'กรุงเทพธนาคม' เปิดศึกนอกศาล BTS โต้สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าถูกกฎหมาย

'กรุงเทพธนาคม' เปิดศึกนอกศาล BTS โต้สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าถูกกฎหมาย

“บีทีเอส” โต้ “กรุงเทพธนาคม” สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวถูกต้อง แย้งที่ผ่านมาเคยได้รับค่าจ้างแต่สะดุดหลังคำสั่ง คสช. ลั่นกรณีภาครัฐออกมาดิสเครดิตกระทบความเชื่อมั่นการลงทุนโครงการรัฐเอง ยืนยันต้องการทวงจ่ายหนี้ค้างชำระ 2.3 หมื่นล้านบาท

สัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยาย ระหว่างบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด และบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้า BTS นำมาสู่การฟ้องร้องเกี่ยวกับค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวม 2 คดี คือ 

1.คดีฟ้องค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และช่วงที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) มูลหนี้ระหว่าง พ.ค.2562 - 1 ก.ค.2564 โดยศาลปกครองพิพากษาให้ชำระหนี้แก่ BTS และขณะนี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์ รวมหนี้ 12,000 ล้านบาท

2.คดีฟ้องค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1-2 ต่อศาลปกครอง มูลหนี้ระหว่าง 1 ก.ค.2564 - 20 พ.ย.2565 รวมหนี้ 11,000 ล้านบาท ซึ่งอยู่ระหว่างการไต่สวนข้อมูล และเป็นคดีที่คณะกรรมการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด อนุมัติเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ทนายความตัวแทนของบริษัทฯ ยื่นคำให้การต่อศาลปกครอง

ประเด็นสำคัญที่กรุงเทพธนาคมชี้แจงต่อศาล คือ สัญญาระหว่างกรุงเทพธนาคม และ BTS ไม่เป็นสัญญาทางปกครองจึงไม่อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครอง รวมทั้งเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะวัตถุประสงค์แห่งสัญญาที่ฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รวมทั้งกรุงเทพธนาคมไม่มีอำนาจทำสัญญาว่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงตามประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 58 ลงวันที่ 25 ม.ค.2515 ที่กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตให้บุคคลใดประกอบกิจการนี้ได้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กรณีที่กรุงเทพธนาคม เผยแพร่ต่อสาธารณชนถึงข้อมูลและประเด็นของคำให้การที่กรุงเทพธนาคมจะยื่นต่อศาลปกครอง โดยมีข้อความบางส่วนอ้างว่า “เป็นสัญญาที่ไม่ชอบ” พร้อมทั้งกล่าวอ้างว่า การใช้สิทธิฟ้องคดีของ BTS เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะ BTS ทราบดีอยู่แล้วว่ากรุงเทพธนาคม ไม่สามารถดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 ได้ด้วยตนเอง แต่ยังสมัครใจเข้าทำสัญญากับกรุงเทพธนาคม ซึ่งไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาได้ แล้วจึงกลับมาฟ้องบริษัท กรุงเทพธนาคมเป็นคดีนี้

ทั้งนี้ BTS ขอชี้แจงว่าข้อมูลที่กรุงเทพธนาคมเผยแพร่ดังกล่าวทำให้ BTS ได้รับความเสียหายจากการที่ทำให้สาธารณชนเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ตลอดจนทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อสาธารณชนว่าไม่สุจริตตั้งแต่ขั้นตอนการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยรับทราบอยู่แล้วว่ากรุงเทพธนาคมไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถได้ และยังไม่สุจริตมาฟ้องกรุงเทพธนาคมเป็นคดีอีก

ปกป้องชื่อเสียง “บีทีเอส”

ดังนั้น เพื่อปกป้องชื่อเสียงจึงจำเป็นต้องอธิบายให้สาธารณชนรับทราบความถูกต้องเกี่ยวกับการรับจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย โดยขอชี้แจงว่า BTS เป็นบริษัทเอกชนจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ไม่มีสิทธิหรือความเกี่ยวข้องใดๆ ในกระบวนการอนุมัติและการปฏิบัติตามกฎหมาย ระเบียบหรือข้อบัญญัติของภาครัฐ และเชื่อมั่นมาตลอดว่ากรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมเป็นหน่วยงานรัฐที่ต้องมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย มีคณะกรรมการกฤษฎีกาและสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านกฎหมาย จึงเชื่อมั่นว่าจะดำเนินการสัญญาระหว่างรัฐและเอกชนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

“เราได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้าทั้งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 เฉพาะในขั้นตอนการยื่นข้อเสนอเพื่อรับคัดเลือกเป็นผู้รับจ้างและการเจรจาสัญญาว่าจ้างเท่านั้น ซึ่งตลอดระยะเวลาการดำเนินการในขั้นตอนดังกล่าว บริษัทฯ ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและกฎเกณฑ์การคัดเลือกผู้รับจ้างอย่างถูกต้องครบถ้วน มีการหารือระหว่างทีมกฎหมายของบริษัทฯ และกรุงเทพธนาคมก่อนลงนามสัญญาอย่างรอบคอบ ดังนั้นการเข้าทำสัญญาจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเป็นไปโดยสุจริตและถูกต้องตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว”

บีทีเอสเล็งฟ้องทวงค่าจ้างเพิ่ม

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การดำเนินการตามระเบียบกฎหมายในช่วงที่ผ่านมา ต้องการเพียงให้กรุงเทพมหานครและกรุงเทพธนาคมชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถที่ค้างเท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ฟ้องเรียกร้องค่าจ้างครั้งที่ 1 ไปแล้ว ซึ่งเป็นยอดค้างที่เกิดขึ้นระหว่างเดือน พ.ค.2562 ถึงวันที่ 1 ก.ค.2564 โดยก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้พิพากษาคดีให้กรุงเทพมหานคร และกรุงเทพธนาคม ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน แต่คดียังไม่สิ้นสุดมีการอุทธรณ์และอยู่ระหว่างรอการพิจารณาจากศาลปกครองสูงสุดโดยสงเงินค้างชำระส่วนนี้ราว 1.2 หมื่นล้านบาท

รวมทั้งล่าสุดวันที่ 22 พ.ย.2565 ได้ฟ้องเรียกค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งเป็นมูลหนี้ที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2564 ถึงวันที่ 20 พ.ย.2565 เพราะมีหนังสือทวงถามให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 ชำระเงินแล้ว แต่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้ง 2 เพิกเฉย ซึ่งมีวงเงินการฟ้องคดีที่ 2 ราว 1.1 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ปัจจุบันมียอดหนี้ค่าจ้างเดินรถที่ค้างจ่ายและได้ฟ้องศาลปกครองแล้วรวม 2.3 หมื่นล้านบาท

“หนี้ค่าจ้างเดินรถเพิ่มต่อเนื่องเฉลี่ยเดือนละ 500-600 ล้านบาท ซึ่งต้องรวบรวมและดูสัญญาว่าจะครบกำหนดเมื่อไหร่ หากยังไม่ได้รับชำระจะฟ้องศาลปกครองเพิ่มเติม เพื่ออัพเดตยอดหนี้ค่าจ้าง เพราะที่ผ่านมากรุงเทพธนาคมชำระค่าจ้างเดินรถแบบนานๆ จ่ายที สะสมเงินจากการเก็บค่าโดยสารและทยอยจ่ายมาเป็นก้อนประมาณหลักร้อยล้านบาท แต่ไม่ได้ชำระหนี้เก่าที่ติดค้าง อีกทั้งขณะนี้ยังเกิดหนี้ใหม่จากค่าจ้างติดตั้งระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่บริษัทฯ ต้องเรียกเก็บอีก 2 หมื่นล้านบาท ทำให้ตอนนี้มีหนี้ที่แบกรับอยู่ 4 หมื่นล้านบาท”

หยุดจ่ายหนี้มาตั้งแต่ พ.ค.62

นายสุรพงษ์ กล่าวว่า ค่าจ้างเดินรถเป็นสัญญาที่ลงนามกันตั้งแต่ปี 2555 โดยหลังจากนั้นกรุงเทพธนาคมมีการชำระค่าจ้างส่วนต่อขยายที่ 1 มาโดยตลอด จนกระทั่งในปี 2562 ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้เจรจาเดินรถให้เป็นสัญญาเดียว ทางกรุงเทพธนาคมจึงหยุดชำระค่าจ้างตั้งแต่เดือน พ.ค.2562 ขณะที่สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยายที่ 2 กรุงเทพธนาคมไม่ได้ชำระตั้งแต่เปิดให้บริการในปี 2560 ดังนั้นการที่กรุงเทพธนาคมเผยว่าสัญญาจ้างเดินรถไฟฟ้านี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงต้องตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงมีการจ่ายค่าจ้างเดินรถมาโดยตลอดเป็นระยะเวลาหลายปี และขณะนี้ก็ยังมีการทยอยชำระมาบ้าง แม้จะเล็กน้อย

ทั้งนี้ที่ผ่านมาบริษัทฯ ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่ฝ่ายเดียว ดังนั้นต้องการเพียงให้ภาครัฐชำระหนี้คืน แต่กลับถูกกล่าวหาถึงการสมรู้ร่วมคิดกระทำความผิดในการเข้าทำสัญญา ซึ่งยืนยันว่าไม่เป็นความจริง 

