“จุฬา สุขมานพ”เลขาธิการอีอีซีคนใหม่ รับโจทย์ใหญ่เร่งลงทุนฟื้นเศรษฐกิจ
จุฬา สุขมานพ เลขาฯอีอีซีคนใหม่ บอร์ดเคาะชื่อเตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาสัญญาก่อนเดินหน้าทำงาน รับ 3 ภารกิจสำคัญ เดินหน้าเพิ่มมูลค่าการลงทุน ขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างความเป็นอยู่ที่ดีของคนในพื้นที่อีอีซีตอบโจทย์เมืองสมาร์ทซิตี้
การประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) ครั้งที่ 5/2565 เมื่อวันที่ 28 ธ.ค.2565 มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการ กพอ.เป็นประธาน โดยมีการประชุมวาระลับเพื่อพิจารณาชื่อเลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) คนใหม่ แทน “คณิศ แสงสุพรรณ” ที่หมดวาระไปตั้งแต่วันที่ 17 ส.ค.2565
สำหรับการประชุมวาระลับนี้เลขานุการในที่ประชุมได้เชิญผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากที่ประชุมทั้งหมด เหลือเพียงประธานในที่ประชุม และกรรมการของ กพอ.ตามรายชื่อที่กำหนดเท่านั้น
ภายหลังการประชุมวาระลับที่ใช้เวลากว่า 45 นาที สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุม กพอ.ได้เห็นชอบให้ “จุฬา สุขมานพ” ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ สกพอ.คนใหม่ตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอ
“ผมจะรีบนัดหมายเลขาธิการคนใหม่มาหารือกัน เพราะมีงานหลายอย่างของอีอีซีที่จะต้องขับเคลื่อน และเลขาธิการคนใหม่ถือว่ามีความรู้ความสามารถที่จะขับเคลื่อนงานด้านนี้”
ธัญรัตน์ อินทร รองเลขาธิการ รักษาการแทนเลขาธิการ สกพอ.กล่าวว่า สำหรับผลการคัดเลือกเลขาธิการ สกพอ.คนใหม่นั้นที่ประชุม กพอ. มีมติเห็นให้แต่งตั้ง นายจุฬา เป็นเลขาธิการอีอีซีคนใหม่ โดยหลังจากนี้ จะเข้ากระบวนเจรจาค่าตอบแทน และสัญญารวมทั้งรับทราบภารกิจเพิ่มเติมที่ที่ประชุม กพอ.ในวันนี้ได้มีการมอบหมายเพิ่มเติมเมื่อเจรจาเสร็จแล้ว ก็จะเสนอให้นายกรัฐมนตรี ลงนามในสัญญาตามขั้นตอนต่อไป
“จุฬา” กล่าวว่า สำหรับวิสัยทัศน์ที่เสนอต่อคณะกรรมการสรรหา คือ “อีอีซี เป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน
ซึ่งเป็นความหวังของคนไทยและเป็นเป้าหมายของนักลงทุนและประชากรนานาชาติ”
ทั้งนี้ มีความหมาย คือ อีอีซี จะเป็นต้นแบบแห่งความสำเร็จที่ได้รับการอ้างอิงถึงในการบริหารงานภาครัฐยุคใหม่ ทั้งในด้านการกำหนดนโยบายและการทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในทางปฏิบัติ โดยประชาชนไทยเข้าใจเหตุผลและความจำเป็นของการพัฒนา และมีความเชื่อมั่นและความหวังว่ากิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของประเทศโดยรวม ทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคมและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งในการบริหารงานจะมุ่งเน้นการบริหารจัดการที่ดี ความทันสมัย ความอุดมสมบูรณ์ เอกลักษณ์และคุณค่าของความเป็นไทยและคนไทยที่จะช่วยให้เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกมีความหลากหลาย (Diversity) และความแตกต่าง (Uniqueness) จากพื้นที่อื่น และกลายเป็นเป้าหมายสำหรับการจัดตั้งสถานที่ทำงานหรือการย้ายถิ่นฐานของประชากรนานาชาติ ซึ่งจะดึงดูดให้เกิดการลงทุนเพื่อรองรับอุปสงค์ใหม่ดังกล่าว
สำหรับ “จุฬา” ปัจจุบันอายุ 57 ปีจบการศึกษาปริญญาตรี สาขานิติศาสตร์บัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยปริญญาโท Master of Laws (Maritime Law) University of Southampton, United Kingdom และปริญญาเอก Doctor of Philosophy, University of Southampton, United Kingdom
ที่ผ่านมา “จุฬา” มีบทบาทสำคัญในการช่วยรัฐบาลแก้ปัญหาสำคัญหลายเรื่อง ได้แก่ การแก้ปัญหาข้อบกพร่องที่มีนัยยะสำคัญต่อความปลอดภัยทางด้านการบิน 33 ข้อจนสำเร็จ ก่อนที่ ICAO จะดำเนินการปลดธงแดงให้กับไทยในวันที่ 6 ต.ค.2560 การแก้ปัญหามาตรฐานการบินของไทย ผ่านเกณฑ์ข้อกำหนดสำนักงานการบินพลเรือนแห่งสหภาพยุโรป (EASA)
รวมถึงการแก้ปัญหาการบินของไทยหลังสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (FAA) ลดระดับมาตรฐานการบินไทย โดยการจัดโครงสร้างหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบิน สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) และดำเนินการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (IUU Fishing) ในช่วง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการกระทรวงคมนาคม จึงได้รับความไว้วางใจในการทำงานจาก พล.อ.ประยุทธ์ และ อาคม เป็นอย่างดีเนื่องจากช่วยแก้ปัญหาสำคัญของประเทศมาก่อน
สำหรับผู้ที่จะมาเป็นเลขาธิการคนใหม่จะต้องมาขับเคลื่อนแผนงานที่สำคัญ โดยเฉพาะแผนลงทุนอีอีซีระยะ 5 ปี (2565-2569) ที่มีเป้าหมายการลงทุนให้ได้มากกว่าเป้าหมายแผนฉบับแรก (2561-2565)
สำหรับแผนการลงทุนฉบับใหม่จะทำให้มูลค่าการลงทุนในอีอีซีเพิ่มขึ้นปีละ 500,000 ล้านบาท จากเดิมปีละ 300,000 ล้านบาท ซึ่งช่วยผลักดันเศรษฐกิจเติบโตเต็มศักยภาพ 4.5-5.0% ต่อปี และให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางก้าวสู่ประเทศพัฒนาได้ในปี 2572
เลขาธิการคนใหม่จะต้องผลักดันการทำงาน 3 ส่วน คือ
1.การต่อยอดโครงสร้างพื้นฐาน 200,000 ล้านบาท จากเมืองการบินภาคตะวันออก การพัฒนาพื้นที่ 30 กม. รอบสนามบิน และพัฒนาพื้นที่รอบสถานีหลักรถไฟความเร็วสูง (TOD)
2.การดึงดูดอุตสาหกรรมเป้าหมาย ปีละ 400,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนในระดับฐานปกติปีละ 250,000 ล้านบาท และการลงทุนส่วนเพิ่มที่เน้นอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ (EV) ดิจิทัล การแพทย์สมัยใหม่ การขนส่งโลจิสติกส์ เกษตรสมัยใหม่และอาหาร ภายใต้บริบทเศรษฐกิจหมุนเวียนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (BCG) รวมปีละ 150,000 ล้านบาท
3.การยกระดับชุมชนและประชาชน เร่งพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนระดับหมู่บ้าน พัฒนาตลาดสด อีคอมเมิร์ซ การสร้างรายได้ให้ชุมชนเพิ่ม ยกเครื่องการศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน สิ่งแวดล้อมและสาธารณูปโภคที่สะดวกสบายให้ชุมชน
ในขณะที่ภาคเอกชนต้องการให้ สกพอ.เร่งขับเคลื่อนการลงทุนในอีอีซี โดย “เกรียงไกร เธียรนุกุล” ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า ผู้รับตำแหน่งเลขาธิการฯ ต้องเข้าใจบริบทการลงทุนที่เป็นเมกะเทรนด์ใหม่ของโลก ทั้งการผลักดันลงทุนอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve) ที่เกี่ยวข้องกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว)
รวมถึงการส่งเสริมพลังงานสะอาดและพลังงานสีเขียวและการลงทุนอย่างยั่งยืนและสมดุล ซึ่งเป็นเทรนด์การลงทุนของโลกยุคต่อไป เช่น การลงทุนของแบรนด์รถยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทยรวมทั้งการผลิตแบตเตอรี่ เพื่อดันไทยเป็นผู้นำผลิตอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า
ขณะที่ “จรีพร จารุกรสกุล” ประธานคณะกรรมการบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) มองว่า สิ่งสำคัญที่ สกพอ.ต้องเร่งผลักดัน คือ การดึงนักลงทุนต่างชาติเข้ามาต่อเนื่อง โดยทำงานเชิงรุกร่วมกับภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด อาทิ การจัดโรดโชว์ต่างประเทศ
พร้อมทั้งการเร่งผลักดันความคืบหน้าของโครงการโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญและโครงการลงทุนซึ่งได้รับอนุมัติแล้วให้เกิดการลงทุนจริงในพื้นที่ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน