"เอกชน" ปรับโมเดลธุรกิจรับโลกแบ่งขั้ว เร่งชิงตลาดโลก-หาแหล่งวัตถุดิบใหม่

"เอกชน" ปรับโมเดลธุรกิจรับโลกแบ่งขั้ว เร่งชิงตลาดโลก-หาแหล่งวัตถุดิบใหม่

“เอกชน” รับมือปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ปรับโมเดลธุรกิจ “เอ็กซิมแบงก์” ชูสมการ 3 กิ๊ก บริหารความเสี่ยงธุรกิจ “หอการค้า” แนะธุรกิจออกจากคอมฟอร์ตโซน เตรียมรับมือโลกแบ่งขั้ว “สมาคมนายจ้างอิเล็กฯ” แนะใช้ประโยชน์จากจุดแข็งของอุตสาหกรรมในไทย รับมือเงินเฟื้อ 

“กรุงเทพธุรกิจ” จัดสัมมนาหัวข้อ “Geopolitics : The Big Challenge for Business โลกแบ่งขั้ว ธุรกิจพลิกเกม” วานนี้ (23 ม.ค.) โดยในการเสวนาหัว "เอกชนพลิกเกมรับมือโลกขัดแย้ง บริบทโลกเปลี่ยน สมการการเงิน ลงทุนโลกปรับ” มีเอกชนมาร่วมแลกเปลี่ยนการดำเนินธุรกิจในช่วงที่โลกมีความขัดแย้ง

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า สัมพันธภาพระหว่างสหรัฐกับจีนเปรียบสมการครอบครัว เช่น การแต่งงาน 10 ปีมีลูก 3 คน แล้วเกิดการหย่าร้างแต่ไม่ถึงกับแตกหัก ดังนั้น สิ่งที่เห็น คือ ความย้อนแย้งหลายอย่าง เช่น เกลียดกันแต่ขาดกันไม่ได้

ทั้งนี้ จะเห็นได้ชัดเจน คือ สหรัฐสั่งซื้อสินค้าจากจีน และจีนซื้อเทคโนโลยีจากสหรัฐสูงถึง 30-40% อีกทั้งธุรกิจของทั้ง 2 ประเทศยังเปิดให้บริการได้ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศยังมีแนวบริหารการดำเนินธุรกิจแบบบริหารความเสี่ยง เพราะค่าเงินไม่ควรถือไว้เพียงค่าเงินเดียว โดยสิ่งที่จะแนะนำลูกค้า คือ ควรซื้อของให้เยอะและซื้อสต็อกไว้ ซึ่บางประเทศซื้อของได้ถูก ต้องบริหารความเสี่ยงจึงขอเปรียบสมการ 3 กิ๊ก คือ 

1.กิ๊กด้านการเงิน เพราะเราไม่สามารถยึดโยงบ้านใหญ่ได้บ้านเดียว ดังนั้น ต้องมีเงินหลายสกุลทั้งหยวน หรือ ยูโร 2.กิ๊กในมุมของฐานการผลิต การทำธุรกิจจะต้องมีฐานกาผลิตมากกว่า 2 ประเทศ โดยประเทศไทยมีความสวยงามทางภูมิรัฐบศาสตร์ สามารถขยายฐานไปได้ และ 3. กิ๊กด้านการตลาด เพราะตลาดหลักไม่ใช่คำตอบอีกต่อไปแล้ว จะเห็นได้จากการเติบโตของ GDP โลกไม่เกิน 2% แล้ว

“เราต้องมีกิ๊ก 3 กิ๊ก เพื่อบริหารความเสี่ยง โดยตลาดที่จะเป็นกิ๊กได้ดีตอนนี้ คือ เอเชียใต้ และตลาดอาเซียน โดยเฉพาะ CLMV เพราะโลกเปลี่ยนไปตั้งแต่จบสงครามการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราไม่จำเป็นต้องถือเงินไว้ที่ตัวเอง การมีบริษัทลูกนอกประเทศสำคัญ”