รวมทั้งการที่ภาครัฐออกมาระบุว่าสัญญาที่ทำร่วมกับเอกชนขัดต่อข้อกฎหมาย ก็คงต้องถามถึงภาครัฐด้วยว่าจะให้เอกชนคู่สัญญาทำอย่างไรต่อ จะมีคำสั่งให้หยุดเดินรถหรือไม่ และที่ผ่านมาได้ให้บริการรถไฟฟ้าทำตามสัญญาและระเบียบข้อกำหนดมาตลอด ภาระหนี้สินที่เกิดขึ้นต้องแบกรับ โดยประชาชนและสถาบันทางการเงินเชื่อมั่นจึงได้มีการระดมทุนเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่อง

ถามกลับจะให้เลิกเดินรถหรือไม่

พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย ที่ปรึกษาประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วันนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกำลังจะกลายเป็นปัญหาซ้อนปัญหา ซึ่งการที่คู่ความจะต่อสู้คดีเป็นสิทธิ์โดยชอบทางกฎหมาย แต่การที่กรุงเทพธนาคมนำประเด็นการต่อสู้ในศาลมาเปิดเผยผ่านโซเชียลมีเดีย และข้อความนั้นก่อให้เกิดความเสียหายต่อบริษัทฯ ทำให้ประชาชนอาจเข้าใจผิดได้ว่า BTS เป็นคนเลว และสมคบกับกรุงเทพธนาคมในการกระทำขัดต่อกฎหมาย จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้บีทีเอสนั่งอยู่เฉยๆ ไม่ได้ 

ดังนั้นต้องออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง และยังมีความหมิ่นเหม่ที่กรุงเทพธนาคมจะกระทำผิดกฎหมายด้วย ดังนั้นขอตั้งคำถามกลับไปยังกรุงเทพธนาคมว่า เมื่อประกาศผ่านสื่อยอมรับแล้วว่าสัญญาส่วนต่อขยายที่ 1 และ 2 ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แล้วหลังจากนี้จะทำอย่างไรต่อไป จะต่อสู้กันในศาล หรือจะแจ้งบีทีเอสให้ยกเลิกเดินรถ

ชี้เอกชนจะไม่กล้าทำสัญญากับรัฐ

พ.ต.อ.สุชาติ กล่าวว่า การกระทำของกรุงเทพธนาคมในครั้งนี้ ต่อไปจะมีเอกชนรายไหนกล้ามาทำสัญญากับภาครัฐอีกหรือไม่ เพราะภาครัฐออกมาระบุว่าสัญญาไม่ชอบด้วยกฎหมาย และที่ผ่านมาไม่เคยพูดว่าสัญญาชอบ หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อีกทั้งยังให้บริษัทฯ เดินรถมาตลอด แต่มาวันนี้มาบอกว่าไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงอยากเรียกร้องความเป็นธรรม เพราะที่ผ่านมาทำทุกอย่างด้วยความสุจริต และปฏิบัติตามสัญญามาตลอด 

“ทุกวันนี้ทำงานให้แต่ไม่ได้ค่าจ้างก็หนักหนาสาหัสพอแล้ว ยังมาถูกกล่าวหาว่าเป็นคนเลวและคนไม่ดีอีก คงไม่มีใครทนได้ วันนี้จึงต้องการกำลังใจ และอยากให้ประชาชนเข้าใจ เพราะสิ่งที่กรุงเทพธนาคมเผยแพร่นั้นมีความบั่นทอนกำลังใจของบีทีเอสมาก เหมือนเราเป็นตัวร้าย ทั้งที่เราแบกภาระแทนรัฐ ทำงานให้แทน และไม่ได้รับค่าจ้าง”

รวมทั้งขณะนี้มี 2 คดีที่ยื่นฟ้องและอยู่ระหว่างพิจารณาในศาล คือ การฟ้องค่าจ้างเดินรถครั้งที่ 1 ซึ่งอยู่ระหว่างศาลปกครองสูงสุดพิจารณา โดยล่าสุดเมื่อปลายปีที่แล้ว บริษัทฯ ได้ทำคำร้องไปยังศาลปกครองให้พิจารณาเร่งด่วน เพราะป็นคดีที่เกี่ยวเนื่องกับบริการสาธารณะ ซึ่งคาดว่าคำพิพากษาน่าจะได้ออกภายในปีนี้ ส่วนคำฟ้องครั้งที่ 2 เพิ่งยื่นไปเมื่อ พ.ย.ที่ผ่านมา เป็นการอัพเดตยอดค่าจ้างเดินรถ เราก็ขอเรียกร้องให้ภาครัฐออกมาจ่าย ไม่อยากให้ดอกเบี้ยเพิ่มเพราะดอกเบี้ยเหล่านี้ใครต้องรับผิดชอบ และเราก็ยืนยันว่าจะไม่หยุดเดินรถ ไม่ให้กระทบประชาชน เป็นไปตามนโยบายนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด