‘บีทีเอส’ แถลงด่วน ! ปมสัญญาจ้างเดินรถไม่ชอบด้วยกฎหมาย

‘บีทีเอส’ แถลงด่วน ! ปมสัญญาจ้างเดินรถไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“บีทีเอส” จัดแถลงข่าวด่วน ชี้แจงปม “กรุงเทพธนาคม” เปิดเผยสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า วันนี้ (17 ม.ค.) เวลา 15.00 น. บริษัทฯ จะจัดงานแถลงข่าวด่วน เรื่อง “บีทีเอสชี้แจงสัญญาจ้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวกับ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” ณ ห้องประชุม ชั้น G อาคารบีทีเอส สำนักงานใหญ่ ถ.พหลโยธิน โดยมีนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) และพ.ต.อ.สุชาติ สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ร่วมแถลงข้อมูลดังกล่าว

รายงานข่าวจากบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC กล่าวว่า บีทีเอสยืนยันว่าการทำสัญญารับจ้างเดินรถไฟฟ้าดังกล่าวหากรู้ว่าเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายก็จะไม่ดำเนินการ แต่อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ขอให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมของศาลปกครองพิจารณา ซึ่งปัจจุบันคดีความเกี่ยวกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอยู่ระหว่างศาลปกครองพิจารณาจำนวน 2 คดี คือ

1.ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน พ.ค. 2562 จนถึงวันที่ 1 ก.ค. 2564 โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้พิพากษาคดีนี้ ให้กรุงเทพมหานคร และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน แต่คดียังไม่สิ้นสุดมีการอุทธรณ์และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุด

และ 2. บีทีเอสได้ฟ้องเรียกค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 ถึงวันที่ 20 พ.ย.2565 เนื่องจากบีทีเอสได้มีหนังสือทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองชำระเงินแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเพิกเฉย ซึ่งมีวงเงินในการฟ้องคดีที่ 2 ราว 1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ดี การจัดงานแถลงข่าวครั้งนี้ สืบเนื่องจากวานนี้ (16 ม.ค.) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ออกมาเปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด โดยมีศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เป็นประธานในการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติให้ทนายความตัวแทนของบริษัทฯ เข้ายื่นคำให้การต่อศาลปกครองในคดีที่ 2 ซึ่งกลุ่มบริษัทบีทีเอส ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) และกรุงเทพธนาคม เพื่อให้ชำระหนี้ค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นจำนวนเงิน 10,600 ล้านบาท

สำหรับการยื่นคำให้การมีประเด็นสำคัญ ประกอบด้วย

1. สัญญาระหว่างบริษัทฯ กับบีทีเอสนั้น นำมาสู่ข้อพิพาทระหว่างบริษัทเอกชนด้วยกัน ไม่ได้มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง จึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง

2. บริษัทฯ ไม่มีอำนาจเข้าทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง เพราะตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 ม.ค.2515 ในข้อ 4 ให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับกิจการรถราง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเท่านั้น เป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการได้ ทั้งนี้บริษัทฯ ก็ไม่เคยได้รับการอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

3. สัญญาจ้างที่บริษัทฯ กระทำกับบีทีเอสเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ เพราะจงใจจัดทำขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ขัดต่อกฎหมายหลายฉบับ อาทิเช่น ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการพัสดุฯ เรื่องการงบประมาณ ตลอดจน พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน กล่าวคือบริษัทฯ ไม่มีอำนาจนำเอางานที่รับจ้างกรุงเทพมหานครไปทำสัญญาจ้างกับบุคคลอื่นตามอำเภอใจได้

4. การที่บริษัทฯ ไปทำสัญญาว่าจ้างบีทีเอสให้เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวโดยตรง โดยไม่ได้เปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นที่อาจเสนอตัวเข้าร่วมโครงการ ย่อมส่งผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนอีกด้วย สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่ไม่ชอบ

5. การฟ้องคดีของบีทีเอสในคดีนี้ เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะบีทีเอสทราบดีอยู่แล้วว่าบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่บีทีเอสยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับบริษัทฯ ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคม เป็นคดีนี้ ถือเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต