‘ประยุทธ์’ สั่งติดตามปัญหา ‘ภูมิรัฐศาสตร์’ หวั่นกระทบเศรษฐกิจโลก-ไทย
“ประยุทธ์” สั่งติดตามความขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก สศช.ชี้สถานการณ์ไม่น่าไว้วางใจ อาจกระทบเศรษฐกิจโลก-ไทย รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจในประเด็นนี้ ควบคู่การแสวงหาโอกาสดึงการลงทุนจากต่างประเทศ
ปัญหาการเมืองเชิง "ภูมิรัฐศาสตร์" หรือ "Geopolitics" มีแนวโน้มว่าจะรุนแรงมากขึ้นในปี 2566 แม้ไทยจะไม่ได้เข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง แต่สถานการณ์ต่างๆ กำลังบีบให้หลายประเทศต้องเลือกข้าง อีกทั้งปัญหาที่เกิดขึ้นยังส่งผลกระทบทางอ้อมกับไทยผ่านราคาสินค้าบางชนิด เช่น น้ำมัน รวมไปถึงเงินเฟ้อที่สูงขึ้นตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม นักเศรษฐศาสตร์ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ปัญหาเหล่านี้ถือเป็นโอกาสของไทยที่จะดึงดูดเงินลงทุนต่างประเทศเข้ามา เพียงแต่เราจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมและโชว์ศักยภาพให้เห็นว่า มีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีรองรับกับการลงทุน
นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อเร็วๆ นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม สั่งการใน ครม.ว่าประเด็นความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์และความท้าทายด้านความมั่นคงถือว่าเป็นประเด็นที่รัฐบาลและนานาชาติให้ความสำคัญ
ทั้งนี้ ในการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหภาพยุโรป สมัยพิเศษ โดยมีผู้นำอาเซียน 9 ประเทศ และผู้นำยุโรป 27 ประเทศ เข้าร่วมได้หารือเรื่องนี้ โดยนานาชาติเห็นฟ้องต้องกันแยกความขัดแย้งออกจากความร่วมมือเศรษฐกิจ การค้าและการลงทุนเพื่อให้ความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจเดินต่อไปได้
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์มีความสำคัญที่ต้องจับตามองและเฝ้าระวังในปี 2566 เพราะปัจจุบันสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจสร้างแรงกดดันและส่งผลกระทบซ้ำเติมต่อเศรษฐกิจโลกและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ซึ่งการติดตามปัญหานี้ต้องทำควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในประเทศที่มีปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอของบางประเทศที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกวงกว้างได้
ทั้งนี้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปี 2565 ระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลโดยตรงต่อผลกระทบของเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง ซึ่งเห็นได้ว่าเหตุการณ์ลักษณะนี้เมื่อมีความรุนแรงกระทบต่อเศรษฐกิจโลกมากก็จะเกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยด้วย
รวมทั้ง สศช.ได้จัดให้ความผันผวนทางภูมิรัฐศาสตร์โลกเป็นหนึ่งในประเด็นเฝ้าระวัง และประเด็นบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญในการบริหารเศรษฐกิจในระยะต่อไปในปี 2566 ด้วย
“ในปี 2565 ที่ผ่านมาเราเห็นผลกระทบจากเรื่องของความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน ที่รุกนรามเป็นปัญหาความขัดแย้งของสหภาพยุโรปกับรัสเซีย รวมทั้งสหรัฐฯกับรัสเซีย ที่มีการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมีการงดการส่งออก และซื้อพลังงาน ที่ทำให้ราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้นทั้งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมัน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมทั้งเศรษฐกิจไทย" นายดนุชา กล่าว
ขณะที่ในระยะต่อไปความไม่แน่นอนในเรื่องนี้ยังมีอยู่สูงในหลายภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นคาบสมุทรเกาหลี ที่เกาหลีเหนือยังทดลองขีปนาวุธ และมีการยิงออกมาในช่วงที่มีการประชุมความร่วมมือระดับโลกหลายครั้ง หรือในพื้นที่อื่นที่มีความขัดแย้งอยู่แต่เดิมที่อาจมีชนวนเหตุที่อาจเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ จึงต้องมีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจไทย