พาณิชย์ เผย พบนิติบุคคลเข้าข่ายนอมินีปีละ 500 ราย
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า เผย ตั้งแต่ปี 2558 สอบพบเข้าข่ายนอมินีเฉลี่ยปีละ 400-500 ราย ดำเนินคดี 66 ราย เตรียมลงพื้นที่กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสอบนอนิมีย่านเยาวราชเร็วๆนี้ ย้ำ ชาวต่างชาติประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มในไทยต้องได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนเจอโทษหนัก
นายจิตรกร ว่องเขตกร รองอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยถึงกรณีคนต่างชาติถือวีซ่านักท่องเที่ยวแต่เข้ามาประกอบธุรกิจร้านอาหารในไทยว่า ขณะนี้กรมกำลังบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อลงพื้นที่ตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 เพื่อตรวจสอบบุคคลหรือนิติบุคคลใดกระทำความผิดตามกฎหมาย และการตรวจสอบว่าคนไทยให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าวเพื่อให้คนต่างด้าวสามารถประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงหรือฝ่าฝืนกฎหมายที่เข้าข่ายความผิดนอมินีหรือไม่ โดยเร็วๆนี้จะลงพื้นที่ไปตรวจสอบพร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เป็นกระแสข่าวอยู่ในขณะนี้ เช่น เยาวราช และพื้นที่อื่นๆ
“การตรวจสอบดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะต้องปรากฏพฤติการณ์ที่ชัดเจนหรือหลักฐานเอกสารที่แสดงว่าคนไทยมีพฤติกรรมตั้งใจ ปกปิด อำพราง หรือมีการจัดทำเอกสารหลักฐานในลักษณะอำพรางในการให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือถือหุ้นแทนคนต่างด้าว “นายจิตรกร กล่าว
นายจิตรกร กล่าวว่า จากข้อมูลการตรวจสอบนอมินีของกรมฯ พบว่า มีนิติบุคคลที่เข้าข่ายเป็นนอมินีเฉลี่ยปีละ 400-500 ราย ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ เข้ามาประกอบธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่มีข้อบ่งชี้ว่า อาจเข้าข่ายเป็นนอมินี เช่น ลักษณะธุรกิจ เงินลงทุน อำนาจการบริหาร สิทธิการออกเสียง การแบ่งเงินปันผลกำไรในการประกอบธุรกิจ เป็นต้น จึงได้มีการมีการทำหนังสือเชิญให้มาชี้แจง หากพบว่ามีความผิดตามกฎหมายก็จะส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ สอบสวนในเชิงลึกถึงเส้นทางการเงิน ซึ่งกรมมีการตรวจสอบทุกๆปี ตั้งแต่ปี 2558 จนถึงปัจจุบันมีการดำเนินคดีกับนิติบุคคลหรือคนไทยที่เป็นนอมินีแล้วจำนวน 66 ราย โดยอยู่ในระหว่างฟ้องร้องและดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรม
สำหรับคนต่างด้าวจะประกอบธุรกิจขายอาหารหรือเครื่องดื่มจะต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวก่อนจึงจะประกอบธุรกิจได้ เนื่องจากเป็นธุรกิจในบัญชีสาม (19) ท้ายพระราชบัญญัติ หากพบว่า คนไทยที่ถือหุ้นแทนคนต่างด้าวหรือร่วมเอาชื่อเข้าเป็นผู้ถือหุ้นโดยไม่ได้ลงทุนจริง หรือให้การสนับสนุนร่วมประกอบธุรกิจกับคนต่างด้าว โดยแสดงว่าเป็นธุรกิจของคนไทยเพื่อให้คนต่างด้าวประกอบธุรกิจโดยหลีกเลี่ยงกฎหมาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 - 1,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และยังมีโทษปรับรายวันอีกวันละ 10,000 - 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกฝ่าฝืน