หนุนทุนไทยออกไปลงทุนนอก

ทั้งนี้ การใช้สูตรดึงการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) อย่างเดียวไม่ได้ โดยต้องผลักทุนไทยไปต่างประเทศ ซึ่ง EXIM BANK ร่วมมือสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) สนับสนุนธุรกิจไทยไปลงทุนต่างประเทศ ซึ่งบริษัทใหญ่ไม่มีฐานการผลิตแค่ในไทย แต่ไปขยายสาขานอกประเทศ โดยต่างจาก 20-30 ปีที่ผ่านมา ที่เน้นดึงเงินลงทุนเข้าไทย ซึ่งการลงทุนทุก 1 บาท จะสร้างมัลติพลายเออร์ได้ 2 บาท ดังนั้น การทำธุรกิจจากนี้ต้องสร้างสมดุลทั้งการดึงทุนต่างชาติและการสร้างอีโคซิสเต็มในประเทศ

นอกจากนี้ มีข้อเสนอให้ให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาฝีมือเป็นมือที่ 3 อย่างมืออาชีพ เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เพราะนักธุรกิจไทยคงไม่ถึงการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ แต่ควรทำสิ่งที่ไทยเชี่ยวชาญในการผลิต เช่น โทรทัศน์ เตารีด ไมโครเวฟ ตู้เย็น เพราะสหรัฐไม่สั่งสินค้าจากจีน ดังนั้น ไทยต้องแย่งตลาดส่วนนี้ หรือไทยจึงต้องไปเป็นมือที่ 3 อย่างมีชั้นเชิง

“เราติดอันดับ 1 ใน 5 ของการผลิตไก่ชิ้นของโลก ต้องนำไก่ชิ้นเข้าสหภาพยุโรป (อียู) ให้ได้ แย่งขั้วโลกใต้มาให้ได้ เราต้องมีชั้นเชิงในการอ่อยจะสามารถบุกตลาดได้ทั้งโลก ในขณะที่บ้านใหญ่ บ้านเล็กทะเลาะกันอยู่ ผู้ประกอบการไทยต้องปรับโมเดลธุรกิจ

นายรักษ์ กล่าวว่า สิ่งที่กระทรวงการคลังดำเนินการมาตลอด คือ การทรานส์ฟอร์เมชั่นด้านสินเชื่อ โดยกว่า 2 ปี เอสเอ็มอีไทยเข้าถึงสินเชื่อได้ 2% ในอัตราเดียวกับเจ้าสัว ซึ่งมีข้อแม้ว่าต้องซื้อเทคโนโลยีที่ดีที่สุดมาปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต 

ผลกระทบต้นทุนธุรกิจพุ่ง

นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ชัดเจนขึ้นหลังจากมีสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนเมื่อปี 2565 รวมทั้งมีความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกทำให้ภาคธุรกิจในปัจจุบันไม่สามารถอยู่ใน Comfort zone ได้อีกและต้องปรับตัวตลอดเวลา

ทั้งนี้ ช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผลกระทบกับภาคธุรกิจหลายด้าน เช่น ราคาพลังงาน โดยภาคธุรกิจควบคุมต้นทุนไม่ได้เพราะราคาพลังงานสูงขึ้นจากความขัดแย้งในโลก ซึ่งทำให้ราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นส่งผลต่อต้นทุนในการผลิต 

นอกจากนี้ยังส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นหลายประเทศ และต้องปรับนโยบายการเงินเกิดการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของรัฐบาลหลายประเทศ ซึ่งทำให้ต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้นและส่งผลให้อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทผันผวน โดบบางช่วงอ่อนค่ามากแต่บางช่วงแข็งค่ามากและเปลี่ยนแปลงเร็วจนกระทบผู้นำเข้าและส่งออก

สำหรับภาคธุรกิจที่ต้องใช้อาหารสัตว์ได้รับผลกระทบจากผลผลิตธัญพืชที่หายไปเพราะสงครามยูเครนและรัสเซีย ซึ่งทำให้กระทบธุรกิจที่ต้องใช้ธัญพืช เช่น ข้าวสาลีที่หายจากตลาดโลกไป 1 ใน 3 ในขณะที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หายไป 20% โดยแต่ละประเทศต้องแย่งซื้อสินค้าดังกล่าวทำให้ราคาสูงขึ้นเมื่อรวมค่าขนส่งระหว่างประเทศที่สูงขึ้นจากการปรับค่าระวางเรือ ซึ่งบางช่วงค่าระวางเรือสูงกว่าราคาสินค้า

ห่วงผลกระทบธุรกิจสูงขึ้น

ทั้งนี้ผลกระทบต่อธุรกิจมีมากขึ้น ซึ่งธุรกิจต้องวางแผนในเรื่องของทางออกสำหรับปัญหาต่างๆไว้ให้พร้อม เช่น การหาแหล่งทดแทนวัตถุดิบ หรือการหาตลาดอื่นรองรับหากมีความขัดแย้งจนไม่สามารถส่งสินค้าไปขายยังตลาดเดิมได้

“ธุรกิจไม่สามารถอยู่ใน Comfort zone ได้อีกต่อไป เพราะผลกระทบหลายอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะเป็นเรื่องต้นทุนทางพลังงานที่ควบคุมไม่ได้ ต้นทุนวัตถุดิบ และค่าขนส่งที่สูงขึ้นมาก รวมทั้งค่าเงินอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ในแบบที่ย้อนไปเมื่อ 20-30 ปีก่อนไม่เคยเกิดขึ้นเลย” นายวิศิษฐ์ กล่าว

ขณะที่การดำเนินธุรกิจในไทยนั้นในช่วงที่ธุรกิจมีการฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 และสงครามรัสเซีย ยูเครน ที่ยังคงดำเนินต่อไปแต่ส่งผลต่อราคาพลังงานลดลง โดยมี 6 ประเด็นที่ภาคเอกชนไทยจะต้องเจอในปี 2566 ได้แก่

1. ธุรกิจที่เกี่ยวกับสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งไม่ใช่แค่การปรับตัวของภาคธุรกิจแต่เป็นโอกาส เช่น ตลาดคาร์บอนเครดิต จะมีการซื้อขายมากขึ้น ซึ่งเป็นโอกาสของไทยที่เกิดได้จากการที่เราสร้างปากขึ้นมาในพื้นที่ที่เรามีอยู่มากมายเรามีการปลูกป่าเพิ่มขึ้นเพื่อดูดซับคาร์บอน

2.ธุรกิจยังคงเผชิญต้นทุนที่สูงขึ้น เช่น ค่าไฟ ราคาสินค้าที่มีต้นทุนสูงขึ้น

3.ดอกเบี้ยขาขึ้น เนื่องจากการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางหลายประเทศเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

4.เศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยจะเกิดในประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ฝั่งตะวันตกก่อน ซึ่งหากเกิดภาวะแบบนี้ผู้ผลิตสินค้าไม่ควรมีการสต็อกสินค้ามากเกินไปเพราะเสี่ยงที่จะไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้หมดหากเกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ

5.ภาคท่องเที่ยวฟื้นตัว โดยการท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหลักให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ฟื้นตัวได้ดี และภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องจะมีการเติบโต และการจ้างงานเพิ่ม

6.การแพทย์ และสาธารณสุข โดยชาวต่างชาติบางส่วนจะเริ่มกลับมารักษาพยาบาลในประเทศไทย จากภาพลักษ์และคุณภาพการให้บริการการการแพทย์ที่ดีที่มีชื่อเสียงของไทย

โฟกัสให้ตรงจุดอย่าหลงประเด็น

นายสัมพันธ์ ศิลปนาฎ นายกสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ทางออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ท่ามกลางโลกที่มีความขัดแย้งมีสิ่งสำคัญที่ต้องโฟกัส 3 ประเด็นคือ 1.ภาวะเงินเฟื้อ 2.การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี 3.การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยไม่ควรหลงประเด็นกับสงครามชิปที่เกิดขึ้นหรือตลาดที่เป็นเทคโนโลยีระดับสูงจนเกินไป

