"เอเชีย"จ่อขึ้นเงินเดือนปี66 หนุนแรงงานรับมือเงินเฟ้อ
"เอเชีย"จ่อขึ้นเงินเดือนปี66 หนุนแรงงานรับมือเงินเฟ้อ ตั้งแต่อินเดียจนถึงเวียดนาม นายจ้างจำนวนมากจำเป็นต้องปรับปรุงงบประมาณด้านค่าตอบแทนเพื่อหลีกเลี่ยงสูญเสียแรงงานที่มีความสามารถสูงให้บริษัทคู่แข่ง
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย เปิดเผยผลการศึกษาล่าสุดที่บ่งชี้ว่า แรงงานในเอเชียอาจได้รับการปรับขึ้นเงินเดือนในปี 2566 เนื่องจากเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและแรงงานต่างพยายามกดดันบริษัทให้ขึ้นเงินเดือน
ตั้งแต่อินเดียจนถึงเวียดนาม นายจ้างหลายรายจำเป็นต้องปรับปรุงงบประมาณค่าตอบแทนหรือบรรเทาความเสี่ยง ที่อาจสูญเสียแรงงานที่มีความสามารถสูงให้แก่บริษัทคู่แข่ง การปรับขึ้นค่าจ้างตามคาดการณ์เพื่อให้รายได้แซงคาดการณ์เงินเฟ้อในปี 2566 สร้างความหวังต่ออัตราการเติบโตของรายได้ที่แท้จริงในเอเชีย หลังจากค่าครองชีพทะยานสูงมากในปี 2565
ข้อมูลจากบริษัท Aon ในตลาดหุ้นนิวยอร์ก ระบุว่า ค่ามัธยฐานของการขึ้นเงินเดือนในปีหน้าในทุกอุตสาหกรรมในอินโดนีเซียปรับตัวขึ้นเฉลี่ย 6.8% , ในมาเลเซีย 5.1% , ฟิลิปปินส์ 6% , ในสิงคโปร์ 4.7% ,ในไทย 5.1% และในเวียดนาม 7.9% ซึ่งตัวเลขคาดการณ์ทั้งหมดนี้สูงกว่าอัตราการขึ้นเงินเดือนในปี 2565 ยกเว้นมาเลเซียที่อัตราการขึ้นเงินเดือนยังคงเท่าเดิม
ตัวเลขคาดการณ์เหล่านี้ เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกการสำรวจที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย. โดยบริษัท Aon ที่ทำการสำรวจความคิดเห็นบริษัทกว่า 700 แห่งในอาเซียน เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างและอัตราส่วนหมุนเวียนพนักงานหรือสัดส่วนการที่พนักงานเข้าทำงานหรือลาออกของแต่ละบริษัท
การศึกษาครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ขณะที่เงินเฟ้อเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้อัตตราเงินเดือนในภูมิภาคเปลี่ยนแปลง และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวยังขับเคลื่อนด้วยอุปทานและอุปสงค์ในตลาดแรงงานที่มีความสามารถสูงด้วย โดยอัตราการลาออกสูงในปีนี้ กดดันให้นายจ้างเพิ่มเงินชดเชยเพื่อลดการจ้างงานและรักษาตำแหน่งงานเอาไว้
“ราหุล ชาวลา” หัวหน้าฝ่ายจัดการทรัพยากรบุคคลประจำภูมิภาคตะวันออกเฉียงใต้ของบริษัทAon กล่าวว่า “บริษัทต่าง ๆ ต้องกำหนดแนวทางการขึ้นเงินเดือนในสถานการร์ที่มีการแข่งขันด้านเงินเดือนสูง แม้การกำหนดและปรับค่าจ้างให้กับพนักงานแผนกต่าง ๆ ตามลักษณะงานทำได้ยาก”
นอกจากนี้ ผลสำรวจจากเมอร์เซอร์ บริษัทให้คำปรึกษาชั้นนำระดับโลกที่เผยแพร่เมื่อเดือน พ.ย. ก็พบแนวโน้มการขึ้นค่าจ้างแรงงานในปีหน้าเช่นกัน โดยคาดว่าบริษัทต่าง ๆ ทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จะเพิ่มเงินเดือนโดยเฉลี่ย 4.8% ทุกแผนกในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 0.2% ในปีนี้
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาของเมอร์เซอร์ คาดการณ์ว่าการปรับขึ้นเงินเดือนในแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไป โดยอินเดียจะขึ้นเงินเดือนสูงที่สุดในปีหน้าคือ 9.1% ขณะที่ญี่ปุ่นขึ้นเงินเดือนต่ำที่สุด 2.2% แต่อัตราการขึ้นเงินเดือนของทั้งสองประเทศในปีหน้า ยังคงสูงกว่าปีนี้ ซึ่งอินเดียมีอัตราการเพิ่มเงินเดือนอยู่ที่ 8.79% และญี่ปุ่น 2.14%
ส่วนอัตราการขึ้นเงินเดือนในจีนในปี 2566 อยู่ที่ 5.38% ซึ่งเป็นประเทศเดียวที่อัตราขึ้นเงินเดือนน้อยกว่าปีนี้ที่ 5.4% เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวจากการเติบโตที่ซบเซาลง และการขึ้นเงินเดือนในฮ่องกงปีหน้าอยู่ที่ 3.71% สูงกว่าปีนี้ที่ 3.55%
รายงานของเมอร์เซอร์ ยังระบุว่า การขึ้นเงินเดือนในภูมิภาคเอเชียสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในปีหน้า โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 5.1% ในอินเดีย ญี่ปุ่นอยู่ที่ 1.4% ส่วนจีนอยู่ที่ 2.2% และฮ่องกงอยู่ที่ 2.4% จะเห็นได้ว่า การขึ้นเงินเดือนที่กล่าวไปข้างต้นยังเป็นตัวเลขที่สูงกว่าอัตราคาดการณ์เงินเฟ้อ
ทั้งนี้ การคาดการณ์เงินเดือนสร้างความหวังว่าจะช่วยผ่อนคลายเกี่ยวกับความกังวลเรื่องค่าครองชีพในหมู่แรงงานได้
"โรเบิร์ต วอลเตอร์" บริษัทจัดหางาน สำรวจเงินเดือนทั่วโลกและเผยแพร่เมื่อเดือนก่อน พบว่า คนที่ย้ายงานสามารถต่อรองขอขึ้นเงินเดือนเพิ่มขึ้น 15%-20% และสามารต่อรองได้ถึง 40% สำหรับแรงงานที่มีทักษะทางเทคโนโลยีโดยเฉพาะ
นอกจากนี้ ยังพบว่า แรงงาน 80% ในสิงคโปร์มีแนวโน้มขอขึ้นเงินเดือนเมื่อหางานใหม่ ขณะที่มีนายจ้าง 71% ตระหนักถึงปัญหาค่าครองชีพเมื่อเพิ่มเงินเดือนหรือโบนัสในอีก 1 ปีข้างหน้า
โรเบิร์ต วอลเตอร์ สำรวจผู้สมัครงาน 316 คนและบริษัท 105 แห่งในสิงคโปร์ช่วงเดือน ก.ย. พบว่า แรงงาน 78% ยินดีที่จะเปลี่ยนงานในปีหน้า หากได้ค่าจ้างเพิ่มขึ้นต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อแต่เงินเดือนไม่ใช่ปัญหาเพียงอย่างเดียว
“มนตี สุจานานี” ผู้จัดการบริษัทโรเบิร์ต วอลเตอร์ประจำสิงคโปร์ กล่าวว่า “ผู้สมัครงานหลายคนบอกว่า เงินไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการตัดสินใจเลือกงานอีกต่อไป โดยเราพบว่า เมื่อลูกจ้างรุู้สึกหมดไฟหรือเบื่องาน พวกเขาจะไม่อยากเรียนรู้งานอีก ปัจจัยนี้เป็นแรงผลักดันให้แรงงานมองหาโอกาสใหม่ ๆ”
ส่วนประเทศที่ประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี2565 มี 77 แห่ง จาก 199 แห่ง ที่ถูกสำรวจ ส่วนใหญ่อยู่ในแถบยุโรป ขณะที่ประเทศไทยติด 1 ใน 84 ประเทศที่ไม่ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในรอบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน แม้ครองชีพจะเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 3 พ.ย. เมอร์เซอร์ ได้เผยแพร่ผลสำรวจTotal Remuneration (TRS) ประจำปี 2565 ซึ่งสำรวจกับองค์กร 636 แห่ง ใน 15 อุตสาหกรรมของประเทศไทย ระหว่างเดือนเม.ย.-มิ.ย. พบว่า ระหว่างเดือนมิ.ย.-เม.ย. การปรับค่าตอบแทน หรือ“เงินเดือน”มีแนวโน้มที่ดีขึ้น จากแนวโน้มผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทย ที่คาดการณ์ว่าจะปรับขึ้น 3.8% ในปี 2566 ซึ่งเป็นอัตราที่สูงที่สุดในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยแนวโน้มการปรับขึ้นค่าตอบแทนของไทยอยู่ที่ 4.5% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศเอเชีย-แปซิฟิกเล็กน้อย (ไม่นับรวมอินเดีย) ซึ่งมีอัตราปรับขึ้น 4.4%