขยายตัวได้ในระดับ 3% ส่วนในปี 2566 หลายฝ่ายมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวต่อเนื่อง โดยได้อานิสงค์จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว การบริโภคของภาคเอกชน อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังเผชิญกับความไม่แน่นอนหลายด้านที่ทำให้เศรษฐกิจไทยอาจโตได้ต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น
“กรุงเทพธุรกิจ” สัมภาษณ์ ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร วิทยาการการจัดการสําหรับ นักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหาร ศาสตร์ (นิด้า) เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2566 ทั้งโอกาส และความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทยในปีนี้
ดร.มนตรี กล่าวว่าในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3 – 3.5% โดยเครื่องยนต์หลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจคือภาคการท่องเที่ยวซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าสู่ประเทศไทยจะเพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนที่มีประมาณ 11 ล้านคน เพิ่มขึ้นเป็น 22 ล้านคน และหากจีนมีการเปิดประเทศในส่วนของนักท่องเที่ยวที่ให้เดินทางออกท่องเที่ยวในต่างประเทศได้เต็มที่คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะเดินทางเข้าไทยอีกประมาณ 5 ล้านคน หรือครึ่งหนึ่งของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาไทยช่วงสถานการณ์โควิด-19 ปีละประมาณ 10 ล้านคน ก็จะทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยประมาณ 25 ล้านคนในปีนี้
ภาคของการท่องเที่ยวจะสร้างเม็ดเงินให้กับประเทศไทยประมาณ 1.5 ล้านล้าน ซึ่งรายได้ที่ฟื้นตัวขึ้นของภาคการท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกให้กับเศรษฐกิจไทยในปี 2566 นี้ ซึ่งการที่ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวดีขึ้นจะช่วยการจ้างงานแรงงานทั้งทางตรงและทางอ้อมโดยภาคการท่องเที่ยวนั้นมีแรงงานที่เกี่ยวข้องกว่า 10 ล้านคนซึ่งการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวจะช่วยให้เศรษฐกิจภาพรวมของประเทศดีขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตามในปี 2566 เครื่องยนต์เศรษฐกิจที่จะมีปัญหา เดินได้ไม่เต็มที่ก็คือเรื่องของการใช้จ่ายและการเบิกจ่ายงยประมาณของภาครัฐ การใช้จ่าย การบริโภคของประชาชน และการส่งออก โดยในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐนั้นในปี 2566 จะมีการเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้น ซึ่งตามปฎิทินเลือกตั้งและการจัดทำงบประมาณปี 2567 คาดว่าจะมีความล่าช้าออกไปจนถึงเดือน พ.ย. – ธ.ค. 2566 จากเดิมที่ปีงบประมาณใหม่จะเริ่มขึ้นในวันที่ 1 ต.ค.2566 โดยความล่าช้าของการจัดทำงบประมาณในปี 2566 ซึ่งมีการเลือกตั้ง สำนักงบประมาณจะออกระเบียบการใช้จ่ายงบประมาณไปพลางก่อน โดยตามระเบียบจะสามารถเบิกจ่ายได้เฉพาะงบประจำ แต่ไม่สามารถทำโครงการลงทุนใหม่ๆได้ ประกอบกับโดยปกติปีที่มีการเลือกตั้งนี้การทำโครงการใหม่ หรืออนุมัติการช่วยเหลือประชาชนในส่วนที่เป็นการกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชนรัฐบาลก็ต้องทำอย่างระมัดระวังเพราะอาจจะมีการร้องเรียนว่าเป็นการหาเสียงได้ ทำให้การเบิกจ่ายและการใช้จ่ายของภาครัฐในปี 2566 มีข้อจำกัดอยู่พอสมควร
สำหรับเรื่องของการใช้จ่ายของประชาชนนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่พอสมควรจากปัจจัยเรื่องของหนี้ครัวเรือน โดยหนี้ครัวเรือนของไทยยังอยู่ในระดับที่สูงถึง 89% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งในส่วนนี้เป็นเฉพาะหนี้ในระบบยังไม่รวมหนี้นอกระบบ โดยหนี้ครัวเรือนของไทยประกอบไปด้วยสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัย 30% หนี้รถยนต์ 20% หนี้สินส่วนบุคคล 50% โดยในส่วนนี้เป็นหนี้บัตรเครดิต 30% และหนี้สินที่เป็น personal loan 20% ซึ่งสัดส่วนหนี้ครัวเรือนที่สูงมากทำให้กระทบกำลังซื้อของประชาชน
ดร.มนตรี กล่าวว่าในส่วนของภาคการส่งออกที่เป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทยโดยมีสัดส่วนต่อจีดีพีถึง 72% ในปีนี้จะไม่ได้ขยายตัวได้มากเหมือนกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากประเทศคู่ค้าของไทยหลายประเทศเผชิญกับความเสี่ยงเรื่องเศรษฐกิจถดถอย และการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง ซึ่งสัญญาณของการส่งออกที่ชะลอตัวลงเริ่มเห็นในเดือน ต.ค. – พ.ย.ที่ผ่านมาที่การส่งออกไทยเริ่มติดลบ
ซึ่งหากภาคการส่งออกในปี 2566 ไม่สามารถขยายตัวได้ หรืออาจจะขยายตัวได้เพียง 1% ก็จะกระทบกับจีดีพีรวมของประเทศไทยมากเนื่องจากหากส่งออกขยายตัวได้ 4% จะทำให้จีดีพีขยายตัวได้ประมาณ 1% แต่หากส่งออกไม่ขยายตัวจีดีพีของประเทศไทยก็จะต้องอาศัยเครื่องยนต์อื่นๆในการทำให้เศรษฐกิจขยายตัว
“ในปี 2566 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3 – 3.5% ซึ่งแม้จะขยายตัวได้แต่ก็ยังถือว่าโตต่ำกว่าศักยภาพที่ควรจะเป็น โดยศักยภาพของเศรษฐกิจไทยนั้นควรเติบโตได้ในระดับ 5% โดยในปีนี้ข้อจำกัดสำคัญคือเรื่องของการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้า
ขณะที่การบริโภคของประชาชนที่มีข้อจำกัดจากหนี้ครัวเรือน และการส่งออกโดยรวมที่จะไม่ได้ขยายตัวมากเหมือนกับปีที่ผ่านมา ส่วนเครื่องยนต์ที่จะเป็นพระเอกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยคือเรื่องของภาคการท่องเที่ยวที่จะเห็นการฟื้นตัวเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน” ดร.มนตรี กล่าว