สุนทร สั่งกรมฝนหลวงดำเนินการ 8 ด้านช่วยเกษตรกร
สุนทร มอบนโยบายกรมฝนหลวงฯ 8 ด้าน มุ่งเสริมศักยภาพหน่วยงาน พร้อมช่วยเหลือเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอย่างทั่วถึง และบรรเทาภัยพิบัติทางธรรมชาติ
นายสุนทร ปานแสงทอง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและมอบนโยบายการดำเนินงานให้แก่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร โดยมีนายสุพิศ พิทักษ์ธรรม รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เข้าร่วม ว่า
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีภารกิจเฉพาะด้านในการปฏิบัติการฝนหลวง เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในพื้นที่การเกษตร พื้นที่ป่าไม้และเขื่อนเก็บกักน้ำ ซึ่งเป็นการช่วยบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และประสบปัญหาภัยพิบัติทางธรรมชาติด้านต่าง ๆ
เช่น ปัญหาหมอกควันไฟป่า ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในอากาศที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นต้น ตลอดจนการบรรเทาความรุนแรงของพายุลูกเห็บอีกด้วย
นายสุนทร กล่าวว่า ในวันนี้มีความยินดีอย่างยิ่ง ที่ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ซึ่งถือเป็นหน่วยงานที่สำคัญในการเพิ่มปริมาณน้ำจากภารกิจปฏิบัติการฝนหลวง จึงได้มีนโยบาย/งานสำคัญ 8 ด้าน ที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรต้องขับเคลื่อน ได้แก่
1. การต่อยอดตำราฝนหลวงพระราชทาน โดยการกำหนดยุทธศาสตร์เป้าหมายงานวิจัย เพิ่มศักยภาพงานวิจัย เพื่อการพัฒนาต่อยอดวิธีการหรือเทคนิคทำฝนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น การวิจัยเพื่อเพิ่มสูตรหรือปรับสูตรสารฝนหลวง การวิจัยปรับวิธีการทำฝนหรือดัดแปรสภาพอากาศ รวมถึงการศึกษาวิจัยเพื่อนำไปใช้ในกระบวนงานสนับสนุน เช่น วิจัยเพื่อลดการใช้กำลังคนในการบดโปรย เป็นต้น
2. การปฏิบัติการฝนหลวงหรือการทำฝนหลวง
ให้ประชาชนเห็นผลแบบประทับใจ หมายถึงการระดมทรัพยากรทำฝนในพื้นที่เป้าหมายให้เพียงพอในเชิงปริมาณน้ำ ให้มีความชุ่มชื้นเพียงพอภายในระยะเวลาอันสั้น เพื่อที่จะย้ายไปดำเนินการพื้นที่เป้าหมายอื่นในแบบเดียวกัน
3. นำเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพมาใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน เช่น เครื่องบินแบบใหม่ที่เหมาะสม การนำอากาศยานไร้นักบินมาใช้ในการทำฝน การตรวจสภาพอากาศซึ่งจะสามารถลดต้นทุนได้ การคิดค้นวิธีการโปรยสารแบบอัตโนมัติแทนใช้คนโปรย
ปรับเครื่องมือและวิธีการบดสารฝนหลวง เป็นต้น
4. สารฝนหลวง ควรมีการปรับวิธีการจัดเก็บสารฝนหลวงให้คงสภาพ
คงคุณสมบัติได้นานที่สุด เพื่อประสิทธิภาพในการใช้งาน
5. การใช้เครื่องบินให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด
6. ขยายเครือข่ายอาสาฝนหลวง ขยายการรับรู้ การมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานและเกษตรกรให้ได้มากที่สุด
7. ให้ความสำคัญด้านการบริหารงานบุคคล ควรมีการวิเคราะห์และทำแผนปรับปรุงโครงสร้าง/กรอบอัตรากำลังให้เหมาะสม
8. ให้ความสำคัญด้านโครงสร้างพื้นฐานอาคาร เช่น โรงเก็บและซ่อมเครื่องบิน โรงเก็บสาร สนามบินบ้านพัก และครุภัณฑ์ที่จำเป็น เพื่อความคล่องตัวในการบริหาร การปฏิบัติการและยกระดับคุณภาพชีวิตของข้าราชการ ต้องมีการจัดทำแผนระยะสั้นระยะยาว