อาหารแห่งอนาคต: ตลาดทางเลือกที่กำลังเติบโต

อาหารแห่งอนาคต: ตลาดทางเลือกที่กำลังเติบโต

ปัจจุบันยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนในระดับสากลเกี่ยวกับ ‘อาหารแห่งอนาคต’ (future food) แต่อาจตีความในบริบทกว้างได้ว่าเป็นอาหารที่มีลักษณะเฉพาะ ตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มความต้องการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของโลกในอนาคต

เมื่อกล่าวถึง ‘อาหารแห่งอนาคต’ (future food) ปัจจุบันยังไม่มีนิยามที่ชัดเจนในระดับสากลเกี่ยวกับอาหารประเภทนี้ แต่อาจตีความในบริบทกว้างได้ว่าเป็นอาหารที่มีลักษณะเฉพาะ ตอบโจทย์ผู้บริโภคเฉพาะกลุ่มที่มีแนวโน้มความต้องการบริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของโลกในอนาคต

อาหารแห่งอนาคต: ตลาดทางเลือกที่กำลังเติบโต

ในบริบทของไทย ภาครัฐได้จัดแบ่งอาหารแห่งอนาคตไว้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่ (i) อาหารเสริมสุขภาพ (functional foods) หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันหรือเสริมสุขภาพเพิ่มเติมจากการรับประทานอาหารทั่วไป (ii) อาหารทางการแพทย์ (medical foods) หรือผลิตภัณฑ์อาหารที่ช่วยให้ผู้ป่วยได้รับสารอาหารที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อโรค

(iii) อาหารใหม่ (novel foods) คือผลิตภัณฑ์อาหารที่เพิ่งมีประวัติการบริโภคไม่นาน หรือเคยมีการบริโภคแค่เฉพาะกลุ่ม หรือมีการใช้กระบวนการผลิตรูปแบบใหม่ และ (iv) อาหารอินทรีย์ (organic foods) คือผลิตภัณฑ์อาหารจากผลผลิตทางการเกษตรที่ปราศจากการใช้วัตถุอันตรายทางการเกษตร และไม่ใช้ผลผลิตทางการเกษตรจากสายพันธ์ที่ตัดต่อพันธุกรรม

อาหารแห่งอนาคตมักจะถูกมองว่าเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพ มีกระบวนการผลิตที่ซับซ้อนกว่าการผลิตอาหารแบบทั่วไป ซึ่งนำไปสู่ความเหนือกว่า (Premium) ในเชิงคุณภาพและความเฉพาะเจาะจง จึงมีแนวโน้มที่อาหารแห่งอนาคตมีความยืดหยุ่นต่อราคาต่ำ นั่นคือ ผู้บริโภคเลือกซื้อสินค้าเพราะคุณภาพหรือความพิเศษของสินค้ามากกว่าที่จะอ่อนไหวต่อราคา ขณะเดียวกัน ความยืดหยุ่นต่อรายได้ของอาหารประเภทนี้มีแนวโน้มสูง นั่นคือ การบริโภคอาหารแห่งอนาคตมีแนวโน้มมากขึ้นเมื่อผู้บริโภคมีรายได้มากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน อาหารแห่งอนาคตมักเป็นที่นิยมในประเทศพัฒนาแล้วอย่าง สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป และมีแนวโน้มได้รับความนิยมมากขึ้นในประเทศกำลังพัฒนา

อาหารแห่งอนาคตในตลาดโลกมีแนวโน้มเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่ตลาดยังมีขนาดเล็ก ปัจจุบัน ตลาดอาหารแห่งอนาคตคิดเป็นร้อยละ 4 ของอาหารแปรรูปโดยรวม ซึ่งมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ประมาณร้อยละ 9 ต่อปี  โดยส่วนใหญ่เป็นการขับเคลื่อนจากความต้องการอาหารเสริมสุขภาพ (functional food) ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 79 ของมูลค่าอาหารแห่งอนาคตในตลาดโลก ในปี ค.ศ. 2020 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะอาหารเสริมสุขภาพมีลักษณะคล้ายอาหารแปรรูปแบบทั่วไปที่คนส่วนใหญ่คุ้นเคยดี แต่มีความพิเศษที่มีหน้าที่เสริมภูมิคุ้มกันแก่ร่างกายมากขึ้น จึงไม่เป็นการยากสำหรับผู้บริโภคในการตัดสินใจลองเลือกรับประทานอาหารประเภทนี้ อีกทั้ง การระบาดของโควิด-19 เป็นอีกแรงขับเคลื่อนให้อาหารเสริมสุขภาพได้รับความนิยมมากขึ้น

 

ปัจจุบัน ผู้ประกอบการอาหารของไทยส่วนใหญ่ยังไม่ได้เริ่มหันมาผลิตอาหารแห่งอนาคตมากนัก ขณะที่ผู้ประกอบการที่เริ่มหันมาสนใจอาหารแห่งอนาคตมักจะเริ่มต้นธุรกิจมาจากการเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมอาหารมาก่อน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการผลิตอาหารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงมีการเพิ่มสายการผลิตอาหารแห่งอนาคต เพื่อหาโอกาสในการทำกำไรในตลาดนี้ ทั้งนี้ จากการสำรวจ พบว่า สัดส่วนการผลิตอาหารแห่งอนาคตยังไม่มากนักเมื่อเทียบกับการผลิตอาหารทั้งหมดของกิจการ และกิจการเหล่านี้ยังลงทุนในเทคโนโลยีการผลิตอาหารแห่งอนาคตค่อนข้างน้อย (ไม่ถึงร้อยละ 5 ของยอดขายรวมของกิจการ)

การหันมาผลิตอาหารแห่งอนาคตเป็นโอกาสหนึ่งในการสร้างรายได้ให้กับบริษัท ด้วยอาหารประเภทนี้มีมูลค่าเพิ่มสูง และตลาดมีแนวโน้มกำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ แต่ด้วยข้อจำกัดของขนาดตลาดที่จำกัด ผู้ประกอบการที่เข้ามาเล่นในตลาดนี้ต้องเข้าใจว่าอาจต้องเติบโตไปพร้อมๆกับตลาด

ขณะเดียวกัน ตลาดอาหารแปรรูปแบบทั่วไปยังมีขนาดใหญ่และสามารถสร้างรายได้หลักให้กับกิจการ ผู้ประกอบการอาหารอาจเลือกผลิตอาหารแปรรูปแบบทั่วไปเป็นหลัก และค่อยๆ เพิ่มสายการผลิตอาหารแห่งอนาคตเพื่อเก็บเกี่ยวโอกาสในการทำกำไรในตลาดนี้ แต่ไม่ใช่เป็นการทดแทนกันหรือละทิ้งสายการผลิตหนึ่งเพื่อผลิตอีกสายการผลิตหนึ่ง ดังนั้น แนวทางการส่งเสริมจากทางภาครัฐอาจต้องระมัดระวัง ไม่ใช่แค่เพียงให้ความสำคัญกับอาหารแห่งอนาคตเพียงอย่างเดียว แต่ควรส่งเสริมควบคู่กันไปทั้งอาหารแห่งอนาคตและอาหารแปรรูปแบบทั่วไป

 

                                                                                    ดร.วานิสสา เสือนิล

ICRC เศรษฐศาสตร์ ธรรมศาสตร์