ทั้งนี้ เนื่องจากจุดยืนของประเทศไทยไม่ใช่ซูเปอร์ไฮเทคแต่เป็นคอมโมดิตี้ มีจุดแข็งด้านความน่าเชื่อถือ ความสามารถในการปรับตัวจากวิกฤติ ภัยธรรมชาติ การเปลี่ยนผ่าน สามารถอยู่รอดและเติบโตมาได้ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลง

“ประเทศเราเล็กนิดเดียว ถ้าอยากจะคบทั้ง 2 ขั้วไม่ต้องไปยุ่งกับซูเปอร์ไฮเทคเพราะเป็นเรื่องยากมาก และหากต้องการดึงเงินลงทุนส่วนนี้เข้ามาต้องจ่ายระดับพันล้านดอลลาร์ หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งไม่คิดว่าไทยจะไปอยู่จุดนั้นได้”

รวมทั้งหากต้องการรักษาจุดแข็งและพันธมิตรไว้ควรโฟกัสตรงจุด และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งที่มีและสร้างการเติบโตในพื้นที่ตัวเอง ควบคู่กับการเตรียมการเพื่อรับมือปัญหาเงินเฟ้อและปูทางด้านความยั่งยืน

แนะเน้นการรักษาพันธมิตร

นอกจากนี้ ไทยต้องวางยุทธศาสตร์ประเทศให้ดี โดยโฟกัสจุดแข็งตนเองไปพร้อมกับรักษาพันธมิตร และเล่นในตลาดระดับกลางที่เติบโตได้ต่อเนื่อง ซึ่งไม่ต้องใช้เงินทุนมากและไม่ต้องยุ่งกับการเมืองหรือความขัดแย้ง และถ้าประเมิน 50 ปีที่ผ่านมา อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ไทยเติบโตมาก และมีมูลค่าการส่งออกอันดับ 1 รวมทั้งมีจำนวนแรงงานในซัพพลายเชน 8 แสนคน แต่มีจุดอ่อนที่ต้องก้าวอย่างระมัดระวังและอาจทำให้ช้าเกินไป ดังนั้น ต้องก้าวให้ใหญ่ขึ้น ถี่ขึ้น บ่อยขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างมูลค่าเพิ่ม

รวมทั้งการประเมินขณะนี้แม้ไทยมีภาพลักษณ์ดี ปต่อีก 5-10 ปี ข้างหน้าอาจเป็นคนละโจทย์ ดังนั้นต้องมีความชัดเจนมากขึ้นด้านความยั่งยืน รวมทั้งให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพ และความร่วมมือที่แข็งแรงขึ้นในฐานะพันธมิตรเชิงลึก โดยรายใหญ่จับมือกับซัพพลายเออร์และเอสเอ็มอี เพราะทุกวันนี้ต่างฝ่ายต่างแยกกันอยู่ ซึ่งส่วนนี้ภาครัฐอาจต้องเข้ามาช่วย

ขณะที่อีกประเด็นที่สำคัญ ต้องมีการพัฒนาองค์ความรู้ ทำให้คนไทยเก่งขึ้น โดยเฉพาะการเรียนรู้ในโมเดลธุรกิจใหม่ๆ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับธุรกิจใหม่ๆ และก้าวไปสู่พลังงานสีเขียวของอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม การดึงการลงทุนเข้ามาในประเทศจำนวนมากต้องมองภาพรวมว่าประเทศได้อะไร ซึ่งไม่เฉพาะการจ้างงาน การส่งออกหรือการสร้างรายได้ แต่ควรมองถึงการสร้างประโยชน์ไปสู่ภาคส่วนอื่น โดยสร้างโอกาสจากการที่ไทยเป็นผู้ผลิตระดับเวิร์ลคลาสที่มีมาตรฐานสูง และได้เรียนรู้จากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มามาก ซึ่งที่ผ่านมาไทยหารือยุทธ์ศาสตร์และกลยุทธ์ไปไกลมาก แต่ยังติดกับดักการลงมือปฏิบัติ และไม่มีการติดตามให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม