ส่อง 3 ปัจจัยเบื้องหลัง เมื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ "แห่เลิกจ้าง"!!
ข่าวการปลดพนักงานของบรรดาบริษัทยักษ์ใหญ่ถี่ขึ้นเรื่อย ๆ หลังการระบาดของโควิด-19 เริ่มผ่อนคลาย จนเป็นที่น่าสนใจว่าเกิดจากปัจจัยอะไรบ้าง และบรรดาผู้บริหารบริษัทใหญ่มองเศรษฐกิจอย่างไร ถึงตัดสินใจลดพนักงานจำนวนมากเช่นนี้
ช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เกิดกระแสปลดพนักงานจำนวนมากในบริษัทชื่อดังหลายราย และเกิดถี่มากขึ้นเรื่อย ๆ ตัวอย่างเช่น
-Spotify บริษัทสตรีมมิงเพลงและพอดแคสต์ ซึ่งเติบโตอย่างมากในช่วงโควิด-19 ที่ผู้คนหาความบันเทิงในบ้าน ประกาศปลดพนักงาน 6% ของพนักงานทั้งหมด
-Google บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ เตรียมปลดพนักงานลง 12,000 ตำแหน่ง
-Microsoft บริษัทจำหน่ายซอฟต์แวร์ Windows และโปรแกรม Office เตรียมปลดพนักงานลง 11,000 ตำแหน่ง และจะจ้างพนักงานใหม่ลดลงเหลือเพียง 1 ใน 3
-Amazon บริษัทค้าปลีกออนไลน์อันดับ 1 ของโลก มียอดสั่งซื้อออนไลน์พุ่งสูงมากในช่วงโควิด ส่งผลให้ “เจฟฟ์ เบซอส” เจ้าของ Amazon กลายเป็นมหาเศรษฐีที่รวยที่สุดของโลกในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเขาได้ตกจากอันดับเศรษฐีที่ 1 และลงมาที่อันดับ 4 แทน พร้อมประกาศปลดพนักงานลง 10,000 ตำแหน่ง
- 3 ปัจจัยบีบบริษัทใหญ่เลิกจ้างจำนวนมาก
เมื่อพิจารณาจากความพยายามของธนาคารกลางในการปราบเงินเฟ้อ และความวิตกในโควิด-19 เริ่มลดลงแล้ว พบว่ามีปัจจัย 3 ประการดังนี้
1.ต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น
บริษัทที่เติบโตสูงโดยเฉพาะบริษัทเทคต่าง ๆ ต้อง “อาศัยเงินกู้จำนวนมาก” เพราะในช่วงแรกมักจะขาดทุนจากการลงทุนวิจัย และสร้างฐานลูกค้า ดังนั้นจึงต้องยอมกลืนเลือดในช่วงแรกเพื่อสร้างนวัตกรรมออกมา ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันที่ดอกเบี้ยธนาคารกลางทั่วโลกกำลังขาขึ้นเพื่อจัดการเงินเฟ้อ ก็ยิ่งเพิ่มต้นทุนบริษัทให้สูงขึ้นตามไปด้วย เพื่อที่จะลดต้นทุนหรือลดการขาดทุน (กรณีบริษัทยังไม่มีกำไร) บริษัทจึงเลือกปลดพนักงานออก
ตัวอย่างบริษัทที่ขาดทุนจำนวนมากในช่วงแรก เช่น
บริษัท Tesla ของอีลอน มัสก์ เผชิญการขาดทุนติดต่อกันตลอด 12 ปี! ก่อนจะพลิกมามีกำไรครั้งแรกในปี 2563 ซึ่งในแต่ละปีที่ขาดทุนก็มีตั้งแต่ระดับหลายร้อยล้านดอลลาร์ไปจนหลายพันล้านดอลลาร์
บริษัท Meta ของเจ้าของ Facebook เกิดการขาดทุนสูงถึง 3.7 พันล้านดอลลาร์หรือราว 1.4 แสนล้านบาท เพื่อทุ่ม “ปลดพนักงาน” หรือเมตาเวิร์ส ให้คนในโลกจริงใช้ชีวิตกัน
- Tesla เผชิญการขาดทุนมาโดยตลอด 12 ปี (เครดิตภาพ: Statista) -
2. คาดว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย
บริษัททั่วโลกต่างคาดการณ์ว่า การขึ้นดอกเบี้ยที่สูงของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อปราบเงินเฟ้อ จะนำมาสู่เศรษฐกิจถดถอยตามมา ซึ่งสิ่งนี้ก็สอดคล้องกับประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา หากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงและแรงเมื่อใด เศรษฐกิจถดถอยมักจะตามมา การบริโภคจะลดลง และค่อนข้างยากที่จะหลีกเลี่ยง ด้วยเหตุนี้หลายบริษัทจึงวางแผนลดจำนวนพนักงานลงก่อนตั้งแต่แรก
ขณะเดียวกัน ความกังวลเศรษฐกิจถดถอยดังกล่าวยังส่งผลให้ราคาพลังงาน และโภคภัณฑ์ปรับตัวลงด้วย ช่วยลดความร้อนแรงของเงินเฟ้อ
อย่างไรก็ตาม การคาดว่าเศรษฐกิจถดถอยจะเกิดขึ้นนั้นก็อาจพลิกผันได้ เมื่อจีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญคาดไว้ ซึ่งอาจเพิ่มกำลังการบริโภคทั่วโลก อีกทั้งเงินเฟ้อหลายประเทศก็เริ่มปรับตัวลงในแนวโน้มที่ดีขึ้น จึงอาจทำให้ธนาคารกลางแต่ละประเทศปรับการขึ้นดอกเบี้ยให้ชะลอลง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดเศรษฐกิจถดถอย
- เกือบทุกครั้งหลังการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่เเรงของเฟด มักตามมาด้วยเศรษฐกิจถดถอย(เเถบสีเทา) (เครดิต: fred.stlouisfed.org) -
3. จาก New Normal สู่ Back to Normal
ช่วงโควิด-19 ผู้คนออกจากบ้านไม่ได้ และกังวลในโรคระบาด ส่งผลให้หุ้นบริษัทที่ดำเนินการด้านประชุมออนไลน์ บริการสั่งอาหาร ขนส่ง รักษาความสะอาด ถุงมือยาง ฯลฯ ปรับตัวขึ้นแรง
ต่อมาเมื่อโรคระบาดกำลังเปลี่ยนเป็นโรคประจำถิ่น หุ้นบริษัทที่ได้รับประโยชน์จากช่วงโควิดดังกล่าวจึงร่วงแรง และต้องลดพนักงานลงเพื่อลดต้นทุน เพราะการเติบโตด้านรายได้ของบริษัทลดลงแล้ว
ในขณะที่บริษัท"ที่เคยได้รับประโยชน์" ช่วงโควิดซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นบริษัทเทคโนโลยี บริษัทการแพทย์ กำลังลดจำนวนพนักงานลง ก็มีบริษัทกลุ่มหนึ่ง"ที่เคยเสียประโยชน์" จากช่วงโควิดกำลังเบ่งบานแทน นั่นคือ บริษัทด้านท่องเที่ยว บริษัทกลุ่มเปิดเมือง อันเป็นกลุ่มที่คาดกันว่า การเติบโตจะเพิ่มขึ้นแทนจากการผ่อนคลายโควิด และการเปิดประเทศของจีน
ดังนั้น จากปัจจัยหลัก 3 ข้อ ได้แก่ ต้นทุนดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ความกังวลว่าการเติบโตของบริษัทจะลดลง และชีวิตช่วงโควิดกำลังเปลี่ยนกลับมาเป็นชีวิตในปกติ เหล่านี้จึงทำให้หลายบริษัทที่เคยได้รับอานิสงส์ช่วงโควิด และประสบภาวะดอกเบี้ยสูงอย่างในสหรัฐและยุโรปขณะนี้ ตัดสินใจลดต้นทุน ผ่านการปลดพนักงาน และชะลอการลงทุนด้านต่าง ๆ ออกไป
อ้างอิง: searchenginejournal.com statista