เกษตรกร ยอมรับเงินชดเชย หลีกทางอีอีซี สร้างเมืองอัจฉริยะ
โครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ ในเขตพื้นที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) 1.5 หมื่นไร่รอบสนามบินอู่ตะเภา เฟสแรก 5,000ไร่ โดยเกษตรกรในพื่้นที่ส่วนใหญ่พร้อมใจย้ายออกเพื่อรับค่าชดเลยสูง5-8 แสนบาทต่อไร่
วิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม(ส.ป.ก.) เปิดเผยว่า ในขณะนี้ส.ป.ก. ได้ทยอยส่งมอบพื้นที่ ให้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) แล้วเพื่อดำเนิน โครงการศูนย์ธุรกิจ อีอีซี และเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะ เฟส แรก 5,000 ไร่ จากพื้นที่โครงการ 14,619 ไร่ ซึ่ง ตั้งอยู่ที่ ต.ห้วยใหญ่ จ.ชลบุรี
เป็นไปตามกฎหมายของอีอีซี มีอำนาจที่จะขอใช้พื้นที่ใดก็ได้ โดยหลังจากมอบพื้นที่ไปแล้ว และ ก็ถือว่าจบภารกิจของส.ป.ก. โดยสิ้นเชิง และอีอีซี จะเป็นผู้เจรจาเพื่อให้เกษตรกรออกจากพื้นที่ดังกล่าวเอง ทั้งนี้เพราะส.ป.ก. ได้มอบที่ดินให้เกษตรกรไปแล้ว จึงถือว่าเป็นสิทธิของเกษตรกรที่จะตัดสินใจอย่างไรก็ได้
โดยในพื้นที่ 5,000 ไร่นั้นมีเกษตรกรได้รับสิทธิทำกินรวม 377 ราย ส่วนใหญ่ทำอาชีพปลูกมันสำปะหลังและปลูกสับปะรด เบื้องต้น
อีอีซีได้เจรจาและมีเกษตรกรยอมออกจากพื้นที่ไปทั้งสิ้น 350 ราย จำนวน 72 แปลง เกษตรกรที่ยอมออกจากพื้นที่นี้จะได้รับเงินชดเชยตามที่อีอีซีกำหนด เฉลี่ยประมาณ 5-8 แสนบาทต่อไร่ ส่วนเกษตรกรที่ไม่ยอมมอบที่ดินนั้น ส.ป.ก.จะดูแลต่อไป
“ข้อเสนอ การจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรมีหลากหลาย มีทั้งการถือหุ้นในโครงการ และรับเงินอย่างเดียว แล้วแต่เกษตรกรจะเลือกในเงื่อนไขที่น่าพอใจ เป็นค่าเสียโอกาส เกษตรกรที่ออกจากพื้นที่แล้วสามารถมาขอพื้นที่ ส.ป.ก.ใหม่ได้ต่อท้ายรายชื่อตามบัญชีที่มีอยู่ ส่วนพื้นที่ที่ยกให้อีอีซีไปแล้ว ไม่มีระยะเวลากำหนดที่ชัดเจนว่าจะคืนให้ ส.ป.ก. อีกหรือไม่ เพราะตามกฎหมายระบุว่าจนกว่าอีอีซีจะไม่ใช้แล้ว “
วิณะโรจน์ กล่าวว่า ส่วนหนึ่งที่เกษตรกรเลือกรับเงินชดเชย เพราะเป็นจำนวนที่สูง และส่วนใหญ่พื้นที่เป็นไร่มันสำปะหลัง ไร่สับปะรด ไม่ใช่พื้นที่อยู่อาศัย จึงง่ายต่อการออกจากพื้นที่ แต่ทั้งนี้ ส.ป.ก .ต้องเป็นหน่วยงานยืนยันว่าเป็นเกษตรกรตัวจริง และถือครองพื้นที่อยู่จริง
ทั้งนี้สปก. เห็นว่าการเข้าไปพัฒนาที่ดินโดยอีอีซี นั้นจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากอีอีซีมีงบประมาณที่จะส่งเสริม กรณีส่งเสริมให้ในอาชีพเกษตรกรรม สินค้าที่ผลิตได้ก็จะมีตลาดรองรับ สามารถเพิ่มมูลค่าได้และส่วนใหญ่จะส่งออก
ดังนั้นโครงการนี้จึงเป็นโอกาสของเกษตรกรที่จะเดินหน้าต่อไปได้ เมื่อเทียบกับอาชีพเดิมที่มีรายได้ไม่แน่นอน อีกทั้งพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นดินทราย ไม่เหมาะที่จะทำการเกษตรมากนัก แม้ ส.ป.ก. จะเข้าไปส่งเสริม วางโครงสร้างพื้นฐานแต่การพัฒนาโดยรวมยังไปได้ช้า
สำหรับพื้นที่ที่อยู่ระหว่างรอส่งมอบให้อีอีซี นั้น ส.ป.ก. ยังดูแลอยู่ ซึ่งในจำนวน 1.5 หมื่นไรที่อีอีซีต้องการนั้นมีเกษตรกรรวมหลักพันรายขึ้นไป โดยอยู่ในรัศมี 30 กิโลเมตรจากสนามบินอู่ตะเภา ซึ่งเกษตรกรถือครองลักษณะ ส.ป.ก. 4-01 อยู่รายละไม่เกิน 50 ไร่ เบื้องต้นคาดว่าเกษตรกรน่าจะทราบเงื่อนไขจากทางอีอีซีแล้ว
สมเกียรติ ประจำวงษ์ ที่ปรึกษาพิเศษด้านการบริหารจัดการน้ำ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรืออีอีซี กล่าวว่า หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม. )ให้ความเห็นชอบการส่งมอบพื้นที่ในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (สปก.)เพื่อดำเนินโครงการศูนย์ธุรกิจอีอีซีและเมืองใหม่น่าอยู่อัจฉริยะพื้นที่โครงการตั้งอยู่ที่ต.ห้วยใหญ่จ.ชลบุรี เมื่อปลายปีที่ผ่านมา
ในส่วนของแผนการบริหารจัดการน้ำได้ขับเคลื่อนทันที เพื่อวางแผนน้ำให้เพียงพอสำหรับเมืองใหม่ ที่มีความต้องการน้ำรวม 30 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อปี ตามเป้าหมายต้องแล้วเสร็จก่อนปี 2570 ซึ่งการใช้น้ำในพื้นที่เมืองใหม่ นั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือน้ำเพื่อระบบนิเวศ และน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ทั้ง 2 ส่วนจะต้องดำเนินการตามภูมิสถาปัตย์ของเมืองใหม่ ที่อีอีซีให้ความสำคัญกับ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การออกแบบจะเป็นกรีนดีไซน์ เพื่อรองรับและลดการสุ่มเสี่ยงของภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้น้ำเพื่อระบบนิเวศนั้น ในพื้นที่ตั้งเมืองใหม่ อาศัยน้ำจากคลองบางไผ่ เป็นคลองทำธรรมชาติ มีน้ำไหลผ่านประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)ต่อปี โดยมีอ่างเก็บน้ำอยู่ในเขตพื้นที่ทหารด้านล่างของคลอง ปัจจุบันใช้ประโยชน์ เพื่อใช้ทำน้ำประปาจำหน่ายให้กับประชาชนในพื้นที่
แต่เมืองใหม่ต้องการมีความต้องการน้ำ 30 ล้าน ลบ.ม. ดังนั้นจึงต้องสร้างแหล่งน้ำขึ้นเองเพื่อรองรับการอุปโภคบริโภค ในเบื้องต้นต้องการพื้นที่ 600 ไร่ เพื่อกักเก็บน้ำดังกล่าว โดยกรมชลประทานจะศึกษาพื้นที่เหมาะสม มีความเป็นไปได้ที่จะผันมาจาก อ่างเก็บน้ำวังโตนด อ่างเก็บน้ำหนองค้อ อ่างเก็บน้ำประแสร์ อ่างเก็บน้ำดอกกราย และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ที่ทั้งหมดเชื่อมโยงกันอยู่ รวมทั้งต้องศึกษาการเจาะน้ำบาดาล วางแผนการกำจัดน้ำเสีย การรียูสกลับมาใช้ เป็นต้น
“เมืองใหม่นี้อยู่บนที่สูงไม่มีแหล่งน้ำ จึงต้องหาพื้นที่เก็บน้ำ เพราะน้ำฝนแต่ละปีเก็บได้ไม่เกิน 20 ล้านลบ.ม. จึงต้องโยกน้ำมาจากที่อื่น ต้องหาเทคนิคการดำเนินการ ปัจจุบันกรมชลประทานทำตามมติครม.แล้ว คาดว่ากฎหมายของอีอีซีบวกกฎหมายเก่าที่มีอยู่เดิม จะทำให้แผนการสร้างเมืองใหม่เดินหน้าได้เร็วขึ้น “